สงกรานต์ไปไหนดี? สงกรานต์ที่กำลังใกล้เข้ามาถึงนี้ไม่ได้หมายถึงเทศกาลสาดน้ำสนุก ๆ เท่านั้น แต่ยังมีแง่มุมทางวัฒนธรรมที่มีความเหมือนและแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค เราไปดูกันดีกว่าว่าสงกรานต์ในแต่ละที่มีเอกลักษณ์เด่นอะไรบ้าง สงกรานต์ภาคเหนือ เป็นอย่างไร
1) สงกรานต์ภาคเหนือ สงกรานต์ล้านนา
“ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” หรือสงกรานต์ของภาคเหนือมีหลายวัน วันแรกคือ “วันสงกรานต์ล่อง” ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านเรือนปัดเป่าสิ่งไม่ดีและสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ วันที่สองคือ “วันเนา” ผู้คนจะซื้อข้าวของเตรียมทำบุญและขนทรายเข้าวัดทำเป็นเจดีย์ ในวันนี้ห้ามพูดจาไม่ดี วันที่สามคือ “วันพญาวัน” ซึ่งถือเป็นวันเถลิงศก จะมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนในตอนเช้า รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่และจัดดำหัวพระเจ้าเพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธรูปประจำเมือง สองวันถัดมาคือ “วันปากปี” ที่ผู้คนจะไปรดน้ำเจ้าอาวาสและผู้ใหญ่และ “วันปากเดือน” คือวันที่ผู้คนจะปัดตัวปัดเคราะห์ออกไป
การจัดงานเฉลิมฉลองสงกรานต์มีอยู่โดยทั่วไปในจังหวัดภาคเหนือ ทั้ง “ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง” ที่เชียงใหม่ “ปี๋ใหม่เมืองหละปูน” ของลำพูน สงกรานต์ “ถนนข้าวแคบ” ที่ตาก เป็นต้น
2) สงกรานต์อีสาน
ในการทำบุญเดือนห้าหรือสงกรานต์ของภาคอีสานตามประเพณีแล้วผู้คนจะเตรียมของกินของใช้สำหรับช่วงสงกรานต์ เพราะถือว่าเป็นช่วงห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามทำงาน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้านเรือน ของใช้ต่าง ๆ ตามธรรมเนียมแล้วมีการแบ่งสงกรานต์ไว้สามวัน คือ “วันสังขารล่วง” จะมีการยกพระพุทธรูปมาเพื่อเตรียมสรงน้ำ วันถัดมาคือ “วันเนา” หรือ วันที่อยู่ระหว่างปีเก่าและปีใหม่ สุดท้ายคือ “วันสังขารขึ้น” หรือวันปีใหม่ มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำ (รดน้ำขอพร) ผู้ใหญ่ สรงน้ำพระ ก่อทรายเป็นรูปเจดีย์ มีทำพิธีทางศาสนาและงานรื่นเริง
การจัดงานเฉลิมฉลองสงกรานต์ในภาคอีสานมีอยู่หลายที่ด้วยกัน เช่น “ถนนข้าวเหนียว” ที่ขอนแก่นและ “ถนนข้าวหอมมะลิ” ที่ร้อยเอ็ด ที่น่าสนใจคือ “สงกรานต์ผูกสายสิญจน์เชื่อมโยงพระธาตุ” ระหว่างไทยและลาวที่นครพนมซึ่งจะมีจัดสรงน้ำพระธาตุประจำวันเกิดทั้ง 7 แห่ง
3) สงกรานต์ภาคกลาง
สงกรานต์ภาคกลางนับวันที่ 13 เป็น “วันมหาสงกรานต์” วันที่ 14 เป็น “วันกลาง” หรือ “วันเนา” ส่วนวันที่ 15 ก็เป็น “วันเถลิงศก” ในสามวันนี้ผู้คนจะทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และทำความสะอาดบ้านเรือนต้อนรับปีใหม่
การจัดงานสงกรานต์มีอยู่ทั่วไปในภาคกลาง เช่น ในกรุงเทพและอยุธยา ที่น่าสนใจคือ “งานสงกรานต์อุ้มสาวลงน้ำ” ที่เกาะสีชังและเกาะขามใหญ่ ชลบุรี “การอุ้มสาวลงน้ำ” มีที่มาจากการขาดแคลนน้ำจืดบนเกาะ ชาวบ้านจึงหันมาอุ้มสาวลงน้ำแทน โดยจะมีการจัดทุกวันที่ 18 เมษายนของทุกปี นอกจากนี้ “สงกรานต์พระประแดง” ที่สมุทรปราการก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะเป็นสงกรานต์ตามวิถีชาวมอญ มีทั้งการกวนกะละแม การทำข้าวแช่ การเล่นสะบ้า และการแห่ปลา
4) สงกรานต์ภาคใต้
ผู้คนทางภาคใต้เชื่อกันว่าสงกรานต์เป็นช่วงเปลี่ยนเทวดารักษาชะตาบ้านเมือง วันที่ 13 นับเป็น “วันส่งเจ้าเมืองเก่า” จะมีการลอยเคราะห์ลงแม่น้ำ วันที่ 14 เป็น “วันว่าง” ซึ่งยังไม่มีเทวดาองค์ใหม่มาคุ้มครองเมือง ดังนั้นผู้คนจึงทำบุญ สรงน้ำ รดน้ำผู้ใหญ่ ส่วนวันที่ 15 เป็น “วันรับเจ้าเมืองใหม่” ชาวเมืองจะสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ต้อนรับเทวดาองค์ใหม่จากสวรรค์
มีการจัดงานสงกรานต์ในภาคใต้ทั้งที่สงขลา สุราษฏร์ธานี บนเกาะสมุย ภูเก็ต เป็นต้น ที่น่าสนใจคือ “งานสงกรานต์แห่นางดาน” ที่นครศรีธรรมราช การแห่นางดาน คือ ขบวนแห่ของแผ่นไม้กระดานแกะสลักหรือวาดเป็นรูปเทพสามแผ่น แผ่นแรกคือพระอาทิตย์และพระจันทร์ แผ่นที่สองคือพระแม่ธรณี แผ่นสุดท้ายคือพระแม่คงคา เพื่อใช้รอรับพระอิศวรที่จะเสด็จลงมาบนโลกมนุษย์ที่เสาชิงช้า ประเพณีดังกล่าวจัดขึ้นทุกวันที่ 14 เมษายนของทุกปี
ใครสนใจประเพณีสงกรานต์แบบไหนก็ลองศึกษาเพิ่มเติมดูได้แล้วไปสัมผัสด้วยตัวเองกันในสงกรานต์ปีนี้นะครับ