สาเหตุของอาการท้องแข็งแบบไหนอันตรายถึงมือหมอ

แม่ท้องมักเกิดอาการท้องแข็งหรือเจ็บท้องซึ่งจะพบได้บ่อยในช่วงไตรมาสสุดท้าย (อายุครรภ์ประมาณ 28 สัปดาห์ขึ้นไป) จนสร้างความวิตกกังวลให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ไม่น้อย ซึ่งต้องคอยสังเกตสาเหตุของการท้องแข็งให้ดีแบบไหนที่ไม่น่าเป็นห่วงและท้องแข็งแบบไหนควรไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด!!

ลักษณะอาการท้องแข็งเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก เมื่อจับบริเวณหน้าท้องดูจะรู้สึกได้ว่าเป็นก้อน ๆ หรือรู้สึกตึงมากที่หน้าท้องเป็นครั้งคราวในช่วงเวลาสั้น ๆ เป็นวินาที และมีช่วงพักเป็นนาทีเมื่อมดลูกคลายตัว  บางรายอาจจะมีอาการท้องแข็งอยู่ประมาณทุก 10 นาที/ครั้ง และเป็นสม่ำเสมออยู่ 4-5 ครั้งได้ อาจเป็นสาเหตุทำให้เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดได้ อาการท้องแข็งเป็นแบบไหนสังเกตได้

สาเหตุของอาการท้องแข็ง

#ท้องแข็งเพราะลูกในท้อง

ท้องแข็งในความหมายคุณหมอ คืออาการที่มดลูกบีบตัวรัดแข็งขึ้นก่อนเวลาอันควร ที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่ท้องแข็งที่คุณแม่รู้สึกนั้นเป็นเพราะลูกที่อยู่ในมดลูกภายในครรภ์คุณแม่มีอวัยวะที่เป็นส่วนนูนแข็งหลายอย่าง เช่น แขน ขา เข่า เพราะฉะนั้นการที่คุณแม่รู้สึกลูบ ๆ คลำ ๆ เจอว่าตรงนี้ท้องแข็ง หรือมีการเลื่อนตำแหน่งที่แข็งไปมา และแข็งแค่บางตำแหน่งส่วนบริเวณอื่นนิ่มปกติ  ท้องแข็งแบบนี้ไม่ใช่ปัญหา

#ท้องแข็งเพราะกินอิ่ม

แม่ท้องบางรายมีอาการท้องแข็งหลังรับประทานอาหาร พอนั่งซักพักก็จะหายไปเอง อาการนี้จะไม่พบในช่วงตอนท้องอ่อน แต่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ที่มาก เพราะมดลูกมีขนาดใหญ่จนเต็มท้อง ซึ่งไปเบียดกระเพาะอาหาร ลำไส้ ฯลฯ ภายในครรภ์ของคุณแม่ขึ้นไปจุกอยู่ใต้ลิ้นปี่ พอทานอาหารเข้าไปมากหน่อยก็ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง แข็งตึงทั่วทั้งท้องไปหมด ซึ่งคุณแม่ที่รูปร่างเล็กๆ สั้นๆ จะมีอาการนี้ง่ายหน่อย และโดยมากจะเป็นความรู้สึกแน่นท้องมากกว่า ถ้าไปพบคุณหมอเมื่อจับมดลูกดูก็จะพบว่า ท้องไม่ค่อยแข็ง ไม่ได้เกิดจากมดลูกมีการบีบตัว หรือเรียกว่าอาการท้องตึงมากกว่า คำแนะนำที่ช่วยลดอาการนี้ คือ ในช่วงตั้งครรภ์ควรทานอาหารแบ่งเป็นมื้อย่อย ๆ น้อย ๆ แล้วนั่งรอให้เรอออกมา พยายามอย่าให้ท้องผูก ควรได้ถ่ายเป็นประจำทุกวัน

ท้องแข็งแบบนี้ควรถึงมือหมอ >>>

#ท้องแข็งเพราะมดลูกหดบีบตัว

อาการท้องแข็งซึ่งเกิดจากมดลูกบีบตัวก่อนกำหนด ปกติจะไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์อ่อน ๆ แต่หากขึ้นก็แสดงว่ามีอะไรผิดปกติ และเป็นสาเหตุทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ ซึ่งอาการนี้โดยส่วนใหญ่จะพบบ่อยที่สุดช่วงตั้งครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ สังเกตุว่าเป็นระยะเดียวกับลูกในท้องที่ดิ้นมากสุดตอน 32 สัปดาห์ด้วย การที่ลูกดิ้นมาก ๆ อาจมีส่วนไปกระตุ้นทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้นทำให้เกิดอาการท้องแข็งได้เหมือนกัน เมื่อผ่านช่วง 32-24 สัปดาห์นี้ไปได้ก็จะมีอาการท้องแข็งน้อยลง แต่ถ้าคุณแม่มีอาการท้องแข็งบ่อยแล้วไม่ดีขึ้นและยิ่งแข็งถี่ขึ้น ไม่ได้แข็งเป็นบางจุด และบางทีรู้สึกแข็งมาก แข็งน้อย หรือแข็งจนรู้สึกแน่นหายใจไม่ออกท้องแข็งแบบนี้แหละที่เรียกว่าอันตรายและควรจะถึงมือหมอให้เร็วที่สุด เพราะหากท้องแข็งแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษามดลูกจะบีบตัวจนปากมดลูกเปิดตามมาด้วยการเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดได้

#ท้องแข็งจากหลายสาเหตุ

จริงๆ แล้วสาเหตุของท้องแข็งในขณะตั้งครรภ์มีมากมายนอกจากการบีบรัดตัวของมดลูกหรือสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น

  • เกิดจากแม่ไม่แข็งแรง สุขภาพไม่ดี มีโรคเบาหวานหรือความดันสูง
  • เกิดจากมดลูกไม่แข็งแรง หรือมดลูกไม่ปกติ
  • การขยายของครรภ์ในช่วงไตรมาส 3 ที่ขยายใหญ่ขึ้นมากตามขนาดตัวของทารกในครรภ์ ซึ่งมดลูกที่ใหญ่ขึ้นจะกดเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ แม่บางรายกลั้นปัสสาวะก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการท้องแข็งขึ้นมาได้
  • เกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารหรืออาหารไม่ย่อย
  • การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างตั้งครรภ์ หากร่วมรักไม่ถูกท่าถูกจังหวะ จะส่งผลให้มดลูกเกิดการบีบตัวขึ้นมาทำให้มีอาการท้องแข็งได้

วิธีช่วยให้หายท้องแข็ง

มดลูกในท้องเป็นก้อนกล้ามเนื้อที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรงมาก อาจจะมีการบีบตัวอย่างเบาๆ ค่อยๆ บีบช้าๆ แข็งตัวอยู่นานพอสมควร แล้วก็คลายตัวลงช้าๆ เป็นอย่างนี้วันละหลายครั้ง แต่โดยมากไม่เกินวันละ 6-10 ครั้ง

ถ้าคุณแม่ที่เกิดอาการท้องแข็งลักษณะนี้ก็ถือว่ายังไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง ซึ่งวิธีช่วยให้หายท้องแข็ง เช่น

  • แม่ท้องควรพักผ่อนให้มาก ๆ
  • หลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้แรงเยอะจนเกินไป เช่น การยกของหนัก ทำตัวขี้เกียจให้มากที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการเดินมาก ๆ เพราะยิ่งมีกิจกรรมมากท้องก็จะยิ่งแข็งมาก

หากรู้สึกว่าท้องแข็งมาก แข็งถี่มากกว่าปกติ หรือเดี๋ยวแข็งเดี๋ยวหายติด ๆ กันเป็นชุด ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพื่อสาเหตุที่แน่ชัดดีกว่าค่ะ

ขอบคุณที่มา : www.diarylove.com

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

อาการท้องแข็ง เรื่องน่ากังวลขณะตั้งครรภ์
4 พฤติกรรมควรหยุด!!! เมื่อรู้สึกท้องแข็ง

บทความโดย

Napatsakorn .R