ลูกตาบวม ตัวบวม ต้องสงสัยโรคไตในเด็ก
ลูกตาบวม ตัวบวม ต้องสงสัยโรคไตในเด็ก …น้องฟ้า (นามสมมติ) อายุ 5 ปี ปรึกษาหมอ พร้อมกับคุณแม่ด้วยอาการตาบวมทั้งสองข้าง และยังมีอาการบวมทั่วตัว ปัสสาวะมีฟองเยอะ เมื่อได้รับการซักถามประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย และส่งตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ ก็ทราบได้ว่าน้องฟ้ามีอาการบวมจาก “กลุ่มอาการเนโฟรติก” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตในเด็ก
กลุ่มอาการเนโฟรติกคืออะไร?
กลุ่มอาการเนโฟรติก (Nephrotic syndrome) บางครั้งอาจเรียกว่า โรคไตรั่ว หรือ กลุ่มอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เป็นโรคไตในเด็กที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยโรคนี้จะมีการสูญเสียโปรตีนชนิด albumin ไปทางปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการหนังตาบวม และบวมไปทั้งตัว โดยจะมีอาการบวมๆยุบๆ ที่หนังตาบน ขาบวม ท้องบวม หรือบวมทั้งตัว มักมีปัสสาวะเป็นฟองร่วมด้วย
กลุ่มอาการเนโฟรติกเกิดขึ้นจากอะไร?
กลุ่มอาการนี้อาจไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด อันทำให้เกิดความผิดปกติที่ไตเอง (primary nephrotic syndrome) หรือมีโรคบางอย่างอันเป็นสาเหตุที่ทำให้ไตถูกทำลาย ( secondary nephrotic syndrome) เช่น การติดเชื้อ ยา สารพิษ โลหะหนักต่างๆ ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรค SLE เป็นต้น
โดยมีพยาธิสภาพคือ การอักเสบและการทำลายของเส้นเลือดฝอยระดับหน่วยการกรองที่ไตที่เรียกว่า glomerulus ทำให้เกิดการรั่วของโปรตีน ชื่อ albumin ออกมาทางปัสสาวะ จึงเกิดอาการบวมและภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง
กลุ่มอาการเนโฟรติกในเด็ก มักจะไม่ทราบสาเหตุการเกิดอย่างชัดเจน
คุณหมอจะวินิจฉัยกลุ่มอาการเนโฟรติกได้อย่างไร?
กลุ่มอาการนี้สามารถวินิจฉัยได้ จากอาการบวมที่หนังตา หรือตัวบวมทั้งตัว มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะตามปริมาณที่กำหนด ร่วมกับมีระดับโปรตีนในเลือดต่ำ (serum albumin < 2.5 mg/dl) และมีระดับไขมันคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง (serum cholesterol > 250 mg/dl) และอาจมีอาการของภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างตามมาได้ เช่น มีน้ำในช่องปอด ช่องท้อง ติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ง่ายและรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะออกน้อย หรือปัสสาวะไม่ออก จนถึงขั้นไตวายได้ หากไม่ได้รับการรักษา
การรักษากลุ่มอาการเนโฟรติกทำได้อย่างไร?
เมื่อทราบว่าเป็นโรคนี้ คุณหมอจะให้การรักษาด้วยยา steroid ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับเป็นเวลาหลายเดือน มีการปรับตามการตอบสนองการรักษา หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ steroid ตามระยะเวลาที่กำหนด หรือกลับเป็นซ้ำบ่อยครั้งจนไม่สามารถลด steroid ได้ หรือมีผลข้างเคียงจากยา steroid ค่อนข้างมาก คุณหมอจะพิจารณารักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน เพิ่มเติม นอกจากนี้หากมีอาการบวมมากคุณหมอก็จะให้ ยาขับปัสสาวะ และหากมีอาการบวมรุนแรงมาก หรือมีภาวะน้ำเกินในร่างกายมาก และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนอันตราย คุณหมอจะพิจารณาให้ albumin ทางเส้นเลือดคู่กับยาขับปัสสาวะ
ทั้งนี้ หากทราบสาเหตุของกลุ่มอาการเนโฟรติก คุณหมอก็จะให้การรักษาที่สาเหตุด้วย
หากทราบว่าลูกมีอาการบวมจากกลุ่มอาการเนโฟรติก ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?
เด็กที่เป็นโรคนี้ คุณหมอจะแนะนำให้รับประทานอาหารทีมีโปรตีน เช่น ไข่ นม เนื้อสัตว์ ให้เพียงพอ งดอาหารเค็มจัดซึ่งมีเกลือโซเดียมปริมาณสูง และเฝ้าระวังการติดเชื้อซึ่งทำให้โรคกำเริบได้ จึงควรรักษาสุขภาพ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ในช่วงที่โรคสงบดี
- ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ถ้ามีอาการบวม
- สิ่งที่สำคัญมากสำหรับโรคนี้คือ การทานยาตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด
- ห้ามลดหรือหยุดยาเองโดยเด็ดขาด และมาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กุมารแพทย์แนะขั้นตอน 5 “S“ สเต๊ปโอ๋ลูก ทําให้ทารกหยุดร้อง ในทันที
แพ้น้ำลาย ผื่นรอบปากทารกวัยเล่นน้ำลาย จากการระคายเคือง