สำหรับบ้านไหนที่มีพื้นที่ใช้สอยบนอาคารดาดฟ้า คงมักจะเจอกับปัญหาอันเกี่ยวเนื่องจากฤดูกาล เช่น ความร้อนสะสมในหน้าร้อน และ หน้าฝนที่อาจระบายน้ำไม่ทัน จึงก่อให้เกิดปัญหาน้ำขังและ หลังคาดาดฟ้ารั่ว แต่ไม่ต้องกังวลไปเพราะทุกปัญหามีทางแก้ ซึ่งจะมีวิธีการที่จะจัดการกับเจ้า 3 ปัญหาเหล่านี้อย่างไร ต้องติดตาม
แก้ปัญหาอากาศร้อน
ปัญหาสุดคลาสสิคของประเทศเมืองร้อน โดยเฉพาะหากไม่ได้สร้างหลังคาบนดาดฟ้า ทำให้ดาดฟ้าเปิดรับแสงแดดเต็มที่ เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่สะสมความร้อนและสามารถส่งผ่านไอระอุลงมาได้ ทำให้ห้องด้านล่างดาดฟ้าของเรามีอุณหภูมิสูงต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืนวิธีการแก้ไขปัญหามีดังนี้
- ฉนวนกันความร้อน เราสามารถจัดการแก้ปัญหาความร้อนจากดาดฟ้าได้ในบ้าน โดยใช้ฉนวนกันความร้อนบนฝ้าเพดาน ซึ่งสามารถติดตั้งได้ง่าย โดยฉนวนกันความร้อนที่นำมาใช้งานส่วนใหญ่มักเป็นฉนวนใยแก้วความหนาประมาณ 1 นิ้ว 2 นิ้ว 3 นิ้ว และ 6 นิ้ว เช่น ฉนวนใยแก้วตราช้าง และฉนวนโฟม PU. ทั้งแบบฉีดพ่นใต้หลังคา และแบบแผ่น
- วัสดุปูดาดฟ้า เนื่องจากคอนกรีตเป็นวัสดุที่สะสมความร้อน เราจึงสามารถแก้ปัญหาได้โดยการเลือกใช้วัสดุอื่นๆปูบนพื้นดาดฟ้าได้ เช่น การปูพื้นไม้ อย่างไม้ระแนงปูพื้นสำเร็จรูป เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้หลังคารับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง รวมถึงการใช้กระเบื้องปู หรือโซลาร์สแล็บ ซึ่งเป็นแผ่นคอนกรีตขนาด 30×30 ซม. มีขาสูงประมาณ 3 ซม. ทั้งสี่มุม ช่วยป้องกันไม่ให้หลังคารับความร้อนจากแสงอาทิตย์โดยตรง และช่องว่างอากาศยังเป็นฉนวนป้องกันความร้อนที่จะถ่ายเทจากพื้นไม้หรือแผ่นกระเบื้องลงสู่หลังคาได้เป็นอย่างดี
- สีสะท้อนความร้อน เรายังสามารถใช้สีเซรามิคโค้ตติ้งที่มีผงเซรามิคโบโรซิลิเกตเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเป็นสีสะท้อนรังสีความร้อน และรังสี UV ซึ่งการทาสีสะท้อนความร้อนบนผิวหลังคาจะช่วยให้รังสีความร้อนไม่เข้าเนื้อคอนกรีตและช่วยลดความร้อนที่สะสมในคอนกรีตได้
- หลังคาสองชั้น การทำหลังคาช่วยป้องกันรังสีความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่องตรงมายังดาดฟ้าเป็นเรื่องสำคัญเปรียบเหมือนการกางร่มป้องกันแสงแดด และฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำรั่วจากหลังคาดาดฟ้าได้ ซึ่งสามารถเลือกได้หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน เช่น หลังคาปั้นหยา หลังคาจั่ว เป็นต้น
- สวนดาดฟ้า หากโครงสร้างของหลังคาดาดฟ้าสามารถรองรับน้ำหนักได้เพียงพอสำหรับการทำสวน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความร้อนระอุบนดาดฟ้าแล้ว เรายังได้แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่เป็นธรรมชาติและสร้างความร่มรื่นในบ้านได้ อย่างไรก็ตาม การปลูกต้นไม้บนดาดฟ้าอาจจะทำให้มีความเสี่ยงเกิดปัญหาดาดฟ้ารั่วหรือน้ำขังให้ต้องแก้ไขต่อไป
แก้ปัญหาน้ำขัง
หากช่วงเริ่มต้นก่อสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐาน หรือปรับพื้นไม่ได้ระดับ ซึ่งอาจจะเกิดจากการประกอบแบบ การวางเหล็กเสริม หรือการผสมคอนกรีตเหลวเกินไป จนทำให้เกิดปัญหาน้ำขังตามมา หากเราไม่ต้องการให้น้ำขังส่งผลกระทบบานปลายกลายเป็นปัญหาน้ำรั่วซึม เราควรรีบจัดการกับปัญหาน้ำขังด้วยตัวเองโดยเร็วที่สุด
ในเบื้องต้นเราสามารถแก้ไขพื้นที่น้ำขังบนดาดฟ้าได้แบบไม่ต้องพึ่งพาช่างซ่อม เพียงแค่จัดเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ สิ่ว น้ำยาประสาน ปูนปรับระดับ เกรียง กระสอบ และผ้าพลาสติก หลังจากนั้น รอวันที่ฝนตกและรอเวลาให้ฝนหยุดประมาณ 2 ชั่วโมง เราจึงขึ้นไปสำรวจแอ่งน้ำขังบนดาดฟ้า พร้อมนำปากกาเคมีเขียนทำร่องรอยให้ห่างจากขอบของแอ่งน้ำประมาณ 5 เซนติเมตร เพื่อกำหนดขอบเขตการซ่อมแซม
เมื่อได้พื้นที่สำหรับซ่อมแซมที่ชัดเจนแล้ว เราจึงใช้สิ่วสกัดปูนในกรอบสี่เหลี่ยมที่ได้ทำร่องรอยแอ่งน้ำขังไว้ โดยสกัดให้ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ล้างปูนออกให้สะอาดและเติมน้ำขังในรอยทิ้งไว้ราว 1 ชั่วโมง เพื่อให้แห้งสนิท หรือใช้ผ้าซับน้ำที่เหลือออก ก่อนจะใช้น้ำยาประสานทาลงในบริเวณพื้นปูนที่ได้รับการสกัดออก
หลังจากนั้น เราจึงเริ่มผสมปูนปรับระดับตามอัตราส่วนที่ระบุไว้ข้างถุง ซึ่งปูนดังกล่าวได้รับการออกแบบสำหรับการปรับระดับพื้นโดยเฉพาะ ด้วยสารเคมีพิเศษเสริมประสิทธิภาพในเนื้อปูน โดยเรานำปูนที่ผสมเรียบร้อยแล้วเทลงในรอยที่สกัดไว้ให้เต็มและใช้เกรียงปาดปรับระดับให้เอียงเล็กน้อย เพื่อให้น้ำได้รับการระบายไปยังท่อระบายน้ำ
สุดท้ายให้นำกระสอบชุบน้ำคลุมปิดทับ และผ้าพลาสติกปิดทับอีกครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ 24 ชั่วโมงจึงนำกระสอบชุบน้ำและผ้าพลาสติกออก
แก้ปัญหาหลังคาดาดฟ้ารั่ว
นอกจากปัญหาน้ำขังบนดาดฟ้าในช่วงฤดูฝน หลายบ้านยังต้องเผชิญกับปัญหาหลังคาดาดฟ้ารั่ว ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รอยร้าวบริเวณรอยต่อของโครงสร้าง ระบบกันซึมเสี่อมสภาพ การติดตั้งพื้นคอนกรีตไม่ได้มาตรฐาน หรือแสงแดดทำลายเนื้อคอนกรีต
สำหรับการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น เราควรเริ่มจากการค้นหาต้นตอการรั่วซึมที่เกิดขึ้นเพื่อการแก้ไขให้ตรงจุด เช่น บริเวณรอยต่อโครงสร้าง หรือรอยรั่วซึมกลางอาคาร เนื่องจากมีวิธีการซ่อมแซมแตกต่างกัน
- รอยต่อโครงสร้างอาคาร หากรอยน้ำรั่วบริเวณมุมห้องหรือรอยต่อระหว่างผนังและคานช่วงท้องพื้น เราสามารถซ่อมแซมได้ ด้วยการใช้วัสดุทากันซึมที่เหมาะกับพื้นผิว และติดตั้งระบบกันซึมตามมาตรฐานที่พื้น ซึ่งควรรวมถึงผนังประมาณ 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันการรั่วซึมระหว่างรอยต่อของโครงสร้างอาคาร
- รอยรั่วซึมกลางอาคาร ถ้าพื้นคอนกรีตมีแอ่งน้ำขังแสดงถึงปัญหารอยรั่วซึมกลางอาคารของเราเกิดจากความลาดเอียงไม่เหมาะสม ทำให้เกิดน้ำรั่วซึมลงด้านล่าง ดังนั้น เราควรเริ่มจากการปรับระดับและความลาดเอียงของพื้นคอนกรีตให้สามารถระบายน้ำได้ โดยใช้ปูนทรายปรับระดับผสมน้ำยากันซึมตามวิธีการแก้ปัญหาน้ำขัง
ในกรณีที่พบปัญหาแตกร้าวเสียหาย เราควรแก้ไขซ่อมแซมรอยร้าวก่อน จากนั้นจึงเพิ่มระบบกันซึมให้พื้น เช่น แบบทาเคลือบโพลียูรีเทนและอะคริลิค แบบแผ่นสำเร็จรูป เป็นต้น
บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าวอสังหาฯ คู่มือซื้อขาย และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
งานบ้านที่ควรเลี่ยงขณะตั้งครรภ์ เพราะบางอย่าง อาจส่งผลอันตรายต่อลูกในท้องได้
อย่าประมาท! ชาร์จแบตเครื่องเล่นจีนแดง จนไฟฟ้าลัดวงจรทำไฟไหม้บ้าน