สิทธิ ลดหย่อนภาษีคู่สมรส คู่แต่งงาน สูงสุดถึง 120,000 บาท!
อยากมีเงินเพิ่ม งั้นแต่งงานเถอะค่ะ! ฮ่าๆๆ สาวๆ หลายคนที่กำลังคบหาดูใจกับหนุ่ม หรือแต่งงานจดทะเบียนกันไปแล้ว รู้ไหมว่า แต่งงานลดหย่อนภาษีได้นะคะ มาดูกันว่า ลดหย่อนภาษีคู่สมรส มี 5 สิทธิประโยชน์ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
1. ลดหย่อนภาษี คู่สมรส
สำหรับผู้หญิงที่แต่งงานเป็นแม่บ้านอย่างเดียว ไม่มีรายได้เลย คุณสามีสามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีภรรยา ได้ถึง 60,000 บาท รวมกับค่า ลดหย่อนภาษีของสามี อีก 60,000 บาท เท่ากับ ได้ค่าลดหย่อนภาษี รวมกัน 120,000 บาท เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ชายเป็นฝ่ายไม่มีรายได้ ภรรยาก็สามารถใช้สิทธิหัก ลดหย่อนภาษีสามี ได้ 60,000 บาท
ที่สำคัญที่สุด ลดหย่อนภาษีสามีภรรยา จะใช้สิทธินี้ได้ก็ต่อเมื่อ จดทะเบียนสมรส เท่านั้น ถ้าจัดพิธีแต่งงานเฉยๆ โดย ไม่ได้จดทะเบียน ใช้สิทธิลดหย่อนนี้ไม่ได้ เพราะถ้าแต่งงานแต่ไม่จดทะเบียนสมรส เวลายื่นแบบแสดงรายการจะแจ้งสถานะ โสด แต่ถ้าจดทะเบียนสมรสแล้ว แต่คู่สมรสไม่มีรายได้ จะแจ้งกับเจ้าหน้าที่เป็นว่า คู่สมรสไม่มีเงินได้ สิทธินี้ใช้ ลดหย่อนภาษี คู่สมรส ได้เพียง 1 คนเท่านั้น จดทะเบียนซ้อน ทะเบียนที่ 2 เป็นต้นไปหมดสิทธิจ้า
2. ลดหย่อนพ่อแม่คู่สมรส
พ่อแม่แฟน ก็เหมือนพ่อแม่เรา เรารักท่าน ท่านก็ตอบแทนเราด้วย สิทธิลดหย่อนภาษีคู่สมรส นี่แหละ! ถ้าพ่อแม่ของคู่สามี ภรรยา อายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษี ได้ คนละ 30,000 บาท รวมพ่อแม่ตัวเอง อายุ 60 ปี ขึ้นไป อีกคนละ 30,000 บาท รวม สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ ทั้งสองฝ่าย 4 คน รวม 120,000 บาท แต่ๆๆ การลดหย่อนมูลค่านี้จะเป็นไปได้ ถ้าเข้าเงื่อนไขทั้งหมดดังต่อไปนี้ด้วยค่ะ
- คู่สมรสไม่มีรายได้
- คู่สมรสเป็น บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ ลูกแท้ๆ ของพ่อแม่ ลูกบุญธรรมจะใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้
- พ่อแม่คู่สมรสอายุ 60 ปีขึ้นไป และอยู่ในความดูแลของเรา โดยไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันก็ได้
- พ่อแม่คู่สมรส มีรายได้ทั้งปี ไม่เกิน 30,000 บาท
- พ่อแม่ 1 คน ลูกใช้สิทธิได้ 1 สิทธิ เท่านั้น หากมีการใช้สิทธิซ้ำซ้อนกัน เช่น พี่น้องของคู่สมรส นำชื่อพ่อแม่ไปใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ แล้วเราไปใช้สิทธิซ้ำอีก จะไม่มีใครได้สิทธิลดหย่อนเลย ระวังให้ดีเลยนะคะ ไปตกลงกัให้เรียบร้อยว่า ใครจะเป็นคนใช้สิทธิ
3. ลดหย่อนค่าประกันสุขภาพให้พ่อแม่คู่สมรส
ซื้อประกันสุขภาพให้พ่อแม่ของเรา ได้ลดหย่อน ให้พ่อแม่ของคู่สมรส ก็ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเช่นกัน โดยหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่รวมทั้งพ่อแม่เราและพ่อแม่แฟนแล้ว ไม่เกิน 15,000 บาท
เงื่อนไขในการใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรส จะคล้ายๆ กับสิทธิลดหย่อนข้อ 2 เพียงแต่ไม่กำหนดอายุพ่อแม่ ตามเงื่อนไขต่อไปนี้เลยค่ะ
- คู่สมรสไม่มีรายได้
- คู่สมรสเป็น บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือ ลูกแท้ๆ ของพ่อแม่ ลูกบุญธรรมจะใช้สิทธิลดหย่อนไม่ได้
- พ่อแม่คู่สมรส มีรายได้ทั้งปี ไม่เกิน 30,000 บาท
กรณีพ่อแม่มีลูกหลายคน จำนวนเงินที่ลดหย่อนภาษี จะเฉลี่ยกันไปตามจำนวนลูกที่ใช้สิทธิ และรวมแล้วไม่เกิน 15,000 บาท ทุกคนรวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ไม่ใช่คนละ 30,000 บาท นะคะ
4. ลดหย่อนภาษีบุตร
สำหรับคนแต่งงานแล้วมีลูก จะมีสิทธิ หักลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท โดยลูกจะต้องเป็น บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือของคู่สมรสที่จดทะเบียนของเรา หรือเป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ มีเงื่อนไข คือ
- บุตรอายุไม่ถึง 20 ปี หรือ ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส
- บุตรอายุ 20-25 ปี แต่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย หรือ ระดับอุดมศึกษา
- ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ
- มีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000 บาท และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
ดังนั้น ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน หรือ ไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร จะไม่มีสิทธิหักลดหย่อนบุตร เพราะไม่ถือว่าเป็น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย คู่สมรส จะต้องไปจดทะเบียนรับรองบุตร หรือ จดทะเบียนสมรสกันในภายหลังก็ได้
ในกรณีเป็น บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในเงื่อนไขที่กำหนดสามารถใช้สิทธิกี่คนก็ได้ แต่ถ้าเป็น บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ ใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน หรือรวมกับจำนวนลูกแท้ๆ ที่แล้วไม่เกิน 3 คน ดังนั้น ถ้ามีลูกแท้ๆ อยู่ 3 คนแล้ว จะใช้สิทธิบุตรบุญธรรมไม่ได้อีก
นอกจากนี้ ถ้าคู่สมรสมีเงินได้ทั้งคู่ แต่แยกกันยื่นภาษี จะได้สิทธิลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 บาท เช่น มีลูก 1 คน สามีจะได้สิทธิลดหย่อน 30,000 บาท ภรรยาก็จะได้อีก 30,000 บาท จากเมื่อก่อนจะต้องแบ่งกันคนละ 15,000 บาท
5. ปี 2561 เป็นต้นไป มีลูกคนที่2 ได้ลดหย่อนภาษีเพิ่ม
วันที่ 16 ม.ค. 2561 รัฐบาลไฟเขียว มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มอีกคนละ 30,000 บาท สำหรับลูกคนที่ 2 เป็นต้นไป แต่ต้องเป็นลูกที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปเท่านั้น โดยนำสิทธินี้ ไปยื่นภาษีในปี 2562
สรุปว่า ครอบครัวที่มีลูกคนที่ 1 แล้ว ถ้าปีนี้มีลูกเพิ่มคนที่ 2 สิทธิลดหย่อนลูกคนที่ 2 จะเพิ่มเป็น 60,000 บาท (ลูกคนที่ 1 ได้ลดหย่อน 30,000 บาท และลูกคนที่ 2 ได้ลดหย่อน 60,000 บาท)
นอกจากนี้ รัฐยังอนุมัติให้ผู้มีเงินได้หรือ คู่สมรส นำ ค่าฝากครรภ์ หรือ ค่าคลอดบุตร ไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป
แต่มีเงื่อนไขว่า สิทธิให้เฉพาะคนที่ไม่ได้เบิกค่าใช้จ่ายฝากครรภ์ และคลอดบุตรจากแหล่งอื่นๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ นะคะ จะว่าไป นี่คือ ประโยชน์ของการจดทะเบียนสมรส และการมีคู่ มีลูกหลาน ขยายครอบครัว ไม่ได้มีแต่ค่าใช้จ่ายแพงๆ อย่างเดียว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
10 งานที่สามารถทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย สำหรับแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเข้าเมื่อไหร่ ลงทะเบียนที่ไหน ถ้าเงินไม่เข้าทำอย่างไร
เปิดบัญชีให้ลูก ธนาคารไหนดี ฝากเงินให้ลูก ธนาคารไหนดอกเบี้ยดีที่สุด