พัฒนาการของเจ้าตัวเล็กหลังจากคลานได้และเดินได้ กริยาต่อไปคือปีนที่สูง ความสนุกของลูกจะเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่เริ่มแข็งแรง จากที่เคยเห็นนิ่ง ๆ อยู่ไม่กี่เดือนก่อนก็จะเห็น ลูกชอบปีนป่าย กลายเป็นจอมซนที่ทำเอาพ่อแม่ต้องคอยดูแลแล้วล่ะ
ลูกชอบปีนป่าย ไต่ “บันไดบ้าน” คือสนามฝึกแรกของชีวิต
บันไดนี่แหละตัวดีเลยใช้ม๊า เผลอนิดเดียวลูกก็อยู่หน้าบันไดแล้ว หันไปอีกแว่บเดียวก็ปีนขึ้นขั้นที่สองที่สามไปได้ง่าย ๆ แต่คุณพ่อคุณแม่รู้มั้ยค่ะว่า จริง ๆ แล้วลูกสามารถคลานขึ้นที่สูงตั้งแต่ยังเดินไม่ได้ด้วยซ้ำ สำหรับพ่อแม่ที่ขี้กลัวก็จะคอยเดินตามอุ้มลง หรือรีบดุก่อนที่ลูกจะเดินไปถึงอีก และเพื่อความสบายใจที่จะไม่ทำให้ลูกน้อยเกิดอุบัติเหตุก็จะทำประตูกั้นไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งนั้น การให้ลูกได้ปีนป่ายโดยอยู่ในสายตาของพ่อแม่จะช่วยเสริมพัฒนาการลูกได้อีกหลาย ๆ ขั้น และ “บันได” ที่บ้าน ก็จะเป็นสนามฝึกแรก ๆ ของชีวิตเด็กน้อยได้
อ่านเพิ่มเติม : เทคนิคปกป้องลูกให้ปลอดภัยเมื่อเริ่มเดิน
#การปีนเป็นกริยาที่ฝึกการประสานมือ-สายตาที่ดีมาก
ในขณะที่ลูกปีนทำให้สมองส่วนที่ควบคุมมือและนิ้วมือ สมองส่วนที่ควบคุมเท้าและนิ้วเท้า สมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาทั้งหมดพัฒนาได้อย่างดี และมีการทำงานสอดคล้องกับการทำงานของสายตา คือการกะระยะที่แม่นยำ ดีกว่านั้นคือจะช่วยให้ลูกทรงตัวได้ดีขึ้น
#การปีนช่วยเพิ่มเซลฟ์เอสตีม (self-esteem) ให้ลูกได้อย่างดี
คือการทำให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเองที่สามารถทำได้จากคำชมเชยของพ่อแม่ “หนูขึ้นได้ เก่งจังเลยลูก” เมื่อลูกหันไปก็เห็นคุณแม่ยิ้มให้ ทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่สร้างให้ลูกได้โดยเฉพาะในสามขวบปีแรก เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกรักตัวเอง ดูแลตัวเอง ควบคุมตัวเอง มองเห็นคุณค่าและมีความมั่นใจ ที่จะเป็นการพัฒนาตัวตนได้ดีต่อเนื่องไปในอนาคต
#การปีนช่วยเพิ่ม EF (Executive Function)
คือการพัฒนาสมองส่วนหน้าของลูกเกี่ยวกับวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น ความจำใช้งาน การควบคุมตนเอง ที่เป็นความสามารถของสมองที่ใช้บริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ได้ เมื่อมีครบทุกองค์ประกอบ ก็มั่นใจได้ว่าสมองส่วน EF จะมีการพัฒนาทักษะได้ดีไปในทุกช่วงวัย
ปีนป่ายแบบนี่อย่ามองแค่ลูกซน มีดียังไง อ่านต่อหน้าถัดไปนะคะ >>
#การปีนป่ายช่วยใช้ความสามารถควบคุมตนเอง
การคลานปีนบันไดเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ลูกรู้จักควบคุมตนเองได้ มีองค์ประกอบคือ ตั้งใจจดจ่อ ไม่วอกแวก และความพยายามอดทนที่จะมีความสุขเมื่อไปถึงยอด และเมื่อโตขึ้นยิ่งปีนในสิ่งที่สูงขึ้น ความสามารถในการควบคุมตนเองจะมีมากขึ้น ทั้งนี้ก็ควรอยู่ในการดูแลความปลอดภัยของพ่อแม่เป็นหลักด้วย
#การปีนช่วยบริหารความจำ
เมื่อเริ่มปีนเด็ก ๆ จะเรียนรู้ว่า เท้าต้องลงน้ำหนักอย่างไรทั้งขวาและซ้าย ตาควรจับจ้องที่ไหน และมืออะไรที่ต้องยื่นไปตำแหน่งไหนเพื่อให้เกิดความมั่นคง ลูกจะเรียนรู้จากการกระทำ และทำให้สมองส่วนความจำได้ใช้งานจากการถูกกระตุ้นบ่อย ๆ ซึ่งก็จะส่วนที่เสริมพัฒนาการให้ลูกดีไปด้วยนั่นเอง
#การปีนช่วยในการคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น
ไม่ใช่เแค่คำนวณการวางมือเท้า แต่ลูกจะต้องคิดวิเคราะห์กำลังของตนเองและคำนวณความยืดหยุ่นของตัวเองมากพอที่จะออกกำลังในการขึ้นบันไดไปเรื่อย ๆ มีกระบวนการคิดเรื่องการผ่อนหนักเบา หรือหยุดพักตามขั้นบันได แล้วก็ลุกขึ้นไปต่อ
#การปีนช่วยทำให้ใช้ประสาทสัมผัสได้รอบทิศทาง
ไม่ว่าจะเป็น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส แม้กระทั่งอาจจะได้กลิ่นและลิ้มรส ได้ใช้สมองบริหารความจำ ซึ่งเมื่อเด็กเติบโตขึ้นการใช้กิจกรรมปีนป่าย เช่น ตาข่ายภายในสนามเด็กเล่น ต้นไม้ใหญ่ จะเป็นการเพิ่มสถานการณ์ท้าทายและการคิดซับซ้อนที่จะช่วยพัฒนาการสมองได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การปีนป่ายที่ลูกชอบจะเป็นกิจกรรมที่เสริมศักยภาพ พัฒนาการของลูกได้อีกวิธีหนึ่ง แต่ทั้งนี้ยิ่งลูกโตขึ้นการปล่อยให้ลูกขึ้นที่สูงก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มากขึ้น ดังนั้นการเล่นปีนป่ายของลูกควรเล่นในอุปกรณ์ที่ปลอดภัยหรืออยู่ภายใต้การดูแลความปลอดภัยของพ่อแม่ จึงมีความสำคัญมากกว่าการปล่อยให้ลูกขึ้นบันได หรือปีนป่ายเพียงลำพังนะคะ.
ที่มา : เพจนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
ลูกขา..อย่านั่งขาแบะ ลูกชอบนั่งท่า W ดูชิลๆก็จริง แต่มันแย่กว่าที่คิด!!
ลูกชอบเล่นแรงๆ หาทางออกอย่างไรให้นุ่มนวลขึ้น