“ลูกอ้วนลงพุง” ปกติไหม เป็นอะไรรึเปล่า
“ลูกอ้วนลงพุง” ปกติไหม เป็นอะไรรึเปล่า เด็กส่วนใหญ่เวลาอ้วนขึ้นจะออกทั้งตัว หน้า แขน ขา จะอ้วนขึ้น แต่ถ้าลูกเราอ้วนลงพุง มีแต่พุงที่ใหญ่ขึ้นเหมือนคนท้อง ปกติไหมนะ
อาการส่อว่าไม่ปกติ
โดยปกติแล้ว โรคภััยไข้เจ็บ เป็นของคู่กันกับเด็กๆ วัยเริ่มไปอนุบาล แต่พอเริ่มปรับตัวได้ เด็กๆ จะไม่ป่วยง่ายป่วยบ่อยแล้วนะคะ กลับกันการวางใจว่าไม่น่าเป็นอะไร อาจหมายถึงการสายเกินแก้ของโรคที่ร้ายแรงเช่นกัน อย่างในกรณีนี้
หนุ่มน้อยแมคเคนซี่ วัตสัน วัย 5 ขวบ เริ่มน้ำหนักขึ้น หน้าตาเริ่มอวบอิ่ม พุงเริ่มใหญ่ขึ้น ซึ่งลูกน้ำหนักขึ้นไม่ใช่เรื่องแปลก คุณพ่อคุณแม่ของหนูน้อยคนนี้ก็เช่นกัน อาจจะกินขนมหวานมากไป แต่หลังจาก 11 วันต่อมา คุณพ่อคุณแม่ก็รู้ตัวว่า คิดผิดไปถนัดค่ะ เมื่อต้องรีบรุดไปโรงพยาบาล และพบว่าลูกเป็น Nephrotic syndrome
และตอนนี้หนุ่มน้อยคนนี้ต้องได้รับเคมีบำบัดทุกวัน เพื่อทำลายภูมิคุ้มกันไม่ให้โจมตีไตของตัวเอง เขาไม่สามารถกินอาหารที่มีรสเค็มได้ และต้องจำกัดการดื่มน้ำ และต้องดูแลอาการอย่างใกล้ชิด ตอนนี้ทางครอบครัวของแมคเคนซี่ได้เปิดรับเรี่ยไรเงินสำหรับการรักษาตัวที่ Gofundme เพื่อหวังว่าหนูน้อยจะหายจากอาการค่ะ
โปรตีนรั่วคืออะไร
Nephrotic syndrome หรือกลุ่มอาการไตรั่ว โปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือไข่ขาว
พบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 1-8 ปี แต่ทั้งนี้เกิดได้ทุกช่วงอายุและมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกันไป
สาเหตุของโรค
ในเด็กสาเหตุของโรคยังไม่ชัดเจน แต่พบว่ามีความผิดปกติเพียงเล็กน้อยของ ส่วนระดับการกรองของไต เรียกว่า minimal change disease ที่เหลืออาจจะมีความผิดปกติเป็นผังผืดบางส่วน หรือมีการหนาตัวของผนังการกรองของไต จะมีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากโรคที่ทราบสาเหตุ เช่น SLE การติดเชื้อไวรัส หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยา
โดยหากลงไปดูที่ไตระดับหน่วยการกรองจะพบว่ามีการอักเสบและการทำลายของเส้นเลือดฝอยระดับหน่วยการกรองที่ไตที่เรียกว่า glomerulus การเกิดการอักเสบและการทำลายเส้นเลือดฝอยระดับหน่วยการกรองของไต (glomerulus) ทำให้มีการรั่วของโปรตีนของร่างกาออกมาในปัสสาวะ ที่เรียกว่า Albumin การสูญเสียโปรตีน Albumin ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย ออกไปทำให้เกิดอาการภาวะดังกล่าวข้างต้น และสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามมาได้
อันตรายจากภาวะแทรกซ้อน
- ตัวบวมท้องบวม อวัยวะเพศบวม
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นรวดเร็วอย่างผิดปกติ
- มีน้ำในช่องปอด ช่องท้อง
- ไขมันในเลือดสูง ระยะยาวหากไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ ก็มีผลต่อเส้นเลือดที่หัวใจได้
- เลือดข้นหนืด และเสี่ยงต่อเส้นเลือดอุดตัน
- ติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ง่ายและรุนแรง
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปัสสาวะออกน้อย/ปัสสาวะไม่ออก/ไตวาย
รักษาได้
ในเด็กส่วนมากที่ไม่ทราบสาเหตุ 80% จะมีการตอบสนองดีต่อการรักษา มีเพียง 20% เท่านั้นที่การตอบสนองช้าหรือไม่ดี
- Steroid ถือเป็นยาที่เป็นมาตรฐานในการรักษา และพิจารณาเป็นอันดับแรกในการใช้ ซึ่งมีระยะเวลาการรักษาเป็นเวลาหลายเดือน โดยจะปรับตามการตอบสนองการรักษาและมาตรฐานการรักษาที่กำหนด โดยต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
- ยากดภูมิคุ้มกัน ยากลุ่มนี้จะใช้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ steroid ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือตอบสนองเพียงเล็กน้อย หรือกลับเป็นซ้ำบ่อยครั้งจนไม่สามารถลด steroid ได้ หรือมีผลข้างเคียงจากยาsteroid ค่อนข้างมาก ซึ่งยากลุ่มนี้มีหลายชนิดและราคาค่อนข้างสูง ซึ่งต้องมีการเจาะตรวจชิ้นเนื้อไตร่วมด้วย ก่อนการใช้ยา ตามแต่ชนิดของยาที่พิจารณา
- ยาขับปัสสาวะ มีการใช้ได้ทั้งยาฉีด หรือยากิน ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของโรค แต่มักพิจารณาในผู้ป่วยที่บวมค่อนข้างมาก
- Albumin การให้ albumin ทางเส้นเลือดร่วมกับการให้ยาขับปัสสาวะ ทั้งนี้จะให้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง บวมมาก มีภาวะน้ำเกินในร่างกายมาก และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอันตราย เพื่อให้ผู้ป่วยมาอยู่ในระดับที่ปลอดภัยและใช้ยากินต่อไปได้
- ในกรณีเป็นกลุ่มที่ทราบสาเหตุ ก็จะรักษาตามสาเหตุนั้นไป
- ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากทราบสาเหตุการเกิด จะให้รักษาตามสาเหตุ และควบคุมรักษาโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น ยาอื่นที่พิจารณาก็อาจเป็น ยาลดโปรตีนในปัสสาวะ ยาลดระดับไขมันในเลือด ยาป้องกันการแข็งตัวหรือลิ่มเลือดอุดกั้นผิดปกติ หรือ steroid ก็มีการใช้ตามข้อบ่งชี้
หายขาดไหม
หากทราบสาเหตุ ก็ขึ้นอยู่กับว่าดูแลควบคุมได้ดีแค่ไหน หายขาดได้ หรือประคับประคองให้ดีได้ตามแต่ชนิดและสาเหตุการเกิด แต่ส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งส่วนมากพบในเด็ก ต้องบอกว่า ควบคุมอาการได้ แต่จะมีการกลับเป็นซ้ำได้เป็นระยะ โดยกลุ่มนี้ 50% ในปีแรก จะมีการกลับเป็นซ้ำอยู่แล้ว ตามลักษณะของตัวโรคเอง 80% จะมีการกลับเป็นซ้ำอย่างน้อย 2-3 ครั้งได้ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปพ้นช่วงที่พบโรคนี้ชุก เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นโรคก็จะค่อยเป็นน้อยลงและหายไปเองค่ะ
ที่มา Goodhousekeeping และ สมิติเวช
บทความที่น่าสนใจ
ลูกอ้วน ทำไงดี 10 พฤติกรรมของพ่อแม่ ที่ส่อทำให้ลูกอ้วนได้
ลูกอ้วนจ้ำม่ำแปลว่าสุขภาพแข็งแรง จริงหรือ