การเลี้ยงดูกับการประคบประหงม
พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ (หมายถึง คุณพ่อคุณแม่ที่ชอบ “บินวน” อยู่กับชีวิตของลูก) คงแทบจะลมจับด้วยความสะพรึงกลัวขณะที่อ่านเรื่องราว“ที่บั่นทอน” ของคุณ Skenazy หากคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบวางแผนทุกรายละเอียดในชีวิตของลูกและโดดลงมาช่วยลูกทุกครั้งที่เกิดปัญหาไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กน้อยเพียงใด… คุณเรียกตัวเองอย่างเต็มปากเต็มคำได้เลยค่ะว่าเป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ แบบนี้คงเป็นการประคบประหงมไปเสียแล้วละค่ะ ไม่ใช่แค่การเลี้ยงดูธรรมดา ๆ
คุณ Skenazy กล่าวไว้อย่างเจ็บแสบในบทความของเธอว่า “พ่อแม่หลายคนหวาดระแวงไปกับทุกสิ่ง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยอย่างเช่น การให้ลูกเล่นอยู่ในสนามเด็กเล่น ซึ่งหากลูกคลาดสายตาไปสักวินาทีก็ดูจะกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต” ถึงตอนนี้ขอถามคุณสักนิดนะคะว่า คุณจะกล้าและมั่นใจพอที่จะให้ลูกได้ลองทำสิ่งที่ท้าทายบ้างหรือเปล่าคะ หากคุณตอบแบบหัวใจแทบสลายว่า “ไม่มีทาง” คุณอาจจะต้องกลับไปคิดใหม่อีกรอบแล้วค่ะ
เด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างมีอิสระกับเด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างประคบประหงม
กลายเป็นว่าทัศนคติของพ่อแม่ประเภท “ลูกรัก พ่อแม่ทำทุกอย่างเพื่อลูกนะ” จะออกมาเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อพัฒนาการทางสติปัญญาและสังคมของเด็ก งานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยที่พ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เล็กกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ขี้กังกวลและมักไม่ค่อยเต็มใจรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม
อ่านต่อหน้าถัดไป >>>
แนวคิดในการเลี้ยงลูกอย่างมีอิสรภาพ
แนวคิดในการเลี้ยงลูกอย่างมีอิสรภาพหมายถึง การเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นอย่างปลอดภัย (เช่น ให้ลูกคาดเข็มขัดนิรภัย สวมหมวกนิรภัย ให้ลูกนั่งในที่นั่งสำหรับเด็ก) แต่ไม่จำกัดการกระทำต่าง ๆ ของลูกเนื่องจากความหวาดกลัว สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องตระหนักถึงเสมอคือช่วงอายุของลูกที่เหมาะสมเมื่อจะเลี้ยงลูกด้วยแนวคิดแบบนี้ คุณ Skenazy เขียนไว้ในหนังสือ “เด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างมีอิสระ” (Free Range Kids) ของเธอว่า “ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะพร้อมที่จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างมีอิสรภาพในอายุที่เท่ากัน พ่อแม่จะทราบดีกว่าลูกรักของคุณมีความสามารถ (และนิสัยประหลาด) อย่างไร และคุณเองก็รู้ว่าระดับความรู้สึกสบายใจของคุณอยู่ ณ จุดไหน”
คุณ Hara Estroff Marano ผู้แต่งหนังสือ “ดินแดนคนขลาด” (Nation of Wimps) แนะนำ 5 วิธีในการเลิกวุ่นวายเวียนวนกับลูกไว้ดังนี้
1. ปล่อยให้คนอื่นดูแลลูกบ้าง – พ่อแม่อย่าเป็นบุคคลเพียงสองคนในโลกที่ลูกจะพึ่งพาทางใจและกายได้
2. ช่วยกระตุ้นลูกด้วยการไม่เข้าไปช่วยลูกทุกครั้งที่พบปัญหา ถ้าลูกที่โตขึ้นมาหน่อยลืมเอาการบ้านไปส่งคุณครู คุณก็ไม่ต้องรีบขับรถเอาการบ้านไปให้ถึงที่โรงเรียนหรอกค่ะ ปล่อยให้ลูกได้เรียนรู้ด้วยตนเองว่าผลจากความขี้ลืมนั้นคืออะไร
3. แทนที่จะตะคอกใส่ลูกและทำให้ลูกรู้สึกอับอาย ให้เปลี่ยนเป็นถามลูกแทนว่า ลูกได้สิ่งที่ต้องการจากพฤติกรรมที่ทำลงไปหรือไม่
4. ปล่อยให้ลูกเล่นในสนามเด็กเล่นโดยไม่ต้องเข้าไปแทรกแซงหรือจับตามองตลอดเวลา
5. ไม่ต้องให้ลูกสะอาดตลอดเวลาก็ได้ รวมถึงสิ่งเล็กน้อยอื่น ๆ ที่จะกลายเป็นกำแพงแยกลูกออกจากโลกใบนี้
ความกลัวของคุณกับความกลัวของลูก
หากคุณยังคงคิดอยู่ว่า “ฉันแค่อยากจะปกป้องลูกน้อยที่น่าสงสารจากโลกกว้างใหญ่แสนอันตรายใบนี้เท่านั้นเอง!” ฟังให้ดีค่ะ การย้ำแล้วย้ำอีกว่าอาจจะเกิดอะไรต่อมิอะไรขึ้นนั้นทำให้ลูกกลายเป็นคนขี้กลัวและจำกัดตัวเองเอาไว้เฉพาะในกรอบที่ตนเองรู้จัก ลูกจะกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่มีโอกาสได้สัมผัสความสุขสมบูรณ์ของการใช้ชีวิต และไม่สามารถพัฒนาความมั่นใจในตนเองได้
ดังนั้น หากคุณไม่ได้เชื่อมต่อกับลูกผ่านทางรกอีกต่อไปแล้ว ทางเลือกที่ดีกว่าน่าจะเป็นการปล่อยให้ลูกได้ใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเสรีมากกว่านี้อีกสักหน่อย
พ่อแม่เฮลิคอปเตอร์ขา… ลงจอดด่วน!
บทความใกล้เคียง: ลูกเรียนช้า ทำอย่างไรให้เป็นเลิศ