สำหรับเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงของฟันน้ำนม (6 เดือน-6 ปี) อายุที่พบอุบัติการณ์บ่อยที่สุดคือช่วงอายุ 2-3 ขวบ ส่วนใหญ่เกิดจากการวิ่งเล่น รองลงมาคืออุบัติเหตุ การถูกทำร้าย และกีฬา
กรณีฟันน้ำนม (primary teeth) ถ้าเกิดขึ้นแล้วต้องแยกเป็นประเด็นดังนี้นะครับ
- ถ้าในกรณีฟันน้ำนมถูกกระแทกแต่ไม่หลุด ส่วนใหญ่เมื่อลูกฟันกระแทก ทันตแพทย์จะตรวจ หรือถ่ายภาพเอกซเรย์ และสังเกตอาการ ว่าไม่มีผลต่อหน่อฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ โดยยังไม่ให้การรักษาใดๆ และกรณีที่เมื่อสังเกตการณ์ไประยะหนึ่งหากฟันมีหนองออกมา หรือฟันเปลี่ยนสี อาจจะพิจารณารักษารากฟันสำหรับเด็ก หรือถอนออกกรณีมีความเสี่ยงต่อการทำอันตรายต่อหน่อฟันแท้ข้างใต้ครับ
- กรณีที่ฟันน้ำนมยื่นออกจากเบ้าฟันบางส่วน แล้วลูกฟันโยกมากอาจจะต้องถอนออก ไม่มีการปลูกฟันกลับเข้าไปสำหรับฟันน้ำนม เพราะการปลูกฟันกลับเข้าไปจะเป็นการทำอันตรายต่อหน่อฟันแท้ที่อยู่ข้างใต้ครับ เช่นเดียวกับ กรณีที่ลูกฟันหลุดมาทั้งซี่ก็ไม่มีการปลูกกลับไปเช่นกัน
สำหรับกรณีที่สงสัยว่าหากถอนฟันไปแล้วจะมีผลอะไรสำหรับเด็กเล็ก โดยส่วนใหญ่บริเวณฟันหน้าจะไม่นิยมทำฟันปลอม หรือเครื่องมือถอดได้มาใส่ทดแทนเว้นแต่เป็นความต้องการของผู้ปกครองจริงๆ ในแง่ของความสวยงามและการออกเสียง เพราะในฟันหน้ามีอัตราการสูญเสียเนื้อที่ (space loss) หรือการที่ฟันแท้จะไม่มีที่ขึ้นน้อยกว่าฟันหลังมาก จึงไม่ค่อยกังวลว่าฟันแท้จะไม่มีที่ขึ้นครับ
กรณีฟันแท้ (permanent teeth) ซึ่งฟันแท้จะเริ่มขึ้นตั้งแต่อายุ 6 ปีเป็นต้นไป
ในฟันแท้เราจะพยายามรักษาฟันไว้ให้ได้มากที่สุด ต่างกับกรณีฟันน้ำนมเมื่อถูกกระแทก
- กรณีฟันแท้ไม่ได้หลุดจากเบ้าฟัน แต่มีรอยแตกหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่ง ให้รีบไปพบทันตแพทย์ เพื่อประเมินอาการทันที ทันตแพทย์จะทำการตรวจ ถ่ายภาพรังสี โดยการรักษาจะมีตั้งแต่สังเกตอาการ อุดฟัน หรือจัดตำแหน่งฟันและยึดฟันกับฟันข้างเคียงไว้ และนัดมารักษาต่อเนื่องเช่นการรักษารากฟัน
- กรณีฟันแท้หลุดออกจากเบ้าฟัน ให้ระลึกและมีสตินะครับ แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้ เมื่อลูกฟันหลุดมาทั้งรากครับ
– เก็บฟันซี่ที่หลุดมา และจับที่ตัวฟัน อย่าจับรากฟันครับ
– หานมจืดเย็นๆ แล้วแช่ฟันในนม ถ้าหาไม่ได้ให้อมไว้ข้างแก้ม แต่ถ้ากลัวลูกกลืน หรือหานมไม่ได้ ให้แช่น้ำสะอาดหรือน้ำเกลือ แต่ห้ามปล่อยให้ฟันแห้งเด็ดขาดนะครับ แล้วรีบมาพบทันตแพทย์ใกล้ๆทันทีและไม่ควรรอเกิน 1 ชั่วโมง จากรายงานถ้าสามารถปลูกถ่ายฟันกลับได้ใน 5 นาที (ใส่ฟันกลับที่ทันที กรณีหลุดแล้วอยู่ในปาก เพราะต้องมั่นใจว่าฟันไม่สกปรก กรณีนี้โอกาสสำเร็จจะสูงที่สุด) แต่อย่างไรก็ตามถ้าปล่อยให้ฟันแห้ง เกิน 60 นาที โอกาสสำเร็จน้อยหรือแทบจะไม่มีเลยครับ เพราะสิ่งสำคัญคือการรักษาเนื้อเยื่อรอบๆ รากฟันไว้ครับ
หากรู้เช่นนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่จะได้สามารถรักษาฟันของลูกได้อย่างถูกต้องนะครับในกรณีเหตุไม่คาดฝันและสิ่งสำคัญคือสติ และหาคลินิกหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านไว้นะครับ
ที่มา ดัดแปลงจาก Guideline on Management of Acute Dental Trauma, American Academy of Pediatric Dentistry (AAPD) V32 No 6 10/11 https://www.aapd.org/media/policies_guidelines/g_trauma.pdf
สนับสนุนบทความโดย คลินิกทันตกรรมเด็นทัลบลิส
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ดูแลฟันลูกน้อยด้วยเคล็ดลับจากคุณแม่หมอฟัน