หมอนัดตรวจครรภ์ เดือนละกี่ครั้ง
หมอนัดตรวจครรภ์ เดือนละกี่ครั้ง ไม่ไปตรวจครรภ์ตามนัดจะเป็นอะไรไหม สำหรับคุณแม่ที่สงสัยเกี่ยวกับการตรวจครรภ์ หรือการฝากครรภ์นั้น เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ
คนท้องจำเป็นต้องฝากครรภ์ไหม
การฝากครรภ์ หรือ การนัดฝากครรภ์ คือ การดูแลผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยทำการตรวจ ติดตาม และประเมินการตั้งครรภ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์ด้วย หากคุณหมอตรวจพบอาการผิดปกติ หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการตั้งครรภ์ คุณหมอจะได้หาแนวทางป้องกัน และวิธีการรักษาต่อไป โดยการฝากครรภ์จะทำตั้งแต่การเริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงครบกำหนดคลอดค่ะ ซึ่งอาการผิดปกติถ้าได้รับการตรวจเจอเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะจะช่วยลดอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งระหว่างตั้งครรภ์และช่วงคลอดลูกได้ค่ะ
ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง
- ชั่งน้ำหนัก เพราะการชั่งน้ำหนักนี้จะทำให้คุณหมอทราบว่าการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์เป็นอย่างไร ส่วนมากแล้วน้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ครึ่งกิโลกรัมตั้งแต่อายุครรภ์ 5 เดือนค่ะ
- วัดส่วนสูง การวัดส่วนสูงจะทราบได้เบื้องต้นว่าคุณแม่คลอดลูกง่ายหรือไม่ หากคุณแม่มีส่วนสูงที่น้อยกว่า 145 ซม. ก้อาจจะทำให้คลอดลูกยากหน่อย เนื่องจากอุ้งเชิงกรานที่แคบเกินไปค่ะ
- ตรวจปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะนี้จะเอาไว้สำหรับดูค่าน้ำตาล และไข่ขาวในปัสสาวะค่ะ
- ตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและเบาหวาน ซึ่งทำโดยการตรวจจากเลือดค่ะ หากเป็นโรคดังกล่าว คุณแม่จะได้ให้แนวทางในการรักษาต่อไป
- ตรวจคัดกรองความผิดปกติของหัวนม และลานหัวนม หากเกิดความผิดปกติคุณหมอจะได้แนะนำวิธีการแก้ไขให้ค่ะ
- ตรวจหาความผิดปกติอื่นๆ ได้แก่
- ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง
- หมู่เลือด
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น เอชไอวี (เอดส์) ไวรัสตับอีกเสบบี (หากคุณแม่เป็นไวรัสตับอักเสบบี ทารกต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพิิ่ม 1 เข็ม ภายใน 24 ชม. แรกที่คลอด) เชื้อซิฟิลิส (เชื้อนี้อาจทำให้ทารกพิการหรือตายได้)
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ได้แก่ ป้องกันคอตีบ – บาดทะยัก จำนวน 3 เข็ม ซึ่งควรได้รับการฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน และควรได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่สอง 6 เดือน
- ซักประวัติ เพื่อทราบโรคต่างๆ ก่อนตั้งครรภ์ รวมถึงยากับประวัติการผ่าตัดทางหน้าท้องอื่นๆ ประวัติครอบครัวว่ามีโรคทางกรรมพันธุ์หรือไม่ และประวัติความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ การแท้งบุตร เป็นต้น
- ตรวจร่างกายอื่นๆ เช่น มีอาการซีดเหลืองหรือไม่ คอโตหรือเปล่า หัวใจและปอดมีการทำงานอย่างไร เพื่อประเมินการเจริญเติบโตของทารก
- ให้ยาบำรุงครรภ์
- บันทึกสมุดสุขภาพแม่และเด็ก
ความถี่ที่หมอนัดตรวจครรภ์
การนัดฝากครรภ์ เมื่อผู้หญิงรู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ควรเริ่มมาฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด หรือทันที่ที่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์ โดยเกณฑ์มาตรฐานการฝากครรภ์ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข คือ
- ครั้งที่ 1 ก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์
- ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครรภ์ 18 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครรภ์ 26 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 4 เมื่ออายุครรภ์ 32 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
- ครั้งที่ 5 เมื่ออายุครรภ์ 38 สัปดาห์ (บวก/ลบได้ 2 สัปดาห์)
นอกจากนี้ การนัดตรวจครรภ์ตามคลินิคหรือโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ อาจมีความถี่ในการนัดตรวจครรภ์เพิ่มขึ้น โดยใช้หลักเกณฑ์ ดังนี้
- อายุไม่เกิน 28 สัปดาห์ ให้นัดทุก 4 สัปดาห์
- อายุระหว่าง 28-36 สัปดาห์ ให้นัดทุก 2 สัปดาห์
- อายุตั้งครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ให้นัดทุกสัปดาห์
อาการแบบไหนที่คนท้องต้องรีบมาพบแพทย์ด่วน
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- มีอาการบวมที่ใบหน้าและนิ้วมือ
- มีอาการปวดศีรษะรุนแรง
- มีอาการตาพร่ามัว
- มีอาการปวดท้องจุกแน่นยอดอก
- มีอาการอาเจียนรุนแรง
- มีอาการเป็นไข้ หนาวสั่น
- มีอาการปัสสาวะแสบขัด
- มีอาการน้ำออกจากช่องคลอด
- ทารกดิ้นลดลง ทั้งความถี่และความแรง
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ตกขาวผิดปกติ
- มีอาการเจ็บครรภ์ทั้งที่ยังไม่ครบกำหนด หรือมีอาการท้องแข็งบ่อย
ที่มา: คู่มือการปฏิบัติตัวในขณะตั้งครรภ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
แม่ท้องอายุน้อย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เสี่ยงภาวะซีดในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายไหม
เมนูอาหารคนท้องเป็นเบาหวาน ตัวอย่างตารางอาหาร สำหรับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ลดน้ําตาลในคนท้อง
แสบร้อนหน้าอกตอนท้อง อาการแบบนี้เกิดจากอะไร คนท้องควรรับมืออย่างไร
3 ท่าทำลูกสาว ท่าเซ็กส์เด็ด คลอดปุ๊บ หมอพูดปั๊บ ยินดีด้วยคุณได้ลูกสาว