ผดผื่นเม็ดเล็ก ๆ ที่ขึ้นตามร่างกายของทารก โดยเฉพาะบริเวณผ้าอ้อม ที่สร้างความรำคาญใจให้กับเจ้าตัวน้อย จนต้องออกอาการขยับตัวอยู่ตลอดเวลา เพราะสาเหตุจากอาการคัน เจ็บ จนทำให้ตัวเด็กเองรู้สึกไม่สบายตัว งอแง และอาจส่งผลให้เกิดการปัสสาวะ และขับถ่ายลำบากอีกด้วย อาการเหล่านี้ เป็นสาเหตุจาก อาการผื่นผ้าอ้อม แล้วถ้า ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม ล่ะจะแก้ไขได้อย่างไร และมีวิธีสังเกตอย่างไรได้บ้าง
ผื่นผ้าอ้อม มีลักษณะอย่างไร?
เด็กทารกจะมีผิวหนังที่บอบบาง และไวต่อการสัมผัสสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะผ้าอ้อมที่จะต้องสวมใส่อยู่ตลอดเวลา “ผื่นผ้าอ้อม” (Diaper Dermatitis หรือ Nappy Rash) คือการอักเสบของผิวหนังที่เกิดขึ้นบริเวณที่สวมใส่ผ้าอ้อม ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ซึ่งอาการที่จะเห็นได้ชัดคือ จะเกิดผื่นแดงบวม เหมือนลักษณะของอาการแพ้ โดยมากจะพบบริเวณ แก้มก้น อวัยวะเพศ ด้านในของต้นขา ท้องน้อย เป็นต้น
ซึ่งในระยะแรกนั้นเราอาจพบเพียงผื่นแดงเล็กน้อย แต่ถ้าหากมีการอักเสบมากยิ่งขึ้น ก็จะส่งผลให้รอยแดงขยายพื้นที่ และมีการลามของผื่นดังกล่าวในบริเวณที่กว้างขึ้น บางรายเกิดรอยถลอก หรือเป็นแผลถลอกลึกได้ (Ulcer) หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจถึงขั้นติดเชื้อ และเกิดอาการแทรกซ้อนได้เช่นกัน
ทำไม ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อม มีสาเหตุจากอะไร?
คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจเข้าใจว่า การที่เด็กเป็นผื่นผ้าอ้อมนั้น เป็นผลมาจากอาการแพ้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปยี่ห้อนั้น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ผื่นผ้าอ้อม เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
-
ผ้าอ้อมรัดแน่นมากจนเกินไป
ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจเลือกซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูป ที่มีขนาดไม่พอดีกับเจ้าตัวเล็ก ผ้าอ้อมแน่นจนเกินไป ทำให้เกิดการรัดแน่น เกิดการเสียดสีระหว่างผ้าอ้อมกับผิวลูก ทำให้ลูกเกิดผดผื่น ระคายเคืองผิว และไม่สบายตัว ทำให้โอกาสที่จะเกิดผื่นแพ้อักเสบ หรือผื่นผ้าอ้อมเกิดขึ้นได้
-
เกิดการระคายเคืองจาก สารเคมีต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น สบู่เหลว แป้ง ทิชชูเปียก น้ำยาซักผ้า โลชั่น ที่ใช้อยู่ อาจมีสารบางตัวที่สร้างความระคายเคืองให้กับผิวเด็ก ทำให้โอกาสที่จะเกิดผื่นผ้าอ้อม ก็มีสูงเช่นกัน
-
เพิ่งเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่
หลายครั้งที่คุณแม่มักจะอยากลองผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แต่ถ้าเมื่อใช้แล้วลูกน้อยเกิดผื่นผ้าอ้อมเกิดขึ้น ให้ลองสังเกตดูว่าผื่นผ้าอ้อมที่เกิดขึ้น เกิดจากผลิตภัณฑ์ใหม่ที่คุณเพิ่งเริ่มใช้หรือไม่
-
ผ้าอ้อมเลอะและอับชื้น
มักจะเกิดจากการสวมใส่ผ้าอ้อมนานเกินไป ทำให้ก้นลูกสัมผัสฉี่หรืออึนานเกินไป เมื่อเด็กจะต้องทนอยู่กับความอับชื้นจากการสัมผัสกับปัสสาวะ หรืออุจจาระเป็นเวลานาน ภาวะความเป็นกรดของผิวหนังที่มีส่วนช่วยในการยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียจะถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นด่าง ทำให้ผิวหนังเกิดการติดเชื้อได้ง่าย จนเกิดเป็นผื่นคัน ซึ่งเราเรียกผื่นนี้ว่าผื่นผ้าอ้อม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผ้าอ้อมสาลู มีดีอย่างไร วิธีเลือกผ้าอ้อมสาลู และวิธีใช้
-
อาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อย เป็นสาเหตุของผื่นผ้าอ้อม
หากเด็กมีอาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง จนคุณพ่อคุณแม่ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ไม่ทัน จนเกิดความหมักหมมเกิดขึ้น ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมได้เช่นกัน
-
ผิวบอบบาง แพ้ง่าย
เด็กบางคนที่เป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบ (eczema) ถึงจะเปลี่ยนผ้าอ้อมบ่อยแต่ผิวบอบบางของลูกก็ยังเกิดผื่นง่ายอยู่ดี
-
ผ้าอ้อมแบบไหน ก็เป็นผื่นผ้าอ้อมได้เช่นกัน
หลายคนเข้าใจว่า ผื่นผ้าอ้อมนั้น เป็นสาเหตุจากผ้าอ้อมสำเร็จรูป เพราะไม่สามารถระบายอากาศได้ดี เหมือนผ้าอ้อมผ้าทั่วไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผ้าอ้อมผ้า หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป ต่างก็สามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผื่นผ้าอ้อมได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกวิธี
-
อากาศร้อนกระตุ้นให้เกิดผื่นผ้าอ้อม
เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอากาศที่ร้อนชื้นนั้นทำให้ลูกเหงื่อออกได้ง่าย จึงไม่แปลกที่จะทำให้เกิดการอับชื้น ดังนั้นบริเวณใต้ผ้าอ้อมจึงเป็นแหล่งเพาะเชื้อแบคทีเรียอย่างดีเลยทีเดียว
ผื่นผ้าอ้อม ป้องกันได้อย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สามารถปกป้องก้นลูกน้อยให้ไกลจากผื่นผ้าอ้อมได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
- ดูแลก้นลูกที่ใส่ผ้าอ้อมให้สะอาดและแห้งอยู่เสมอ
- หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อมเมื่อมีการเปียกชื้น หรือเมื่อลูกน้อยอุจจาระทุกครั้งก็ควรเปลี่ยนผ้าอ้อมทันที ไม่ปล่อยให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรก
- ก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูก ควรทำความสะอาดก้นลูกอย่างสะอาดหมดจด และซับผิวให้แห้ง
- ให้ผิวลูกได้สัมผัสอากาศบ้าง โดยการถอดผ้าอ้อมออกสักพัก
- ใช้สบู่เด็กสูตรอ่อนโยน และน้ำอุ่นในการทำความสะอาดให้ลูกน้อย
- หลังอาบน้ำเสร็จ ค่อย ๆ ใช้ผ้าขนหนูซับเบา ๆ อย่าถูบริเวณผิวหนังลูก เพราะอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้
- ไม่ให้ลูกใส่ผ้าอ้อมหรือกางเกงที่รัดแน่นเกินไป เพื่อป้องกันการเสียดสี
- หลีกเลี่ยงทิชชูเปียกที่เพิ่มกลิ่นหอมหรือสารเคมี
- เลือกใช้ผ้าอ้อมที่มีคุณสมบัติการระบายอากาศ และซึมซับความเปียกชื้นได้ดี (Super – absorbent diaper)
- หลีกเลี่ยงการใช้แป้งเพื่อลดการเสียดสีของผิว ไม่ว่าจะเป็นแป้งผู้ใหญ่ หรือแป้งเด็ก เพราะแป้งจะไปอุดตันผิวหนัง ทำให้ผิวไม่ได้รับการระบายอากาศได้เท่าที่ควร
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่ทำให้เกิดการระคายเคือง ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม อาจเป็นสาเหตุให้ผิวของเด็กเกิดการระคายเคืองได้
- ทานนมแม่ให้ได้นานที่สุด ดูเหมือนจะไม่ค่อยเกี่ยวข้อง แต่การทานนมแม่นั้นเป็นสิ่งที่ช่วยระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ให้สามารถต้านทานการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี ดังนั้นต่อให้เด็กจะสามารถทานอาหารเสริมต่าง ๆ ได้แล้ว แต่นมแม่ ก็ยังเป็นสุดยอดของอาหารหลัก และอาหารเสริมสำหรับเขานั่นเอง
- พาลูกไปพบแพทย์ทันที หากทำตามข้อต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว แต่อาการของผื่นผ้าอ้อมไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นภายใน 2 – 3 วัน และมีทีท่าว่าจะเกิดการลามไปบริเวณอื่น ๆ ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยโดยทันที ไม่ควรหาซื้อยาทา หรือยารับประทานเอง เพราะอาจทำให้อาการแพ้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผื่นแพ้ผิวหนังในเด็ก รักษาด่วนก่อนเรื้อรัง
บรรเทาอาการผื่นผ้าอ้อมด้วยวิธีธรรมชาติ
- น้ำมันมะพร้าว : น้ำมันมะพร้าวจะช่วยบรรเทาอาการผื่นผ้าอ้อมที่เกิดขึ้นได้ แต่ก่อนใช้ควรล้างก้นลูกให้สะอาด ซับน้ำให้แห้ง แล้วทาน้ำมันมะพร้าวบาง ๆ ให้ทั่วบริเวณผิวหนังใต้ผ้าอ้อม
- เบกกิ้งโซดา : เพียงใช้เบกกิ้งโซดา 2 – 3 ช้อนชาผสมลงในอ่างอาบน้ำของลูก ผิวหนังที่เป็นผดผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้น
- น้ำนมแม่ : หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าน้ำนมแม่นั้น สามารถบรรเทาอาการผื่นผ้าอ้อมได้ด้วยโดยหลังจากที่ทำความสะอาดผิวลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ลองหยดน้ำนมแม่ลงไปทารอบ ๆ รอให้แห้ง แล้วจึงใส่ผ้าอ้อม
- ว่านหางจระเข้ : ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรชั้นยอดเรื่องรักษาแผลน้ำร้อนลวกและปัญหาผิวหนังต่างได้ดี โดยคุณพ่อคุณแม่จะใช้เจลว่านหางจระเข้ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป หรือใช้ใบแก่ ๆ แบบสด ๆ จากต้น แล้วหั่นเอาวุ้นมาทาก็ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ครีมทาผื่นผ้าอ้อม ตัวช่วยที่พ่อแม่ควรต้องใส่ใจ เมื่อเกิดปัญหาผื่นผ้าอ้อม
อาการแบบไหนที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ
ปกติแล้วการที่ลูกเป็นผื่นผ้าอ้อมนั้น จะสามารถหายได้โดยไม่จำเป็นไปต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าลูกคุณมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปปรึกษาคุณหมอทัน
- ผ่านไป 2 – 3 วันก็ยังไม่ดีขึ้น
- ผื่นลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผิดปกติ
- มีไข้
- ลูกร้องไห้เจ็บปวด
- ลูกมีอาการท้องเสียเกิน 48 ชั่วโมง
- ผื่นที่มีเลือดออก คัน หรือมีเลือดไหลซึม
- มีอาการแสบร้อน หรือเด็กร้องไห้ทุกครั้งเมื่อมีการปัสสาวะ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม
- คุณไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของผื่นที่ขึ้น
อย่างไรก็ตาม การรักษาความสะอาดผิวหนังของลูกน้อย โดยเฉพาะบริเวณซอก หลืบต่าง ๆ คุณพ่อคุณแม่จะต้องให้ความสำคัญในการทำความสะอาดอย่างมาก และควรเช็ดให้แห้ง การทาแป้ง จะกลายเป็นการก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนของเด็ก และการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากธรรมชาติ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ เพราะช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการแพ้ของเด็กได้ และไม่ควรที่จะหาซื้อยามาทาให้กับเด็กเอง หากเกิดอาการแพ้ที่ลุกลามมากกว่าปกติ การพบและปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย จึงมีความจำเป็นอย่างมากค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แพมเพิสนิวบอร์น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปสำหรับเด็กแรกเกิด ยี่ห้อไหนดี ควรเลือกอย่างไร
รู้หรือไม่! ผ้าอ้อมแบบไหนเหมาะสำหรับเด็ก อะไรคือสิ่งที่คุณแม่ต้องรู้
ลูกงอแง ร้องไห้โยเย อาจเป็นเพราะผื่นผ้าอ้อมทำให้ลูกรักไม่สบายตัว