วัคซีนที่เด็กวัยรุ่นควรฉีด มีอะไรบ้าง?
วัคซีนที่วัยรุ่นแบบน้องไทม์ควรฉีด มีอยู่ 2 ตัวค่ะ ก็คือวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Tdap) และวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)
คำถามสำหรับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์
1. เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก โรคคอตีบ และ โรคไอกรน มาหลายเข็มแล้ว ต้องฉีดตอนเข้าวัยรุ่นด้วยหรือ?
เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เป็นวัคซีนที่เด็กๆ จะได้รับตั้งแต่อายุ 2 เดือนจนถึง 6 ปี มาแล้ว 5 เข็ม แต่เมื่อเด็กๆ มีอายุเพิ่มขึ้น ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนลดลง จึงต้องมีการกระตุ้นซ้ำเมื่อ อายุ 11-12 ปี โดยใช้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ชนิดสูตรสำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่ หลังจากนั้นควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (ไม่มีไอกรน) ต่อเนื่องทุก 10 ปีค่ะ
2. มีข้อห้ามอะไรบ้างในการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กโต?
ข้อห้ามการฉีดวัคซีนนี้ คือ เด็กที่เคยมีประวัติแพ้อย่างรุนแรงภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใด หรือมีปฏิกิริยาแพ้อย่างรุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีนนี้ เด็กที่มีประวัติเคยพบอาการทางสมองอย่างรุนแรงภายใน 7 วัน ภายหลังได้รับวัคซีนที่มีส่วนประกอบของวัคซีคไอกรน หรือมีความผิดปกติของสมองหรือลมชักซึ่งยังควบคุมไม่ได้ค่ะ
3. วัคซีนป้องกันโรค คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์สำหรับเด็กโตมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงที่พบบ่อย อาจจะเกิดขึ้นหลังรับวัคซีนชนิดนี้ก็คือ ปวด บวมบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียนและมีไข้ได้ค่ะ
บทความแนะนำ ลูกแขนบวมมากหลังฉีดวัคซีนควรทำอย่างไร?
คำถามสำหรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
1. เด็กผู้ชายก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยหรือ?
ถ้าสามารถฉีดได้ ก็จะมีประโยชน์ค่ะ เพราะวัคซีนนี้ เป็นวัคซีนที่ใช้การติดเชื้อฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (Human Papillomavirus-HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง โดยเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มากกว่า 70% นอกจากนั้นเชื้อ HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 ยังเป็นสาเหตุของหูดที่อวัยวะเพศ และมะเร็งทวารหนักในผู้ชายได้ ในวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกชนิด 4 สายพันธุ์ จึงไม่ได้มีประโยชน์ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงเท่านั้น แต่ช่วยป้องกันหูดที่อวัยวะเพศ และมะเร็งของอวัยวะสืบพันธุ์ในผู้ชายได้ค่ะ
2. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยมีกี่ชนิด และแต่ละชนิดมีกี่สายพันธุ์?
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ปัจจุบันมีอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิดที่ป้องกันการติดเชื้อได้ 2, 4, และ 9 สายพันธุ์ ค่ะ
- ชนิด 2 สายพันธุ์ (ป้องกัน HPV สายพันธุ์ที่ 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า “Cervarix”
- ชนิด 4 สายพันธุ์ (ป้องกัน HPV สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16 และ 18) มีชื่อการค้าว่า “Gardasil” ป้องกันมะเร็งปากมดลูก หูดที่อวัยวะเพศและมะเร็งทวารหนักในผู้ชาย
- ชนิด 9 สายพันธุ์ (สายพันธุ์ที่ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58) มีชื่อการค้าว่า “Gardasil 9” สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูก หูด และมะเร็งทวารหนักได้มากขึ้น แต่ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยนะคะ
3. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกต้องฉีดกี่เข็ม?
ปัจจุบัน แนะนำว่า ต้องฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด 3 เข็มภายในระยะเวลา 6 เดือน คือ
เข็มที่ 1 เริ่ม ฉีดตามอายุที่เหมาะสม คือ 9-26 ปี โดยเน้นที่อายุ 11-12 ปี
เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน
เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 6 เดือน
ปัจจุบันมีการศึกษาที่แนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ 2 เข็มแทน 3 เข็มได้ ในเด็กวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี จะสามารถฉีดเพียง 2 เข็มได้ โดยมีประสิทธิภาพสูง โดยฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ห่างกัน 6 เดือน ส่วนเด็กที่อายุมากกว่า 14 ปี ควรต้องฉีด 3 เข็มตามปกติจึงจะมีภูมิต้านทานจากวัคซีนขึ้นดีค่ะ
4. มีข้อห้ามอะไรบ้างในการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก?
ข้อห้ามการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ก็คือ เด็กที่เคยมีประวัติแพ้อย่างรุนแรงภายหลังได้รับวัคซีนนี้ หรือเด็กที่แพ้ส่วนประกอบในวัคซีน เช่น ยีสต์
5. วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
วัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงที่พบบ่อย คล้าย ๆ กับการฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น รู้สึกปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เป็นไข้ คลื่นไส้ โดยอาการมักจะไม่รุนแรง และจะหายไปได้เองเมื่อผ่านไป 2-3 วัน
เนื่องจากวัคซีนสำหรับวัยรุ่น ทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นวัคซีนเสริม ซึ่งมีราคาสูงและมีรายละเอียดต่าง ๆ ค่อยข้างมาก คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษาคุณหมอเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจฉีดได้ค่ะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
เรื่องจริง!! เนื้องอกรังไข่ เด็กและวัยรุ่นก็เป็นได้
ประสบการณ์ตรง : บทเรียนจากคุณแม่วัยใส เตือนใจวัยรุ่นท้องก่อนวัยอันควร