ผู้ปกครองหลายคนอาจเคยได้ยินอาการที่ทารกร้องงอแงตอนกลางคืนอย่างไม่ทราบสาเหตุ โดยทั่วไปในทางการแพทย์เชื่อว่าเป็นเพราะอาการป่วย หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ไปจนถึงสภาพแวดล้อมในการนอน กรดไหลย้อนในทารก ทำให้ทารกเป็นโคลิค เพราะนอกจากจะทำให้ทารกมีอาการโคลิคแล้ว ยังทำให้ทารกกินนมได้น้อย เสี่ยงต่อพัฒนาการที่ไม่ดีอีกด้วย
กรดไหลย้อนในทารก ทำให้ทารกเป็นโคลิค
กรดไหลย้อนในเด็กเล็ก (Gastoesophageal reflux disease) หรือ “โรคเกิร์ด (GERD)” อาการเหมือนกรดไหลย้อนในผู้ใหญ่ นั่นคือกรดที่อยู่ในกระเพาะอาหาร ไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร ซึ่งทำให้อาเจียน มีปัญหาด้านการหายใจ และน้ำหนักลดลง สาเหตุของปัญหาคือ ระบบย่อยอาหารของเด็ก ๆ ยังไม่สมบูรณ์ดี การทำงานจึงยังทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อาการนี้เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในทารกอายุ 3 – 4 เดือน เป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการโคลิค ซึ่งโดยส่วนใหญ่อาการนี้ของทารกจะดีขึ้นเมื่ออายุ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงอายุ 1 ปี
การเกิดกรดไหลย้อนในทารก ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าที่คิด เนื่องจากทำให้ทารกไม่สบายตัว มีปัญหาต่อการกินนม ซึ่งช่วงอายุ 6 เดือนแรก หากทารกเป็นกรดไหลย้อน จะยิ่งกินนมแม่ได้น้อย ส่งผลต่อพัฒนาการได้โดยตรง ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ คือ การคอยเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติของทารกน้อย ว่ามีอาการที่สุ่มเสี่ยงหรือไม่
บทความที่เกี่ยวข้อง : 10 ที่นอนกันกรดไหลย้อน สำหรับทารกน้อย ช่วยให้ลูกน้อยไม่สะดุ้งตื่นหรือแหวะนม
วิดีโอจาก : พี่กัลนมแม่ Pekannommae mother and child care
สาเหตุที่ทำให้ทารกเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน
อาการกรดไหลย้อนเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งความผิดปกติ หรือโรคร้ายที่ทารกกำลังเป็น ไปจนถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างท่านอน หรือการให้นมมาก ดังนี้
- ทารกถูกจับให้อยู่ในท่านอนแทบจะตลอดเวลา มีโอกาสได้นั่ง หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยมาก
- เกิดจากการที่ทารกกินอาหารชนิดเหลวมากเกินไป ซึ่งก็เลี่ยงได้ยากในทารกที่กินนมแม่ ดังนั้นต้องสังเกตให้เป็นว่าทารกอิ่มนมตอนไหน แสดงท่าทีอย่างไรเมื่ออิ่มนม
- เกิดจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด โดยเฉพาะควันจากบุหรี่จากคนใกล้ตัว หรือจากบุคคลอื่น เป็นต้น
- เป็นผลกระทบจากการคลอดก่อนกำหนด หรือทารกอาจเป็นโรคร้ายบางชนิด เช่น โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) หรือดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) เป็นต้น
อาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน
ทารกที่มีความเสี่ยงนี้ อยู่ในช่วงอายุที่ไม่สามารถสื่อสารได้โดยตรง ผู้ปกครองจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าทารกกำลังเป็นอะไร เพราะทุกอย่างจะออกมาผ่านการร้องงอแงแทบทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อความชัดเจน นอกจากลูกมีการร้องโคลิคบ่อย ๆ แล้ว หากมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย แสดงว่าลูกเป็นกรดไหลย้อนแล้วละ
- มีสีหน้าและท่าทางที่เจ็บปวด ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงกลางดึก
- มีการแหวะ สำรอก หรืออาเจียน หลังมื้อนม
- ทารกจะกินนมมากแค่ไหนก็ตาม แต่น้ำหนักตัวของทารกจะไม่เพิ่มขึ้นเลย
- ทารกมีอาการเรอ ร่วมกับอาการอาเจียน
- มีการงอ หรือขดตัวหลังจากมื้อนม
- เป็นหวัดบ่อย มีการติดเชื้อบริเวณหน้าอก หรือทางเดินหายใจ
- เมื่อทารกหายใจ จะมีเสียงดังหวีดออกมา
หากผู้ปกครองพบความเสี่ยงของอาการตามที่เราได้กล่าวมา ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยสาเหตุที่ทำให้มีอาการ และรับการรักษา การดูแลที่ถูกต้อง เพื่อให้ทารกสามารถกลับมามีอาการปกติ สามารถกินนมแม่ได้อย่างสะดวกอีกครั้ง
การรักษากรดไหลย้อนในทารก
ก่อนอื่นคือควรพาลูกไปตรวจวินิจฉัยว่าเป็นกรดไหลย้อนหรือไม่ กุมารแพทย์อาจจะจ่ายยา Zantac หรือยาที่ใกล้เคียงกันมาให้ โดยยาเหล่านี้จะไปเคลือบกระเพาะจากความเสียหายจากกรด และลดการระคายเคืองลง แต่โดยธรรมชาติแล้วอาจจะหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องยารักษาใด ๆ
การจ่ายยาจะเกิดขึ้นในกรณีที่ทารกมีอาการหนักรุนแรง เช่น อาเจียนเป็นเลือด, โรคหอบหืดกำเริบ, ปอดบวม หรือน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นต้น ตัวยาที่ห้ามใช้คือ Mylanta หรือ Maalox เนื่องจากมีอะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายได้ เมื่อใช้มากกว่าหนึ่งเดือนขึ้นไป
ทำอย่างไรเมื่อลูกเป็นกรดไหลย้อน
สิ่งที่ต้องรู้เป็นอันดับแรก คือ การปรับเปลี่ยนท่าทางของทารก ที่ไม่ควรให้นอนตลอดเวลา โดยให้ผู้ปกครองอุ้มประคอง หรือให้ลูกนอนเอนเป็นมุม 30 องศา เป็นเวลา 30 นาที ห้ามไม่ให้นอนราบ ควรทำหลังจากทารกกินนมทุกมื้อ และเวลานอนหลับปกติก็เช่นกัน นอกจากวิธีนี้แล้ว ยังมีวิธีรับมือกรดไหลย้อนในทารกอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น
- อาจจะใช้หมอนธรรมดา หรือที่นอนกันกรดไหลย้อนสำหรับจัดท่าให้ลูกนอนราบเอียง 30 องศาก็ได้เหมือนกัน
- แบ่งมื้อนมเป็นมื้อย่อย ๆ ป้อนนมทีละน้อย ๆ มากกว่าให้กินนมทีละมาก ๆ จะดีต่อกระเพาะทารกมากกว่า
- พยายามให้ทารกกินนมแม่เป็นปกติ เนื่องจากมีผลงานวิจัยว่าเด็กที่กินนมแม่จะเป็นกรดไหลย้อนน้อยกว่าเด็กที่กินนมผง หากมีปัญหาด้านการให้นม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำ
- จับลูกเรอทั้งก่อน และหลังกินนม โดยให้จับลูกนั่งท่าตัวตรง และลูบหลังของลูกเบา ๆ
- พยายามคอยดูแลไม่ให้ลูกร้องไห้บ่อย ๆ เนื่องจากกรดจะไหลย้อนมากขึ้นหากร้องไห้
- ดูแลสภาพแวดล้อมให้สะอาดปลอดภัย โดยเฉพาะควันบุหรี่ ไม่ควรมีคนสูบบุหรี่ในพื้นที่ใกล้เคียงทารก
แม้อาการโดยทั่วไป หากดูแลทารกได้อย่างถูกวิธีจะสามารถหายไปได้เอง เพราะอาการนี้อาจพบเจอได้บ่อย แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้โดยไม่พบแพทย์ เพราะยังมีกลุ่มอาการหนักที่น่าเป็นห่วง หากทารกมีอาการผิดปกติก็ควรพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะปลอดภัยที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ขวดนม ช่วยแก้อาการโคลิคของลูกน้อยได้หรือไม่ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยที่สุด ?
10 ขวดนมป้องกันโคลิคที่ดีที่สุด เพื่อการดูแลลูกน้อย หลับสบายไม่งอแง
สิ่งที่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยง และไม่ควรทำเมื่อ เด็กมีอาการโคลิค
ที่มา : nationwidechildrens, rama.mahidol, samitivejhospitals