สารตะกั่ว
สารตะกั่ว อันตรายกับลูก สารตะกั่วใกล้ตัวกว่าที่คิด ลูกเสี่ยงอันตรายจากการสัมผัส ส่งผลสติปัญญาบกพร่อง ถึงขั้นเสียชีวิต
อันตรายจากสารตะกั่ว
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดตัวโครงการสาธารณสุขห่วงใย ร่วมพัฒนากายใจวัยเด็ก “เด็กฉลาด ปลอดภัย ห่างไกลสารตะกั่ว” เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับครอบครัวและเป็นของขวัญวันเด็กให้กับเด็กไทยทั่วประเทศปลอดภัยห่างไกลจากตะกั่ว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดตัวการรณรงค์และประชาสัมพันธ์โครงการสาธารณสุขห่วงใย ร่วมพัฒนากายใจวัยเด็ก “เด็กฉลาด ปลอดภัย ห่างไกลสารตะกั่ว” เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับครอบครัวและเป็นของขวัญ วันเด็กให้กับเด็กไทยทั่วประเทศปลอดภัยห่างไกลจากตะกั่ว ซึ่งโครงการนี้จะมีการดำเนินการทั่วประเทศ โดยในวันนี้ถือเป็นการเปิดตัวครั้งแรกที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร หนึ่งในพื้นที่ที่ตรวจพบว่าเด็กมีตะกั่วในเลือดสูง
บทความที่น่าสนใจ : โรคเส้นเลือดในสมองแตกในเด็ก อันตรายถึงชีวิต วิธีสังเกตอาการลูกเส้นเลือดในสมองแตก
โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว
องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า “โรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว” เป็น 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดอันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุให้เด็กมีความบกพร่องทางสติปัญญาสูงถึงปีละกว่า 600,000 คน และระบุว่าไม่มีปริมาณการได้รับสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
สารตะกั่วทำให้พัฒนาการทางสมองช้า
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากเด็กได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กปฐมวัย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อร่างกายและระดับสติปัญญา โดยเฉพาะสมอง ทำให้พัฒนาการทางสมองช้า ถ้าได้รับในปริมาณสูงจะมีผลต่อสมอง ตับ และไต ทำให้มีอาการซีด ชัก และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ เด็กมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากร่างกายเด็กสามารถดูดซึมสารตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า ปัจจัยที่สำคัญคือ เด็กมีพฤติกรรมซึ่งเพิ่มโอกาสการรับตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย เช่น การคลาน การเล่นตามพื้นดินที่ปนเปื้อนด้วยตะกั่ว เช่น สีที่ลอกหลุดและปะปนอยู่กับฝุ่นภายในบ้านและโรงเรียน ของเล่นที่มีการทาสีและหลุดลอกของสี เป็นต้น หรือการได้รับจากเสื้อผ้าเปื้อนฝุ่นตะกั่วของผู้ปกครอง และการใช้ตะกั่วในบริเวณบ้าน
วิธีลดความเสี่ยงจากสารตะกั่ว
สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารตะกั่วในเด็ก
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผสมสารตะกั่ว เช่น สีน้ำทาภายในอาคาร ของเล่นเด็ก ที่ได้มาตรฐาน มอก.
- ควรทำความสะอาดอุปกรณ์เครื่องใช้ หรือของเล่นเด็กด้วยผ้าชุบน้ำเป็นประจำ หากสีถลอก หลุดออกมาควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน
- ควรให้เด็กล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังจากคลานตามพื้น วิ่งเล่นนอกสนาม
- ควรส่งเสริมให้เด็กรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กและแคลเซียมสูง ไขมันต่ำ เช่น นมจืด วันละ 2 กล่อง ไข่วันละ 1 ฟอง
- หลีกเลี่ยงไม่ให้เด็กไปบริเวณที่มีสารตะกั่ว เช่น บ่อเผาขยะ ร้านคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์
- หากสังเกตพบอาการผิดปกติของเด็ก เช่น ซีดมาก ชัก ปวดท้อง พัฒนาการช้า ควรปรึกษาแพทย์ทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ไม่ชอบคนจับลูก ไม่อยากให้คนอื่นอุ้มลูก ไม่ใช่หวงลูก แต่ทารกติดเชื้อจากการสัมผัสได้ง่าย
วิธีเลี้ยงลูกให้แข็งแรง อาการป่วยเด็กเล็ก เด็กโต การดูแลลูกให้แข็งแรงฉลาดสมวัย ไอคิวดี อารมณ์แจ่มใส
ลูกเป็นลมพิษ ผื่นขึ้นตามตัวเป็นๆ หายๆ พ่อแม่ควรทำอย่างไร กี่วันถึงจะหาย
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนันสนุนสร้างเสริมสุขภาพ