การที่ลูกติดขวดนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพเด็กเป็นอย่างมาก ทั้งสุขภาพช่องปาก การสื่อสาร รวมทั้งพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือ คุณพ่อคุณแม่หลายคนมักให้ลูกดูดขวดนมจนเผลอหลับไป แต่รู้หรือไม่ว่าการปล่อยให้ลูกติดขวดนมนั้น อาจทำให้ลูกฟันผุได้ วันนี้เราจะพามาดู วิธีให้ลูกเลิกขวด เพื่อสุขภาพของช่องปากที่ดีของลูกน้อยค่ะ
ลูกติดขวดจนฟันผุเกือบทั้งปาก
อุทาหรณ์! ลูก 4 ขวบ ถอนฟันผุเกือบทั้งปาก โดยทันตแพทย์ใน จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความเตือนใจพ่อแม่ว่า เช้านี้กับคนไข้ 4 ขวบ งานถอนฟัน 18 ซี่จาก 20 ซี่ เหลือฟันให้น้องใช้งานต่อได้แค่กรามซี่บนข้างละซี่…ทำไปก็แอบคิดไปว่าน้องเค้าจะทานอาหารยังไง รักลูก ต้องแปรงฟันให้ลูกนะครับ ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ในการเลิกนมขวดให้น้องนะครับ
เราจะไม่วิจารณ์การเลี้ยงดูเด็กในแต่ละครอบครัว เพราะเราเชื่อว่าพื้นฐานของการดูแลลูก ๆ ของทุกครอบครัวย่อมเกิดจากความรัก ความเอ็นดู ต่างบ้านต่างพ่อแม่ ต่างความพร้อม ย่อมต่างบริบท ไม่มีใครถูกไม่มีใครผิดครับ
ลูกติดขวด ติดนมมื้อดึก ระวังฟันผุ!
วิธีให้ลูกเลิกขวดนั้นสำคัญมาก จากภาพและข้อความของทันตแพทย์ท่านนี้ จะเห็นได้ว่า การแปรงฟันก็เป็นสิ่งสำคัญมากพอ ๆ กับการให้ลูกเลิกขวดนม โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มโตแล้วแต่ยังติดขวดนม เด็กบางคนติดขวด เพราะเคยชินกับการกินนมมื้อดึก กอดขวดจนหลับไป กลายเป็นอันตรายในช่องปาก ที่อาจลุกลามมากกว่าอาการฟันผุได้ เด็กบางคนกินแค่นม โดยไม่สนใจอาหารเสริมอื่น ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของลูกน้อยในวัยที่ต้องเสริมอาหาร หรือทารกหลัง 6 เดือนขึ้นไป ทำให้ร่างกายลูกขาดสารอาหาร และขาดธาตุเหล็กได้ เพราะแคลเซียมยับยั้งการดูดซึมเหล็ก
ทำไมลูกติดขวดถึงฟันผุ
ปัญหาช่องปากของเด็กเล็ก ๆ มักเกิดจากความไม่สะอาด จนทำให้ฟันผุได้ ซึ่งในน้ำนมที่ตกค้างในปากของลูก หากปล่อยเวลานาน ๆ จะถูกแบคทีเรียไปย่อยทำให้เกิดสารที่เป็นกรด จนทำให้ฟันน้อย ๆ ของเจ้าหนูผุได้ โดยเฉพาะลูกที่ติดขวด ติดนมมื้อดึก ดูดนมไปเรื่อย ๆ จนหลับ การปล่อยให้ลูกดูดนมจนหลับไป นอกจากจะทำให้ลูกฟันผุแล้ว ลูกยังเลิกขวดได้ยากด้วยนะแม่ ดังนั้นช่วงวัยของทารกที่ควรเลิกติดขวด คือ ทารกอายุ 12-18 เดือน เพราะช่วงอายุนี้จะฝึกลูกให้เลิกติดขวดนมได้ง่าย อยู่ในช่วงวัยที่ว่านอนสอนง่าย เนื่องจากลูกในวัย 1 ขวบขึ้นไป จะรู้เรื่องมากขึ้น รู้จักพูดจา ต่อรอง และมีความเป็นตัวของตัวเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปัญหาเรื่อง ฟันผุ ปวดฟัน ส่งผลเสียต่อการพัฒนาการของลูกหรือไม่
วิธีเลิกขวดนมแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักดิบ
- การฝึกลูกเลิกขวดนม คนที่ต้องพยายามมากที่สุดคือ พ่อแม่ ห้ามใจอ่อนเด็ดขาด ต้องตั้งใจทำจริง ๆ ใจแข็ง และต้องตกลงกับคนในครอบครัว ให้มีความคิดไปในทางเดียวกัน เริ่มโดยให้ลูกดื่มนมเป็นมื้อ ๆ แล้วค่อย ๆ ลดปริมาณลง
- วิธีเลิกขวดนมทำได้ตั้งแต่ตอนกลางวัน โดยฝึกลูกให้ดื่มนมจากแก้วแทนการดื่มขวด หากไปเที่ยวนอกบ้าน หรือพาลูกไปที่อื่น ๆ ไม่ต้องเอาขวดนมไปด้วย หากลูกอยากกินนมให้ใช้แก้วหรือกล่องแทน เพื่อให้ลูกค่อย ๆ เรียนรู้ว่า ต้องกินจากภาชนะอื่น ๆ ไม่ใช่ขวดนมแล้ว เริ่มด้วยการฝึกใช้แก้วหัดดื่มก่อน เพื่อให้ลูกเรียนรู้การใช้แก้วแทนขวด
- ส่วนการฝึกลูกให้เลิกดูดขวดนมมื้อดึกนั้น อาจจะยากเสียหน่อย ต้องค่อย ๆ อดทน ลดปริมาณนมมื้อดึก ทำไปเรื่อย ๆ จนลูกเลิกได้ และเปลี่ยนจากการให้ลูกดูดนมจากขวด เป็นดื่มนมจากแก้ว จากนั้นค่อยแปรงฟัน ก่อนลูกจะนอนหลับ ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถใช้การเล่านิทาน ร้องเพลง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายก่อนนอนได้
- ห้ามไม่ให้ลูกหลับคาขวดนมอย่างเด็ดขาด หากลูกเลิกขวดได้สำเร็จ ก็ชมเชยหรือให้รางวัล
วิธีหักดิบลูกติดขวด
- ไม้อ่อนก็แล้ว แต่ใช้ไม่ได้ผล พ่อแม่บางคนก็ต้องใช้วิธีหักดิบลูกติดขวด เริ่มแรกให้บอกลูกล่วงหน้าจะได้เตรียมใจว่า ต้องกินนมจากแก้ว หรือกินนมจากกล่องแล้ว
- หักดิบด้วยการเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับขวดนมให้หมด อย่าให้ลูกเห็น จะทิ้ง จะบริจาค หรือเก็บอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ต้องเก็บขวดให้พ้นจากสายตาลูก
- หากลูกหักดิบ เลิกติดขวดได้สำเร็จ ก็ชมเชยหรือให้รางวัลลูกด้วยนะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : เตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ วิธีเลิกขวด ฝึกยังไงให้ลูกเลิกขวดนมได้ภายใน 1 ปีครึ่ง
การแปรงเหงือกทารก
แปรงเหงือกทารก ให้ทำความสะอาดลิ้นก่อน โดยวางลูกน้อยลงบนผ้าขนหนูนิ่ม ๆ ชุบคอตตอนบัดในน้ำต้มสุกที่เตรียมไว้ แล้วเริ่มต้นทำความสะอาดลิ้นของลูกก่อน ดังนี้
- สอดคอตตอนบัดเข้าไปในช่องปาก ลึกประมาณ 1/3 ของลิ้นอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง
- ค่อย ๆ ถูคอตตอนบัดเบา ๆ ไปมาที่ลิ้นของลูก
- เปลี่ยนคอตตอนบัดอันใหม่ แล้วทำซ้ำเดิมอีกครั้ง
จากนั้นให้ทำความสะอาดกระพุ้งแก้ม ใช้คอตตอนบัดอันใหม่ ชุบน้ำต้มสุกที่เตรียมไว้ แล้วเช็ดที่กระพุ้งแก้มด้านซ้าย
เปลี่ยนคอตตอนบัดอันใหม่ ชุบน้ำต้มสุก แล้วเช็ดที่กระพุ้งแก้มด้านขวา และเริ่มทำความสะอาดเหงือก ใช้คอตตอนบัดอันใหม่ ชุบน้ำต้มสุกที่เตรียมไว้ แล้วถูที่เหงือกของทารก เริ่มจากด้านบนก่อน จากนั้นจึงถูที่เหงือกของทารกด้านล่าง
การแปรงฟันลูกน้อย สำคัญอย่างไร
การแปรงฟันลูกก็สำคัญไม่แพ้กัน วิธีดูแลฟันลูกก็ต้องแปรงฟันให้ลูกอย่างมีคุณภาพด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ แปรงฟันลูกได้ตั้งแต่ฟันซี่แรก แปรงทุก ๆ วัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน แล้วอย่าลืมพาลูกไปพบหมอฟันตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นหรือไม่เกิน 1 ขวบ
กรมอนามัยแนะนำให้ผู้ปกครองช่วยลูกแปรงฟันให้สะอาดจนถึง 6 ปี
โรคฟันผุในเด็กเล็กมีผลต่อคุณภาพชีวิตของเด็กมาก หากไม่ได้รับการรักษา เด็กจะเสียวฟัน ปวดฟัน กินอาหารได้น้อยลง ไม่ร่าเริง มีผลต่ออารมณ์ และกระทบต่อการนอนหลับ เหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามปกติของเด็ก
จากข้อมูลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ในปี 2560 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี และ 5 ปี มีปัญหาฟันผุประมาณร้อยละ 53 และ 76 ตามลำดับ โดยในกลุ่มเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาสูงถึง ร้อยละ 52 ผู้ปกครองจึงควรตระหนักถึงผลเสียของฟันผุที่ไม่ได้รับการรักษา จนเกิดการติดเชื้อ ทำให้การรักษามีความยุ่งยากมากขึ้น มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าการดูแลป้องกันไม่ให้ฟันผุตั้งแต่ต้น โดยการแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ให้สะอาดทั่วทั้งปาก ทุกซี่ ทุกด้าน ร่วมกับการลด ละ เลิก ขนมหวาน น้ำหวาน และการกินนอกมื้ออาหารไม่ให้เกินวันละ 2 ครั้ง
พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรพาลูกไปพบทันตบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ทุก 6 เดือน ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถตรวจฟันลูกได้เองเบื้องต้น หากพบลักษณะสีขาวขุ่นบริเวณคอฟัน ซึ่งหมายถึงเด็กเริ่มมีรอยฟันผุระยะเริ่มต้น มีความเสี่ยง ในการเกิดฟันผุสูง เป็นช่วงวิกฤติก่อนที่รอยโรคเหล่านี้จะลุกลามเป็นรูผุ และเด็กจำเป็นต้องรับการรักษาโดยการ อุดฟัน ผู้ปกครองสามารถช่วยหยุดการลุกลามได้ด้วยตนเองโดยการแปรงฟันให้ลูกให้สะอาด เน้นบริเวณคอฟัน ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1000 PPM โดยความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด
- ผู้ปกครองต้องเป็นผู้บีบยาสีฟันให้เด็ก ไม่ให้เด็กบีบยาสีฟันเอง เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรใช้ปริมาณยาสีฟันแค่แตะแปรงพอชื้น
- เด็กอายุ 3 – 6 ปี ควรบีบยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา หรือตามความกว้างของแปรง
- เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป บีบยาสีฟันตามความยาวของหัวแปรงได้
เมื่อแปรงฟันเสร็จแล้วใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเพื่อเช็ดฟอกยาสีฟันออก โดยไม่จำเป็นต้องบ้วนน้ำ หากพบจุดสีดำหรือสีน้ำตาลบนผิวฟัน หรือพบรูฟันผุ ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ก่อนที่รูผุจะลุกลามจนทำให้เกิดการติดเชื้อ จนเด็กปวดฟัน นอกจากนี้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรใส่ใจในการเลือกขนาดของแปรงสีฟันที่เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก และผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย
วิธีให้ลูกเลิกขวดทำได้ไม่ยากค่ะ แต่พ่อแม่ต้องใจแข็ง และต้องให้ลูกเลิกขวด งดนมมื้อดึกเสียแต่เนิ่น ๆ ยิ่งลูกเติบโตก็จะยิ่งเคยชินกับการดูดขวด จนเลิกได้ยาก พ่อแม่ลองเลือกวิธีให้ลูกเลิกขวดตามความเหมาะสม จะเป็นไม้อ่อนไปก่อนก็ได้ แต่ถ้าลูกไม่ยอมเลิกขวดจริง ๆ ก็ต้องยอมหักดิบเลิกขวดนม เพื่อสุขภาพของลูกน้อยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ฟันผุในเด็ก ฝันร้ายของเด็ก ๆ ที่ไม่อยากไปหาหมอฟันอีกเลย
พาลูกหาหมอฟันครั้งแรก พาลูกไปหาหมอ แม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร
เลิกขวดนม กี่ขวบถึงจะดี? เปิดเคล็ดลับฝึกลูกเลิกขวดนม ป้องกันฟันผุ
ที่มา : Facebook