วิธีเล่นกับลูกทารก ส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกน้อยได้ง่าย ๆ เทคนิคการเล่นกับลูก โดยไม่ต้องซื้อของเล่นราคาแพง เพราะพ่อแม่คือของเล่นชิ้นแรกของลูก
วิธีเล่นกับลูกทารก เสริมความฉลาดให้ลูกวัยทารกได้ง่าย ๆ
การเล่น ถือเป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่าอย่างมากของเด็กทุกวัย ทั้งด้านสติปัญญา และความสัมพันธ์กับผู้อื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกน้อยได้ตั้งแต่แรกเกิด โดยไม่จําเป็นที่ลูกจะต้องมีของเล่นมากมาย เพราะคุณพ่อคุณแม่ถือเป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก การเล่นกับลูกวัยทารกเพื่อส่งเสริมพัฒนาการนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย โดยมีคำแนะนำดังนี้ค่ะ
ลักษณะการเล่นของเด็กทารกเป็นอย่างไร?
- อันดับแรก เราควรทราบถึงหลักการในการเล่นตามช่วงวัยของทารกว่าจะมีลักษณะการเล่นที่เน้นการตอบสนองของระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยมีการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส แบบตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน ในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น ไม่เกิน 5 นาที
- ยกตัวอย่างเช่น การให้เด็กได้มองเห็นสิ่งของที่มีสีสันสดใส หรือสัมผัสของที่สามารถบีบ เคาะ แล้วมีเสียงดังเกิดขึ้นทันที หรือเล่นจั๊กจี๋ให้เด็กหัวเราะเสียงดัง เป็นต้น
เทคนิคการเล่นกับลูกวัยทารก แบ่งได้ตามอายุ และพัฒนาการแต่ละช่วงวัยดังนี้
1. ทารกแรกเกิดถึง 3 เดือน
ในช่วงวัยนี้ ควรเน้นการเล่นที่ส่งเสริมการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสเป็นหลัก เช่น การสัมผัสจากคุณพ่อคุณแม่ ของเล่นที่มีสีสันสดใส หรือมีเสียงดังชัดเจน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้อย่างง่ายดาย แม้ขณะกำลังเลี้ยงลูก เช่น เปลี่ยนผ้าอ้อม หรืออาบน้ำให้ลูกก็สามารถสัมผัสลูกอย่างนุ่มนวล นวดผ่อนคลายให้ลูก เล่นปูไต่ พูดคุยกับลูก และร้องเพลงให้ลูกฟัง
2. ทารกวัย 4 ถึง 6 เดือน
ในช่วงวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูก อย่างมีจุดมุ่งหมายมากขึ้น เพราะเด็กจะเริ่มสนใจร่างกายของตน และสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น เช่น สนใจมองการเคลื่อนไหวของแขนขาตนเอง เริ่มคว้าสิ่งของ และชอบสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้โดยหาสิ่งของในบ้านที่มีลักษณะผิวสัมผัสต่าง ๆ กันทั้งนุ่ม แข็ง เรียบ ขรุขระ มาให้ได้คว้าจับโดยแกว่งของล่อให้ลูกยื่นมือมาคว้า หรือแขวนของสิ่งนั้นไว้เหนือเตียงให้ลูกมอง และคว้า อุ้มลูกแล้วร้องเพลงที่มีการเคลื่อนไหวโยกตัวไปมา พูดคำสั้น ๆ ซ้ำ ๆ กับลูกให้ออกเสียงตาม
3. ทารกวัย 7 ถึง 9 เดือน
เด็กวัยนี้จะเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง เข้าใจภาษามากขึ้น เข้าใจการหายไปของวัตถุ ที่เคยเห็นในสายตา สามารถหยิบของชิ้นเล็กได้ ด้วยนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก ร้องเพลงที่มีการตอบสนอง พร้อมท่าทางประกอบช่วยจับลูกให้เคลื่อนไหวตามจังหวะเพลง ทำท่าต่าง ๆ ให้ลูกหัดทำตาม เช่น ปรบมือ บ๊ายบาย กระตุ้นให้ลูกคลาน หรือคืบ โดยเอาของเล่นมาวางตรงหน้า เมื่อลูกเข้ามาใกล้ ก็จับของเล่นให้ห่างออกไป ใส่ของชิ้นเล็กที่ไม่อันตรายเช่น ลูกเกดในถ้วยเล็ก ๆ แล้วคว่ำปากถ้วยลง ให้ลูกหัดหยิบลูกเกดใส่ถ้วยเองทีละชิ้นด้วยนิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือ หรือให้ลูกกินสิ่งของต่าง ๆ ที่ออกจากกล่อง
4. ทารกวัย 10-12 เดือน
สำหรับวัยนี้ ทารกสามารถเข้าใจภาษา และสื่อสารได้ดีขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวได้เองมากขึ้น โดยการเกาะยืน หรือเกาะเดินจนเดินก้าวแรกได้ คุณพ่อ คุณแม่สามารถเล่นกับลูกได้ โดยการพูดคุยเล่าเรื่องต่าง ๆ เล่านิทาน หรืออ่านหนังสือนิทานภาพสั้น ๆ ทําเสียงสัตว์ต่าง ๆ ให้ลูกทำตาม เช่นแมวร้อง เหมียว เหมียว ให้ลูกดูภาพต่าง ๆ แล้วชี้บอกว่า สิ่งนั้นคืออะไรซ้ำ ๆ ให้ลูกทำตามคำสั่งง่าย ๆ เช่น บ๊ายบาย หากลูกทำได้ ก็ให้รางวัลเช่น กอด เหมือนเป็นการเล่นเกม หาของที่ลูกสนใจมาตั้ง และชี้ชวนให้ลูกยืน และเกาะเดินไปหยิบเอง ให้ลูกรู้จักการหยิบผลไม้ชิ้นเล็ก ๆ ขึ้นมาทานเอง โดยเมื่อทำได้ก็ชมเชยและให้รางวัลอย่างสนุกสนาน เพียงเท่านี้ก็เป็นการเล่นง่าย ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้
จะเห็นได้ว่า การเล่นกับลูกน้อยวัยทารกนั้น ไม่มีความจำเป็น ที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องอาศัยตัวช่วยเป็นของเล่นราคาแพงแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรจะเล่นกับลูกด้วยความรัก ให้เวลาแก่ลูก และใช้เพียงสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวในบ้านที่ไม่เป็นอันตราย มาเล่นกับลูก เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกได้อย่างมีความสุขนะคะ
อ้างอิง : www.parents.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
พัฒนาการสมองทารก พ่อแม่กระตุ้นดี ลูกได้ความฉลาดติดตัว
6 วิธีเล่นกับลูก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ ผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ
ทารกจํากลิ่นแม่ได้ ลูกที่ได้ดมกลิ่นแม่จะทำให้หลับง่ายและนอนนานขึ้น
หยุด!!! ก่อนทำร้ายลูกน้อย 6 เรื่องอันตราย ที่พ่อแม่ทุกคนต้องระวัง