การที่ลูกของเรานั้น ชอบแย่งของเล่นกันเป็นเรื่องปกติของเด็กในแต่ละช่วงวัย ซึ่งแต่ละช่วงวัยก็จะมีพัฒนาการการเล่นของเล่นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่งผลทำให้พฤติกรรมการเล่นของเล่นนั้นแตกต่างกันออกไปด้วย วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า พัฒนาการการเล่นของเด็กแต่ละวัยมีอะไรบ้าง และถ้าหาก ลูกชอบแย่งของเล่นกัน เรานั้นควรจัดการอย่างไร?
พัฒนาการการเล่นของเด็กแต่ละวัย เป็นอย่างไรบ้าง?
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่อธิบายเกี่ยวกับขั้นตอนของการเล่นของเด็กเล็กไว้ว่า การเล่นของเด็กทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะทำความรู้จักเพื่อน เด็กได้มีการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมอง มีทักษะทางสังคมที่ดี โดยพัฒนาการเล่นของเด็กแต่ละวัยมี 5 ขั้นตอน ได้แก่
1. เล่นคนเดียว (Solitary Play)
การเล่นคนเดียว เล่นแบบโดดเดี่ยว เป็นรูปแบบการเล่นในระยะแรกสุดของเด็กในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ขวบ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ไม่ต้องแปลกใจนะคะว่าทำไมลูกน้องถึงนั่งเล่นอะไรคนเดียวได้อย่างสนุกสนาน ไม่มีเบื่อ ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะพยายามเข้าไปเล่นกับลูก หรือให้เล่นกับเด็กๆ คนอื่น โดยเหตุผลที่เด็กวัยนี้ชอบเล่นคนเดียวก็เพราะว่า เด็กมีความสนใจต่อสิ่งรอบตัวมากเกินไปและต้องการสำรวจสิ่งนั้นๆ หากพ่อแม่สังเกตดีๆ จะเห็นว่าลูกชอบทำเสียงแปลกๆ หรือเสียงเลียนแบบขณะที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ สำหรับในช่วงนี้แนะนำให้พ่อแม่เล่นกับลูกบ่อยๆ นะคะ
2. ดูคนอื่นเล่น (Spectator Play)
เมื่อลูกอายุได้ประมาณ 2 ขวบ ถึง 2 ขวบครึ่ง จะเห็นว่าเด็กจะเริ่มมีพัฒนาการเล่นที่เปลี่ยนไปไม่เล่นคนเดียวแล้ว แต่จะชอบดูผู้อื่นเล่นมากกว่า ในวัยนี้เขาจะคอยสังเกตว่าคนอื่นเขาทำอะไรกัน เล่นอะไรกันบ้าง คุยอะไรกันนะ ถ้าพ่อแม่เห็นว่าลูกนั่งดูพี่ๆ เล่นก็ไม่ต้องบังคับให้น้องเข้าไปเล่นกับพี่ๆ นะคะ เพราะเด็กแค่ต้องการดูอยู่ห่างๆ ไม่ได้ต้องการเข้าร่วมแต่อย่างใด แต่ก็อาจมีการส่งเสียงบ้าง ชี้นู้นนี่บ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กค่ะ
บทความที่น่าสนใจ : อาการวัยทอง 2 ขวบ ปัญหาในเด็กที่พ่อแม่ควรรู้ และวิธีการรับมือ
3. เล่นแบบขนาน (Parallel Play)
พอมาถึงช่วงวัยอายุตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ไปจนถึง 3 ขวบ ลูกจะเริ่มเข้าไปใกล้ๆ กับเด็กคนอื่น ไปนั่งเล่นใกล้ๆ กับเด็กคนอื่น ถ้าคุณมีลูกสองคนจะเห็นได้ชัดว่าลูกคนเล็กจะเข้าไปนั่งใกล้ลูกคนโต พอเห็นพี่หยิบอะไรก็อยากจะหยิบมาเล่นตาม หรือบางครั้งก็เกิดอาการยื้อแย่งกันก็มี จนทำให้เด็กเกิดการทะเลาะกันนั่นเองค่ะ ในกรณีที่เด็กวัยเดียวกัน เด็กก็จะมีพฤติกรรมคล้ายๆ กัน คือ นั่งเล่นข้างกัน แต่ไม่คุยกันก็มี ซึ่งเป็นเรื่องปกติของเด็กพ่อแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ
หากลูกทะเลาะกันบ่อยๆ เพราะแย่งของเล่นกัน พ่อแม่ควรทำอย่างไร
- พ่อแม่อาจจะต้องคอยบอกให้ลูกแบ่งกันเล่นของ สลับกันเล่นบ้าง และอาจมีการตั้งกฎกติกา เช่น ถ้าลูกเล่นของไม่แบ่งกันแล้วเกิดพังขึ้นมาลูกจะไม่มีของเล่นอีกนะ หรือถ้าลูกยังแย่งของเล่นกันอีกจะไม่ให้ของกินที่ชอบอีกแล้วนะ
- ควรสอนให้ลูกรู้จัก “ขอ” เช่น “ขอเล่นหน่อยนะ” “ขอลองถือหน่อย” และเมื่อน้องได้ของแล้วอาจสอนให้น้องรู้จัก “ขอบคุณ” ด้วย
- สอนให้น้องรู้จัก “รอ” โดยบอกว่า “รอให้พี่เล่นก่อนนะ”
แต่เหตุการณ์นี้อาจจะวนมาเป็นประจำทุกวัน พ่อแม่เตรียมรับมือได้เลยค่ะ
4. เล่นแบบเชื่อมโยง (Associate Play)
การเล่นแบบเชื่อมโยงนี้จะเกิดขึ้นในช่วงวัย 3 ขวบ จนถึง 4 ขวบค่ะ พ่อแม่อาจจะเริ่มเห็นน้อยเริ่มขยับตัวเข้าไปใกล้ๆ กับเพื่อนๆ หรือ พี่ๆ น้องๆ เพื่อต้องการเข้าไปเล่นด้วย ซึ่งเด็กในวัยนี้แค่เข้าไปเล่นด้วยนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้นค่ะ จากนั้นเขาก็จะแยกตัวออกมาเล่นคนเดียวสักพัก แล้วก็กลับไปเล่นกับเพื่อนอีกซึ่งเป็นวิธีการเล่นของเด็กในวัยนี้ค่ะ หรือเกิดการเลียนแบบการเล่นที่คล้ายๆ กัน เวลาให้คนอื่นทำก็เกิดการเลียนแบบอยากทำแบบนั้นบ้าง ดังนั้น ช่วงนี้คือโอกาสทองที่พ่อแม่จะสอนลูกในเรื่องของการแบ่งปัน การรอคอยตามคิว การเสียสละค่ะ เพราะเด็กจะเลียนแบบตาม
5. เล่นแบบมีส่วนร่วม (Cooperative Play)
มาถึงอีกช่วงวัย คือ วัย 4 ขวบขึ้นไป เด็กวัยนี้เป็นวัยที่พร้อมจะเล่นกับเด็กคนอื่นๆ มากที่สุด และมักจะเกิดการขัดแย้ง การทะเลาะเบาะแว้งกันบ่อยๆ เพราะเด็กมักเกิดการเล่นแบบรวมกลุ่ม การเล่นแบบนี้จำเป็นต้องมีผู้นำ มีกฎกติกาที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งอาจทำให้เด็กตกลงกันไม่ได้และเกิดการทะเลาะกันในที่สุด หากพ่อแม่เห็นว่าลูกเริ่มมีปากเสียงกับเพื่อนให้ลองดูอยู่ห่างๆ ก่อน ดูว่าลูกจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ถ้าเห็นแล้วว่าปัญหาน่าจะบานปลายให้รีบเข้าไปจัดการโดยด่วนค่ะ
บทความที่น่าสนใจ : จิตวิทยาเบื้องหลังของเล่นชิ้นโปรดของลูก ลูกแต่ละช่วงอายุควรเล่นอะไร?
ลูกชอบแย่งของเล่นกัน พ่อแม่ควรทำยังไง
ลูกชอบแย่งของเล่นกัน เป็นพฤติกรรมในช่วงวัยหนึ่งของเด็กค่ะ ส่วนใหญ่เกิดจากการเล่นนั่นเอง การเล่นของเด็กเป็นหนึ่งในพัฒนาการทางด้านสังคมและการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งทักษะการเข้าสังคมเชิงบวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องควรให้ความสำคัญ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะหล่อหลอมให้เด็กกลายเป็นคนเช่นไรก็สามารถเริ่มต้นได้จากการเล่นค่ะ เช่น ถ้าเด็กไม่ยอมเล่นกับคนอื่น ไม่ยอมเข้าสังคม ก็จะทำให้เด็กคนนั้นกลายเป็นคนที่ไม่ยอมรับความผิดต่อการกระทำของตนเอง และมีปัญหาไม่ยอมเคารพตามกฎและระเบียบที่วางเอาไว้ ทั้งยังขาดความมั่นใจ ควบคุมตัวเองไม่ได้ และปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ยากนั่นเอง โดยถ้าหากลูกของคุณชอบแย่งของเล่นกัน คุณจะต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้
-
จับตาดูพฤติกรรมของพวกเขาไว้ให้ดี
ปกติของเด็กที่ชอบทะเลาะกันแย่งของเล่นพวกเขามักจะเริ่มต้นจากการดึง ยื้อแย่ง จนไปถึงการกัด ต่อย หรือดึงผม ซึ่งนั้นเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นคุณควรจับตาพวกเขาไว้ให้ดี หากพวกเขามีพฤติกรรมดังกล่าวจะต้องรีบจับแยกทันที
-
ซื้อของเล่น 2 ชิ้น
อาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแต่สามารถใช้ได้จริงสำหรับพี่น้องที่ชอบแย่งของเล่นชิ้นเดียวกัน และจะไม่ยอมให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายถือครองของเล่นเด็ดขาด ดังนั้นการแยกของเล่นคนละชิ้น เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุด
-
สอนพวกเขาเรื่องของการแบ่งปัน
อาจเป็นเรื่องยากสำหรับการที่คุณจะสอนให้เด็กที่อยู่ในวัยพัฒนาด้านการเข้าสังคม หรือเด็กในวัยหัดเดินนั้นแบ่งปันสิ่งของให้กับคนอื่น ซึ่งแน่นอนว่าการสอนเรื่องของการแบ่งปันจะไม่มีทางสำเร็จในครั้งแรกเด็ดขาด แต่ถ้าหากพวกเขาได้รับการสอนที่ถูกต้อง โดยไม่มีการขู่ ตี หรือการทำร้ายร่างกายจากผู้ปกครองนั้นก็อาจจะสามารถช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบไหนถึงจะถูกต้องและเหมาะสม
-
ฝึกให้พวกเขารู้ว่าเป็นรอบการเล่นของใคร
การแบ่งเวลาในการเล่นของเล่นนั้นก็สามารถนำมาใช้ได้กับเด็กในวัยที่ไม่โตมานักเพื่อตัดปัญหาการทะเลาะกันระหว่างพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกัน โดยคุณอาจให้พวกเขาสังเกตเลขบนนาฬิกา เพื่อเป็นการบอกพวกเขาว่าเวลานี้เป็นการเล่นของใคร
ลูกบ้านไหนชอบแย่งของเล่นกันบ้างคะ หรือว่าลูกของคุณมีพฤติกรรมแย่งของเล่นเด็กคนอื่นหรือเปล่า สุดท้ายแล้วการแย่งของ หรือการแบ่งปันนั้นเป็นไปตามช่วงวัยของเด็ก ๆ หากคุณเข้าใจว่าช่วงอายุของพวกเขาเป็นช่วงของการพัฒนาการด้านต่าง ๆ คุณก็จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าทำไมพวกเขาจึงมีพฤติกรรมแบบนั้น ดังนั้นในบางครั้งที่ลูกของคุณอาจจะงอแงไปบ้าง ก็ขอให้เข้าใจพวกเขาด้วยนะคะ
บทความอื่นๆ ที่สำคัญ:
ลูกชอบเล่นมอมแมม มีดีกว่าที่คิด พ่อแม่ควรปล่อยให้ลูกเลอะเทอะบ้าง
กิจกรรมเล่นกับลูกให้ฉลาด กระตุ้นพัฒนาการทารก วิธีเสริมพัฒนาการลูกน้อยวัยทารก เล่นกับลูกให้ฉลาด
กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็ก วัย 6-18 เดือน จากฮาวาร์ด พ่อแม่ควรเล่นกับลูกอย่างไร
ที่มา: healthfully, 2