การเปลี่ยนแปลงของหน้าอกเริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ทั้งสี ขนาด อาการคัด และสัมผัสที่ไวขึ้น หากทราบว่าหน้าอกของแม่ท้องจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด ก็จะทำให้คุณแม่มีความมั่นใจ และสามารถ ดูแลหน้าอกขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด ได้อย่างเหมาะสม
หน้าอกของแม่ประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
หน้าอกของผู้หญิงเรานั้น ประกอบไปด้วยไขมัน เนื้อเยื่อ และท่อนมเล็ก ใหญ่ เหล่านี้เป็นตัวกำหนดขนาด และรูปทรงของหน้าอก ซึ่งสิ่งที่ทำให้เต้านมของผู้หญิงนั้น สามารถผลิตน้ำนมออกมาได้ ด้วยต่อมผลิตน้ำนม (lobules) ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิต และส่งผ่านท่อน้ำนม (ducts) มายังหัวนม (nipple )นั่นเอง ส่วนฐานของหัวนมซึ่งมีลักษณะเป็นวงสีเข้ม จะเรียกว่า ลานนม (areola) บนลานนมนี้ มีต่อมไขมันเล็ก ๆ อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างความชุ่มชื้นให้กับหัวนม
การเปลี่ยนแปลงของหน้าอก เริ่มขึ้นตั้งแต่การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ขนาดของหัวนม และลานนมจะขยายขึ้น สีเข้มขึ้น มีต่อมน้ำมันที่เห็นเป็นตุ่ม ๆ เหมือนสิว เพื่อขับน้ำมันมาสร้างความชุ่มชื้น เต้านมจะตึงขึ้น และ ขยายขนาด พองฟูขึ้น ต่อมผลิตน้ำนมจะขยายตัว ลานนมจะนุ่ม และมีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับการดูดนมจากทารก เต้านมของแม่จะไวต่อสัมผัสมากขึ้นด้วย มาดูว่าก่อน และหลังการตั้งครรภ์ ความเปลี่ยนแปลงของหน้าอก แตกต่างไปอย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง : เจ็บเต้านม เจ็บหน้าอกหลังคลอด สาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ถูกต้อง
วิดีโอจาก : Thai PBS
ดูแลหน้าอกขณะตั้งครรภ์ และหลังคลอด
การดูแลเต้านม ในขณะตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงของเต้านมของแม่ท้องนั้น เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนในร่างกาย แม่ท้องจะรู้สึกว่าหัวนมอ่อนนุ่มลง และไวต่อการสัมผัส หน้าอกมีขนาดใหญ่ขึ้น หัวนม และลานนมก็ขยายขนาด อีกทั้งยังมีสีที่เข้มขึ้นอีกด้วย แม่ท้องจะสามารถสังเกตเห็นตุ่มไขมันเล็ก ๆ บริเวณลานนมได้ชัดเจนมากขึ้น
เต้านมของแม่ท้องจะเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตน้ำนมเมื่ออายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากแม่จะสังเกตว่ามีของเหลวใส ๆ ไหลออกมาจากเต้านมของแม่ ของเหลวใสนี้ เรียกว่า น้ำนมเหลือง (colostrum) ซึ่งจะมีลักษณะขาว และใสกว่าน้ำนมปกติ หากแม่ท้องกังวลว่า น้ำนมเหลืองนี้ จะเลอะเทอะบนเสื้อผ้า ก็สามารถใช้แผ่นซับน้ำนมแปะบริเวณด้านในของเสื้อชั้นใน เพื่อป้องกันการสังเกตเห็นได้
ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ก่อนคลอด หน้าอก และหัวนมของแม่ท้อง ก็จะขยายใหญ่ขึ้นอีก เนื่องจากการขยายตัวของต่อมผลิตน้ำนมภายในเต้านม แม่ท้องจะยิ่งรู้สึกอึดอัด และคัดเต้านมมาก บางคนอาจจะรู้สึกเจ็บ หรือปวด การสวมใส่เสื้อชั้นในที่มีขนาดพอดี ไม่รัดตัวเกินไป จะช่วยลดความอึดอัด และช่วยโอบอุ้มหน้าอกของคุณแม่ในตอนนี้ได้
นอกจากนี้ แม่ท้องหลายคนยังพบความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น สีผิวบริเวณข้อพับต่าง ๆ มีสีเข้มขึ้น ผิวแห้ง มีติ่งคล้ายก้อนเนื้อเล็ก ๆ ขึ้น บางรายมีสิว ในช่วงใกล้คลอด ก็อาจจะมีเส้นลายจากหน้าท้อง ลายแตกของต้นขา และอาจจะมีลายขึ้นบริเวณเต้านมได้
วิธีการดูแลเต้านมแม่ก่อนคลอด
- ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่สามารถทำความสะอาดร่างกายตัวเองได้ตามปกติ ด้วยการอาบน้ำสะอาด และ ซับให้เต้านมแห้งเสมอ
- ไม่ควรขัดถูหัวนมแรง หรือ ดึงไขมันที่ติดบนหัวนม เพราะจะทำให้เกิดแผลได้
- ไม่ควรใช้ครีมทาบริเวณหัวนม เพราะจะไปอุดท่อน้ำมันหล่อลื่นบนเต้านม ในกรณีที่ คุณแม่พบว่าหัวนมบอด อาจจะแก้ไขได้โดยการนวดดึงหัวนม หรือขอแนะนำจากคุณหมอที่ฝากครรภ์
การเลือกขนาดของเสื้อชั้นในให้เหมาะสมขณะตั้งครรภ์
- หน้าอกของคุณแม่เติมเต็มเสื้อชั้นในได้พอดี ไม่มีส่วนที่ล้น ปลิ้น หรือเกินออกมาทั้งด้านข้าง ด้านบน และด้านล่าง
- สายเสื้อชั้นใน และตะขอไม่รัดแน่น จมเข้าไปกับเนื้อ
- ลองยกมือขึ้นเหนือศีรษะแล้ว เสื้อชั้นในยังอยู่ที่เดิม
- ขอบด้านล่างของเสื้อชั้นในพอดีตัว และอยู่ในระดับเดียวกันทั้งด้านหน้า และด้านหลัง
- สำหรับเสื้อชั้นในที่มีโครง สามารถประคองหน้าอกของแม่ท้องได้ โดยไม่แน่น จนกดลึกลงไปกับเนื้อ หรือหลวม จนมีช่องว่าง
- เสื้อชั้นในบางตัว อาจจะค่อย ๆ ยืดตามขนาดตัวจนพอดีมากขึ้น หลังการใส่
การเปลี่ยนแปลงของเต้านมหลังคลอด
หลังจากการให้กำเนิดบุตร ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโพรเจสเทอโรน (Progesterone) จะลดลงอย่างรวดเร็ว 1 – 3 วันแรกหลังคลอด จะมีของเหลวสีเหลืองอ่อนไหลออกมา เรียกว่า น้ำนมเหลือง หรือหัวน้ำนม หลังจากนั้น จึงจะเป็นเวลาของน้ำนมแม่ ที่จะไหลออกมาตามลำดับ
เมื่อลูกดูดนมจากเต้า เส้นประสาทบริเวณหัวนม ส่งผ่านไปยังสมองให้ปล่อยน้ำนมออกมา แม่ลูกอ่อนบางคนน้ำนมไหล เมื่อได้ยินเสียงลูกร้องไห้ หรือเมื่อรู้สึกอ่อนไหว
หลังคลอด คุณแม่อาจจะมีน้ำนมไหลแบบนี้ไปสักระยะหนึ่ง หากต้องออกไปนอกบ้าน อาจจะใช้แผ่นซับน้ำนมแปะที่เสื้อชั้นใน เพื่อให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นได้
นอกจากนี้ แม่หลังคลอดใหม่ ๆ อาจจะมีอาการคัดตึงเต้านมประมาณวันที่ 4 และรู้สึกมากขึ้นในสัปดาห์ที่ 2 หลังคลอด เพราะว่าร่างกายผลิตน้ำนมมาก และต้องการการระบายออก แม่ควรให้ลูกดูดนม หรือปั๊มนมออกเพื่อคลายอาการคัดเต้าลง และใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการปวดได้
3 เดือนหลังจากคลอด คุณแม่จะรู้สึกคัดเต้าน้อยลง เพราะปริมาณฮอร์โมนโปรแลคติน ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับกลไกการหลั่งน้ำนม กระตุ้นให้เกิดการสร้าง และการหลั่งน้ำนม ลดลงกลับสู่ระดับปกติ น้ำนมจะไม่ไหลซึมออกมาให้เห็นเหมือนในช่วงแรก ปริมาณของน้ำนมที่ปั๊มอาจจะลดลง แต่ก็ไม่ได้หมายความจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก
วิธีการดูแลเต้านมแม่หลังคลอด
- อาบน้ำทำความสะอาด และดูแลเป็นปกติเหมือนก่อนคลอด หลีกเลี่ยงการขัดถูหัวนม หรือดูแลไม่ให้หัวนมเกิดแผลได้ และควรซับเต้านมให้แห้งเสมอ
- หลีกเลี่ยงการใช้ครีมทาหัวนม ซึ่งจะก่อให้เกิดการอุดตันที่ต่อมน้ำมัน บริเวณลานนมได้
- เลือกชุดชั้นในที่ใส่ ให้พอดีกับขนาดหน้าอกที่เปลี่ยนไป เพื่อช่วยในการประคองเต้านม หรือหากคุณแม่อยู่บ้านก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ เพราะจะได้รู้สึกสบาย และง่ายต่อการให้นมลูกด้วย
- ป้องกันไม่ให้หัวนมเกิดความอับชื้น ด้วยการซับแห้งด้วยผ้าสะอาดทุกครั้ง หลังให้นมลูก
- หากคุณแม่เป็นคนมีเหงื่อมาก ก่อนให้นมลูกสามารถใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดรอบนม และลานนมได้ แต่ไม่จำเป็นต้องเช็ดทุกครั้ง เพราะจะทำให้หัวนมแห้งแตกได้ง่ายขึ้น
- หากหัวนมแห้งแตก คุณแม่สามารถนำน้ำนมมาทาเพื่อช่วยรักษาความชุ่มชื้นของหัวนม ป้องกันหัวนมแตกได้
- ใช้แผ่นซับน้ำนม เพื่อช่วยป้องกันน้ำนมที่ไหลซึมออกมา
- หากในช่วงให้นมลูก คุณแม่มีอาการหนาวสั่น และมีไข้สูง เมื่อกดลงที่เต้านม แล้วรู้สึกเจ็บเป็นจุด ๆ อาจเป็นไปได้ว่าเต้านมมีอาการติดเชื้อ ควรงดให้นมลูก และรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ
การเปลี่ยนแปลงของเต้านมจากการให้นมบุตร
การเปลี่ยนแปลงของเต้านมหลังคลอด เป็นกระบวนการทางธรรมชาติหลังจากการให้กำเนิด เพื่อผลิตน้ำนมให้ลูก อันเป็นส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตของทารกแรกคลอด ลูกน้อยควรจะได้รับน้ำนมจากแม่ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิตเป็นอย่างน้อย และค่อย ๆ ให้อาหารอื่น ๆ เป็นส่วนเสริมเข้าไป
หากว่าคุณแม่มีน้ำนมน้อย หรือไม่สามารถให้นมลูกได้ เนื่องจากเคยมีการผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอกมาก่อน หรือด้วยสาเหตุใด ๆ หากต้องการให้ลูกได้ดื่มนมแม่ ก็ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการให้นมบุตร เพราะแม่หลาย ๆ คนก็สามารถให้นมบุตรได้ แม้ว่าจะเคยมีประสบการณ์การผ่าตัดเหล่านี้ก็ตาม
หลังจากการคลอด และให้นมลูกนั้น แน่นอนว่า ทั้งขนาด และรูปทรงของหน้าอกของแม่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่เหมือนก่อนตั้งครรภ์ แต่การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เป็นอีกก้าวหนึ่งของแม่ หลังจากการมอบชีวิต และแบ่งปันเลือดในอกเพื่อให้ลูกน้อยได้เติบโต
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
8 วิธีดูแลตัวเองของแม่หลังคลอดในเดือนแรก
ดูแลหน้าอกให้ไม่เสียสวยระหว่างตั้งครรภ์
ทำไมเด็กไม่ต้องดื่มน้ำ กินนมแม่อย่างเดียวจะเพียงพอสำหรับลูกหรือไม่
ที่มา : enfababy, breastcancernow