คุณแม่ท่านนี้เล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นให้เราฟังว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ลูกชายวัยสองเดือนกว่า มีนัดหยอดวัคซีนโรต้นกับคุณหมอ พอไปหยอดกลับมาบ้านคืนแรกยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น น้องเกิดอาการท้องเสีย ฉี่ไม่ออก มีมูกเลือดปนออกมาด้วยแต่ไม่เยอะ จึงพาไปหาหมอถึงสองที่ด้วยกัน
โรงพยาบาลแรกบอกว่า ในกระเพาะปัสสาวะของน้องนั้นมีปัสสาวะแค่ 2 ml เท่านั้น น้องอาจเสี่ยงเป็นโรคไตได้ คุณหมอเลยทำเรื่องส่งตัวไปอีกโรงพยาบาลหนึ่ง และเมื่อไปถึง คุณหมอได้บอกว่า น้องขาดน้ำและต้องการให้แอทมิท ซึ่งน้องก็อยู่ในโรงพยาลถึงสองคืนด้วยกัน แต่ก็ยังถ่ายอยู่ คุณหมอได้ให้ออกจากโรงพยาบาลเพื่อมาดูอาการต่อที่บ้าน
และหลังจากออกมาได้หนึ่งวัน ลูกชายก็ถ่ายออกมาเป็นเลือด คุณแม่เลยรอดูอาการอีกหนึ่งวัน พอเช้าวันรุ่งขึ้นลูกชายก็ถ่ายออกมาเป็นเลือดอีก แต่คราวนี้เป็นเลือดสด เลยรีบพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลสมิติเวช ซึ่งคุณหมอก็ได้ตรวจลูกชายของคุณแม่อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอัลตร้าซาวด์ภายใน เอ็กซ์เรย์ภายใน เพื่อตรวจดูว่าลำไส้กลืนกันหรือไม่ แต่ก็ไม่ใช่อย่างที่หมอคิด
พอเอาเลือดไปตรวจจึงรู้ว่า น้องได้รับเชื้อไวรัสจากวัคซีนโรต้า ซึ่งวัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่ใช้เชื้อโรคทำ คุณหมอได้บอกไว้นะคะว่า มีโอกาสเพียง 1 ใน 10,000 เท่านั้นที่จะพบกับเด็กที่แพ้วัคซีนชนิดนี้ ซึ่งคุณหมอก็มีคำแนะนำว่า ห้ามให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่คนในครอบครัวมาคลุกคลีกับน้องเด็ดขาด เพราะอาจจะนำเอาเชื้อโรคตัวอื่นมาแพร่กระจายได้อีก เพราะในตัวของลูกชายนั้น มีไวรัสโรต้าอยู่ ให้คอยดูแลน้องอย่างใกล้ชิด ถ้าหากน้องมีอาการท้องเสียปนมูกเลือด หรืออาเจียนอีก ให้รีบนำตัวมาพบหมอโดยทันที
และสาเหตุที่ท้องเสียนั่นเป็นเพราะ เจ้าวัคซีนโรต้านั้น ไปตกค้างอยู่ในลำไส้ และตอนนี้ลูกชายก็อาการดีขึ้นมาบ้างแล้ว ภายหลังจากที่คุณหมอได้ให้ยาฆ่าเชื้อ และให้กินนมสำหรับเด็กท้องเสียเท่านั้น
คุณแม่ได้ฝากถึงคุณแม่ท่านอื่น ๆ ว่า “เวลาที่พาลูกไปรับวัคซีน เสร็จจากรับวัคซีนให้คอยดูอาการของลูกอย่างใกล้ชิด ถ้าลูกมีอาการที่กินนมเข้าไปแล้วอาเจียร มีไข้ตัวร้อน ท้องเสีย ถ่ายปนมูกเลือด ขอให้พาลูกไปพบคุณหมอด่วน อย่าปล่อยล่วงเลย เพราะถ้าเราปล่อยไว้เชื้อโรคตัวอื่นจะไปแทรกซ้อนเชื้อโรคตัวเดิม ทำให้เป็นหนักกว่าที่เป็นอยู่ รักษาทันถ่วงเวลาก็หายเร็วค่ะ ฝากประสบการณ์อันเลวร้ายครั้งนี้เป็นผลเตือนใจให้คุณแม่ดูแลบุตรหลานของท่านอย่างใกล้ชิดด้วยนะคะ”
หยอดวัคซีนโรต้าแล้วแต่ทำไมลูกยังท้องเสียอีก คลิกเพื่อหาคำตอบได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
ไวรัสโรต้าคืออะไร?
โรต้าเป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่ติดต่อได้ง่าย เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก โดยพบได้มากสุดในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี มีรายงานว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีแทบทุกคนต้องเคยติดเชื้อ ไวรัสโรต้าอย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต โดยการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้เด็กเล็กมีอาการ ท้องเสียรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการขาดน้ำและเกลือแร่
เด็กๆ ติดเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร?
การติดเชื้อไวรัสชนิดนี้เกิดจากการกินสิ่งที่มีไวรัสปนเปื้อนเข้าทางปาก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร และสิ่งของ โดยไวรัสชนิดนี้อาจติดอยู่ตามสิ่งของ เช่นของเล่นเด็ก เมื่อเด็กๆนำสิ่งของ หรือ มือที่เปื้อนเชื้อไวรัสเข้าปาก ก็สามารถติดเชื้อได้ จากนั้นเชื้อไวรัสเดินทางไปตามระบบทางเดินอาหาร คือ กระเพาะอาหาร และลำไส้ ทำลายเยื่อบุผนังลำไส้ทำให้เกิดอาการอักเสบติดเชื้อขึ้น
เมื่อติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้วจะแสดงอาการอย่างไร ?
หลังได้รับเชื้อ 1-2 วัน เด็กๆ ที่ติดเชื้อจะเริ่ม มีไข้ และอาเจียน บางรายอาจเกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ คือ มีน้ำมูกไหล ไอ คอแดง ร่วมด้วย ต่อมาจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ส่วนใหญ่อาการจะหายไปภายใน 3-5 วัน ส่วนน้อยจะมีอาการท้องเสียยืดเยื้อเรื้อรังมากกว่า 1 สัปดาห์ หากการท้องเสียเกิดขึ้นเป็นเวลานาน หรือมีอาการรุนแรงทำให้เด็กขาดน้ำ และเกลือแร่มาก จนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้
ทราบได้อย่างไรว่าอาการท้องเสียเกิดจากไวรัสโรต้า?
เมื่อเด็กๆ มีอาการท้องเสียและไปพบคุณหมอ หากเก็บอุจจาระได้ คุณหมอจะนำส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาการติดเชื้อ โดยดูจำนวนเม็ดเลือดในอุจจาระ และตรวจหาเชื้อไวรัสโรต้าได้ค่ะ
ถ้าลูกติดเชื้อไวรัสโรต้าแล้วควรได้รับการรักษาอย่างไร?
เนื่องจากไม่มียาต้านไวรัสชนิดนี้โดยตรง การรักษาอาการท้องเสียเกิดจากไวรัสโรต้าทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคท้อง เสียจากสาเหตุอื่นๆ คือ ถ้าอาการไม่รุนแรงก็สามารถรับยามาทานที่บ้านได้ โดยดื่มกินน้ำเกลือแร่ชดเชยส่วนที่สูญเสียไปจากการถ่าย และอาเจียน ถ้ามีอาการอาเจียนบ่อยก็ทานยาแก้อาเจียน แต่หากมีอาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโหล ซึม หรือทานไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยด่วน
เราจะสามารถจะปกป้องลูกจากเชื้อไวรัสโรต้าได้อย่างไร ?
คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกจากเชื้อไวรัสโรต้าได้โดยเสริมสร้างภูมิ ต้านทานโรคด้วยวัคซีนป้องกันโรค เพื่อที่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและความจำเป็นที่จะต้องรักษาตัวในโรง พยาบาล
นอกจากนี้ควรดูแลเรื่องสุขอนามัย ความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม ของลูก และสอนให้ล้างมืออย่างถูกต้อง ใช้ฝ่ามือถูกันให้ทั่วถึงทั้งบริเวณหลังมือ ซอกมือ ฝ่ามือ หัวแม่มือ รอบข้อมือ โดยทำทั้งสองข้างนะคะ
หากได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าแล้ว สามารถเป็นโรคได้หรือไม่?
หลักการคือ ไม่มีวัคซีนชนิดใดป้องกันโรคได้ 100% โดยหากเป็นโรคนั้นๆก็จะลดความรุนแรงของโรคได้ จากการศึกษาวัคซีนไวรัสโรต้า พบว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงได้ประมาณ 80-90% โดยเด็กที่เคยได้รับวัคซีนครบ ถึงแม้จะติดเชื้อไวรัสนี้แล้วมีอาการ ท้องเสียก็มักมีอาการอาจไม่รุนแรง เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันอยู่แล้วค่ะ
ขอขอบคุณเรื่องราวจากคุณแม่ Sukanya Looknam มาก ๆ ค่ะ ทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ทุกคน ขอให้ลูกชายของคุณแม่หายและเป็นปกติไว ๆ นะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
แม่เล่า ลูกท้องเสียอย่านิ่ง ไวรัสโรต้าอาจถามหา