ปัญหาโลกแตก ลูกเมินเต้า เพราะ แม่หัวนมบอด ทำยังไงดี ?

ถึงแม้ว่า หัวนมบอด จะเป็นอุปสรรคในการให้นมลูกของคุณแม่ แต่เรามีวิธีในการแก้ปัญหา หัวนมบอด เพื่อให้คุณแม่ได้ให้นมลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ จะมีวิธีใดบ้างมาดูกัน

ความกังวลใจว่า ลูกจะเมินเต้า เพราะ แม่หัวนมบอด หัวนมบุ๋ม เป็นหนึ่งในปัญหาหนักอก เนื่องจากส่งผลกระทบในการให้นมลูกน้อยโดยตรง โดยแต่ละคนจะมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน แต่สามารถแก้ไขได้ โดยเริ่มจากขั้นง่ายที่สุดคือตนเอง ไปจนถึงการเข้ารับการผ่าตัดจากคุณหมอ ส่วนจะมีวิธีการปัญหา หัวนมบอด ยังไงบ้าง มาดูกัน

สาเหตุ ลูกเมินเต้า เพราะ แม่หัวนมบอด

หัวนมบอด เกิดจากผังผืดบริเวณท่อน้ำนมที่มาดึงรั้งหัวนมไม่ให้ชูชันขึ้นหรือโผล่ออกมา หรือฐานหัวนมน้อยเกินไป หรือท่อนมสั้นกว่าปกติ จึงทำให้ลูกน้อยดูดน้ำจากเต้าได้ยาก และอาจกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้หนูๆ ไม่อยากดูดนมแม่

บทความ : หัวนมบอด ให้นมลูกได้ไหม อยากให้ลูกได้ประโยชน์น้ำนมแม่ แต่กลัวลูกดูดไม่ได้ อดกินน้ำนมแม่

ระดับของหัวนมบอดแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่

  1. หัวนมบอดระดับ 1 ระดับขั้นต้น (Inverted Nipples Grade 1) หัวนมเรียบหรือยุบตัวเข้าไปบางส่วน แต่สามารถ ใช้มือดึงออกมาได้ บางครั้งหัวนมจะยื่นออกมาถ้าได้เอง หากได้รับการกระตุ้นโดยการสัมผัส หรือการดูด รวมทั้งอากาศที่เย็น ๆ ท่อน้ำนมไม่มีการรั้งตัว มีความสามารถให้นมบุตรได้
  2. หัวนมบอดระดับ 2 ระดับปานกลาง (Inverted Nipples Grade 2) หัวนมยุบตัวเข้าไป แต่ค่อนข้างยากลำบาก ในการดึงออกมา หรือถ้าดึงออกมาก็จะคงตัวอยู่ได้เพียงชั่วขณะหนึ่ง แล้วหัวนมก็จะยุบตัว กลับเข้าไปอีกในทันที บางรายจะสามารถให้นมบุตรได้ แต่บางรายที่ท่อน้ำนมรัดตัวก็อาจจะไม่สามารถให้นมบุตรได้
  3. หัวนมบอดระดับ 3 ระดับรุนแรง (Inverted Nipples Grade 3) หัวนมยุบตัวเข้าไปทั้งหมดและ ไม่สามารถดึงออกมาได้ ท่อน้ำนมรั้งตัวและคดอยู่ข้างใน ทำให้อาจจะไม่สามารถให้นมบุตรได้เลย ผู้หญิงที่มีหัวนมบอดระดับรุนแรงนี้ อาจจะประสบปัญหาการติดเชื้อข้างในรูหัวนม มีอาการคัน หากทำความสะอาดรูหัวนม ไม่ดีพอเพียง มีลักษณะคล้ายๆ กับหลุมสะดือที่ลึกเข้าไป

วิธีการเช็คว่าหัวนมบอดหรือไม่

หัวนมบอด วิธีการง่ายสุดคือ ให้คุณแม่ใช้นิ้วโป้ง และนิ้วชี้จับตั้งแต่ลานนมขึ้นมา (บริเวณวงกลมสีดำรอบหัวนม) ถ้าพบว่าหัวนมโผล่ขึ้น แสดงว่าหัวนมคุณแม่ปกติ หากคีบแล้วหัวนมมีอาการแบนและบุ๋มหดเข้าไปข้างใน แสดงว่าหัวนมบอด แต่คุณแม่อย่าเพิ่งตกใจไป ลองเช็คอีกข้างโดยใช้วิธีการเดียวกัน ไม่แน่ว่าคุณแม่อาจจะเป็นแค่ข้างเดียวก็ได้

วิธีการแก้ปัญหา

  • Nipple rolling

ให้คุณแม่ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับด้านข้างของหัวนมที่ติดกับลานนม จากนั้นให้ดึงยืดขึ้นและค้างไว้ หรือจะนวดคลึงเบาๆ ทำซ้ำ ๆ ข้างล่ะ 10 ครั้ง วันละ 2 รอบ

  • Hoffmann’s maneuver

เป็นการดึงรั้งหัวนมด้วยนิ้วมือ โดยเริ่มจากให้ใช้นิ้วชี้ทั้ง ข้าง วางบริเวณขอบหัวนม  ตามแนวขนานและตามแนวดิ่ง  สลับกันไปมา จากนั้นใช้นิ้วชี้ทั้งสองค่อย ๆ กดและแยกออกจากกันด้านนอกถึงขอบวงปานนม  หรือให้ค่อย ๆ ดึงหัวนมจนสุดความตึงของผิวหนัง  ทำสลับกันในแนวราบและแนวดิ่งไปเรื่อย ๆ ทำแบบนี้ทุกๆ วัน และควรทำหลังอาบน้ำ ข้างละ 30 ครั้ง จึงจะได้ผลดีที่สุด

  • ใช้เครื่องปั๊มนม

อีกหนึ่งวิธีที่คุณแม่สามารถทำได้คือ ให้น้องลองดูดนมจากเต้า เนื่องจากทารกที่เพิ่งคลอดออกมาจะมีความตื่นตัวในการดูดนม สามารถอมหัวนมได้ดี หรือจะใช้วิธีการปั๊มนมช่วย วิธีนี้จะช่วยได้ช่วยเพียงคราวเท่านั้น เพราะหลังจากที่คุณแม่หยุดให้นมลูกหรือปั๊มนม หัวนมของคุณแม่จะกลับไปบุ๋มตามเดิม

  • ใช้ Breast shells หรือ Breast cups

คุณแม่ต้องใส่ไว้ใต้ยกทรง ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ วันละ 2-3 ชั่วโมง หลังจากคลอดลูกแล้วให้ใส่ก่อนให้นม 30 นาที

  • ใช้ Syringe puller หรือกระบอกฉีดยา

อันดับแรกให้คุณแม่ดึงลูกสูบขึ้นประมาณ 1/3 ของกระบอก แล้วใช้ปลายด้านที่ไม่ถูกตัดมาครอบหัวนมให้สนิท จากนั้นค่อยๆ ดึงลูกสูบขึ้นช้า ๆ หัวนมของคุณแม่จะค่อยชูขึ้นมา

  • Nipple puller

nipple puller ก่อนจะใช้ให้บีบกระเปาะยางก่อน แล้วนำไปครอบบริเวณหัวนม จากนั้นค่อยๆ ปล่อยปล่อยกระเปาะออกช้า ๆ  ทำข้างละ 5 – 10 นาทีต่อวัน

  • การผ่าตัด

เหมาะสำหรับผู้ที่ลองทำด้วยตนเอง และตัวช่วยแล้วก็ไม่สามารถทำได้

สุดท้าย ถ้าคุณแม่ยังรู้สึกเจ็บหัวนมอยู่ แนะนำให้คุณแม่ใช้ ใช้ยางครอบหัวนม (nipple shield) เพื่อป้องกันไม่ให้ปากของน้อง ไปสัมผัสกับหัวนมคุณแม่โดยตรง ทำให้คุณแม่สามารถให้นมลูกได้สบายยิ่งขึ้น

ที่มา :

www.si.mahidol.ac.th
www.motherandcare.in.th
www.medicine.cmu.ac.th
www.lelux.co.th

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

ลูกไม่ยอมกินนมแม่ หรือ Nursing strike จู่ๆ ลูกเบือนหน้าหนีไม่ยอมเข้าเต้าเพราะ?

หัวนมแตก ทำไงดี ต้องหยุดให้นมลูกไหม?

น้ำนมแม่ที่ปั๊มมาแล้วเก็บได้กี่ ชม เรื่องใกล้ตัวที่คุณแม่ให้นมต้องรู้

บทความโดย

Khunsiri