ล้วงลึก การเปลี่ยนแปลงของแม่และลูกในแต่ละไตรมาส ไตรมาสที่ 3
เมื่อตั้งครรภ์เดินทางมาถึงไตรมาสสุดท้าย คือ ไตรมาสที่ 3 หรือเดือนที่ 7 – 9 ใกล้คลอดกันแล้วนะคะ มาดูกันค่ะว่าแต่ละเดือนนั้นคุณแม่และคุณลูกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
แม่ท้องไตรมาสสอง : ตั้งครรภ์เดือนที่ 7
การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
ในเดือนที่ 7 นี้ ท้องของคุณแม่จะขยายขนาดใหญ่ขึ้นมาก จนดูอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวไม่คล่องแคล่วเท่าใดนัก คุณแม่จะรับรู้ได้ถึง การเคลื่อนไหวของลูก ขนาดท้องที่โตมากทำให้คุณแม่ต้องหายใจเร็วขึ้น เพราะมดลูกมากดเบียดกะบังลมทำให้หายใจได้สั้น ๆ นอนหลับไม่เต็มที่ เพราะทารกน้อยดิ้นเคลื่อนไหวไปมา
มดลูกก็มักจะบีบตัวเป็นระยะห่าง ๆ กัน เรียกว่า ร่างกายซ้อมการบีบรัดตัวของมดลูกเพื่อการคลอด ข้อสังเกต การบีบตัวนั้นจะไม่มีการเจ็บปวดมากขึ้นนะคะ และบีบตัวครั้งละไม่เกิน 30 วินาทีในระยะนี้น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยสัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
ทารกในครรภ์จะมีลำตัวยาวประมาณ 35 เซนติเมตร มีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ทารกน้อยจะมีการเคลื่อนหวและทำท่าทางต่าง ๆ ได้ เช่น จาม ดูดนิ้วมือ ดูดนิ้วเท้า ผิวหนังเรื่อมีสีแดงเรื่อ ๆ แต่ยังเหี่ยวย่นคล้ายคนแก่ มีไขเคลือบไปทั่วร่างกาย อวัยวะของร่างกายเริ่มทำงานได้ ทารกที่คลอดในช่วง 7 เดือนมีโอกาสรอดชีวิตหากอยู่ในความดูแลของคุณหมอและมีเครื่องมือทางการแพทย์พร้อม
แม่ท้องไตรมาสสอง : ตั้งครรภ์เดือนที่ 8
การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
เดือนที่ 8 ใกล้คลอดเต็มที่แล้ว ท้องของคุณแม่ใหญ่มากขึ้นจนเริ่มรู้สึกอึดอัด เพราะปอดขยายได้น้ยลง คุณแม่จะเหนื่อยง่าย หายใจเร็วและสั้น กระเพาะปัสสาวะถูกเบียด เพราะมดลูกที่มีขนาดใหญ่ ทำให้ต้องลุกมาปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน ทารกดิ้นแรงขึ้นเพราะกล้ามเนื้อแขนขาแข็งแรงมากขึ้น
อาการในช่วงตั้งครรภ์ในเดือนที่ 8 ที่เด่นชัด คือ ท้องอืดเฟ้อ เรอบ่อย ๆ เพราะกระเพาะย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่เนื่องจากถูกมดลูกกดเบียด และอาจมีปัญหาเรื่องหลอดอาการอักเสบตามมาได้ มือ เท้าจะบวม เริ่มเป็นตะคริวบ่อย ทอ้งผูกเป้นประจำ ตกขาวมีปริมาณมากขึ้น บางคนเริ่มมีน้ำนมไหลออกมา (หัวน้ำนม) และมีคุณค่าทางอาหารสูงอีกด้วย
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ท้อง 8 เดือน
คุณแม่ควรศึกษากระบวนการคลอดและสังเกตถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น เช่น เริ่มมีน้ำคร่ำไหลซึม เป็นต้น อาจเริ่มจัดเตรียมของใช้สำหรับทารกไว้บ้างก็ดีนะคะเพราะท้องแก่ใกล้คลอดคงไม่สะดวกนัก หากต้องไปเดินเลือกซื้อของ กรณีนี้คงเชื่อมโยงกับความเชื่อของแต่ละครอบครัวเกี่ยวกับการตระเตรียมของใช้ทารกในแต่ละครอบครัวที่แตกต่างกัน
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
ทารกครบ 32 สัปดาห์ จะมีลำตัวยาวประมาณ 40 เซนติเมตร ม้น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม เริ่มมีไขมันตามผิวหนัง ถ้าเป็นทารกเพศชายอัณฑะจะเคลื่อนจากช่องท้องลงไปยังถุงอัณฑะ
การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ใกล้เคียงกับทารกคลอดครบกำหนด ถ้าคลอดในระยะนี้ และไม่มีอาการแทรกซ้อนมักจะมีโอกาสรอดชีวิตสูง
แม่ท้องไตรมาสสอง : ตั้งครรภ์เดือนที่ 9
การเปลี่ยนแปลงของแม่ท้อง
ท้องที่โตขึ้นของคุณแม่จะเริ่มลดระดับลงจนคุณแม่รู้สึกได้ เพราะทารกน้อยจะเริ่มลงสู่อุ้งเชิงกราน สรุปเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. ระยะนี้คุณแม่จะหายใจได้สะดวกขึ้น โล่งขึ้น แต่เวลาเดินจะรู้สึกหน่วง ๆ บริเวณช่วงเชิงกราน เพราะส่วนนำของทารกจะลงไปกดอวัยวะในช่องเชิงกราน หรือเรียกระยะนี้ว่า “ท้องลด” อาจจะรู้สึกปวดที่หัวหน่าว ปวดที่โคนขาจากการกดทับเส้นประสาทขา ปัสสาวะจะบ่อยขึ้นมาก
2.ในระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์จะมีเลือดมาเลี้ยงรกประมาณ 500 ลบ.ซม./นาที ปากมดลูกมีการคั่งของน้ำ ร่วมกับการเพิ่มจำนวนของต่อมที่ปากมดลูก ส่งผลให้ปากมดลูกมีสีคล้ำและอ่อนนุ่ม ปากมดลูกมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันจำนวนมาก เนื้อเยื่อเหล่านี้จะ สะสมคอลลาเจนไว้มากเพิ่มช่วยให้เกิดการยืดขยายตัวในการเปิดปากของปากมดลูกเวลาที่คลอด
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ท้อง 9 เดือน
คุณแม่ควรหมั่นสังเกตการดิ้นของทารก โดยสังเกตดูใน 1 ชั่วโมง หลังอาหาร เด็กทารกในครรภ์ต้องดิ้นไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ถ้าน้อยกว่า ให้คิดไว้ก่อนว่า อาจจะเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารกน้อย ควรไปพบคุณหมอโดยด่วนนะคะ
การเปลี่ยนแปลงของทารกในครรภ์
ในเดือนที่ 9 โค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว ทารกน้อยจะมีน้ำหนักตัวโดยเฉลี่ย 2.5 กิโลกรัม เมื่อายุครบ 40 สัปดาห์ หรือครบกำหนดคลอด อวัยวะต่าง ๆ ของทารกจะเจริญเติบโตเต็มที่ ลำตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2,500 กรัม ระยะนี้ศีรษะของทารกจะเคลื่อนเข้าสู่อุ้งเชิงกรานทำให้ท้องมีลักษณะลดต่ำลง เพื่อเตรียมตัวออกมาสู่โลกภายนอกแล้วนะคะ
ขอให้คุณแม่และคุณลูกมีสุขภาพกายและสุขภาพที่แข็งแรง และคลอดลูกน้อยออกมาปลอดภัยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ล้วงลึก การเปลี่ยนแปลงของแม่และลูกในแต่ละไตรมาส ไตรมาสที่ 1
ล้วงลึก การเปลี่ยนแปลงของแม่และลูกในแต่ละไตรมาส ไตรมาสที่ 2
เชิงกรานแคบ คลอดเองได้ไหม คนตัวเล็กคลอดลูกเองได้ไหม คลอดธรรมชาติหรือต้องผ่าคลอด
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับอาการท้องไตรมาส 3ได้ที่นี่!
ท้องไตรมาส 3 ร่างกายของแม่ และลูกน้อยจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้างคะ