การเดินทางท่องเที่ยวเป็นประสบการณ์ที่แสนสนุกในครอบครัว แต่หากเกิดการเจ็บป่วยขึ้นระหว่างการเดินทางโดยเฉพาะกับเด็กเล็กย่อมจะนำมาซึ่งความความวิตกกังวลของคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก วันนี้เลยอยากแนะนำ วิธีรับมือลูกป่วยตอนเดินทาง เคล็ดลับการป้องกันไม่ให้ลูกป่วย เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลลูกได้อย่างถูกต้อง
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกป่วยระหว่างการเดินทาง
อาการเจ็บป่วยชองเด็กที่พบบ่อยระหว่างการเดินทางได้แก่ ไข้ โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ท้องเสีย อาหารเป็นพิษ โรคผื่นผิวหนังอักเสบ ดังนั้นเคล็ดลับการป้องกันไม่ให้ลูกป่วยระหว่างการเดินทาง วิธีรับมือลูกป่วยตอนเดินทางมีดังนี้ค่ะ
- หากไปในที่มีอากาศหนาว ควรเตรียมเสื้อผ้าและอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายลูกอย่างเพียงพอ ไปในที่ฝนตกควรเตรียมร่มและเสื้อกันฝน หากไปที่อากาศร้อนก็อย่าลืมเตรียมหมวก คุณพ่อคุณแม่จึงควรเช็คอุณหภูมิและสภาพอากาศก่อนการเดินทางทุกครั้ง
- รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่ให้ลูกทานอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนการรับประทานอาหาร และ หลังจากเข้าห้องน้ำ โดยสอนให้ลูกรู้จักการล้างมือด้วยน้ำสบู่ มิใช่ล้างมือด้วยน้ำเปล่าเพียงเท่านั้น หากอยู่ในที่ไม่มีน้ำล้างมืออาจใช้เจลทำความสะอาดมือไปก่อนได้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือแพ้ได้บ่อย เช่น แมงกะพรุน แมลง หรือหญ้า
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนคนเยอะ หรือบริเวณที่มีคนป่วย เพราะลูกอาจติดเชื้อโรคได้ง่าย
การเตรียมยาเพื่อดูแลหากลูกป่วยตอนเดินทาง
แม้จะพยายามป้องกันเป็นอย่างดีแค่ไหน ความเจ็บป่วยก็อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างการเดินทาง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเตรียมยาสำหรับเด็กติดตัวไปด้วยเสมอ ได้แก่
- ยาแก้ปวดลดไข้ paracetamol
- ยาแก้แพ้ antihistamine
- ยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
- ยาแก้ไอ
- ยา steroid ทาแก้ผื่นแพ้
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น domperidone
- น้ำเกลือแร่ซอง ORS
- พลาสเตอร์ยา
หากจะไปในที่มียุงเยอะก็ควรเตรียมยาทากันยุงสำหรับเด็กไป และที่สำคัญอย่าลืมเตรียมยาสำหรับโรคประจำตัวของลูกไปด้วยนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทำความรู้จัก 5 โรคพบบ่อยในเด็กวัยเรียน พร้อมประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษา และเทคนิครับมือฉบับคุณแม่มืออาชีพ
เคล็ดลับรับมือลูกป่วยระหว่างการเดินทาง
เรามาดูวิธีการรับมือเบื้องต้นหากลูกมีอาการเจ็บป่วยระหว่างการเดินทางกันดีกว่าค่ะ
1. มีไข้ตัวร้อน
หากลูกมีไข้ต่ำ ๆ คือวัดไข้ได้ไม่ถึง 38.5 องศาเซลเซียส ก็ควรเช็ดตัวลดไข้ ทานยาลดไข้ paracetamol ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่หากลูกมีไข้สูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียสและดูซึมลง ควรรีบไปพบคุณหมอดีกว่านะคะ
2. หวัด คัดจมูก น้ำมูกไหล หรือไอ
หากลูกมีอาการหวัดแบบไม่รุนแรง หายใจไม่หอบเหนื่อย คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลเบื้องต้นได้โดยให้ลูกทานยาบรรเทาอาการ เช่น ยาแก้คัดจมูก ลดน้ำมูก ล้างจมูกและหยดยาลดจมูกบวม ทานยาแก้ไอสำหรับเด็ก แต่หากลูกมีอาการไอมาก หายใจเหนื่อยหอบ มีน้ำมูกยืดเยื้อเกิน 1 สัปดาห์ ร่วมกับมีไข้สูงหรือดูซึมก็ควรรีบไปพบคุณหมอค่ะ
3. ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน
หากลูกมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียนจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารหรืออาหารเป็นพิษ ควรให้ลูกทานยาแก้อาเจียน ทานน้ำเกลือแร่ชดเชยน้ำและเกลือที่สูญเสียไปให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ อันจะทำให้ลูกดูซึมลง ปากแห้ง ตาโหลและอ่อนเพลียได้ ทั้งนี้หากลูกมีอาการถ่ายเหลวหรืออาเจียนปริมาณมาก ดูซึมลงและมีอาการขาดน้ำ กินไม่ได้ ไม่ปัสสาวะเลย ใน 6 ชั่วโมง ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด มีไข้สูงร่วมด้วย ก็ควรรีบไปพบคุณหมอนะคะ
4. ผื่นผิวหนังอักเสบ
หากลูกมีอาการผื่นคันที่ไม่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้ความเย็นประคบเพื่อลดอาการคัน ทายาและทานยาแก้ผื่นแพ้ แต่หากลูกมีอาการผื่นที่เป็นรุนแรง มีอาการอื่นร่วมด้วยเช่นหายใจหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หน้ามืดเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนเฉียบพลัน หรือหมดสติไป ก็ควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็วเพราะอาจเป็นผื่นร่วมกับอาการแพ้รุนแรง หรือหากมีผื่นร่วมกับมีไข้ ปวดแสบปวดร้อนก็อาจเป็นผื่นที่เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ใช่ผื่นแพ้ธรรมดาค่ะ
ความเจ็บป่วยในเด็กเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะในเด็กเล็ก หมอหวังว่าบทความนี้คงจะมีประโยชน์ในการเตรียมตัวการเดินทางของคุณพ่อคุณแม่เพื่อป้องกันและรับมือกับอาการเจ็บป่วยของลูกในเบื้องต้นได้อย่างอุ่นใจตลอดการเดินทางนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ไหลตายในเด็ก SIDS โรคไหลตายในทารก พรากชีวิตทารกจากอ้อมอกแม่ไปตลอดกาล
โรคผื่นลมพิษ แม่ตั้งครรภ์ โรคผื่นลมพิษในคุณแม่ตั้งครรภ์ พบบ่อย! ผื่น PUPPP