ลูกชอบดูดนิ้ว ส่งผลร้ายแค่ไหน ปกติไหม
จริงๆแล้วลูกน้อยเริ่มดูดนิ้วตัวเองตั้งแต่อายุได้ 15 สัปดาห์ในครรภ์ และเมื่อคลอดออกมาแล้วมักจะเริ่มดูดนิ้วตัวเองเมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือน โดยคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่าในช่วงนี้หากลูกเอื้อมมือคว้าอะไรได้ก็มักจะนำเข้าปากทันที ซึ่งพฤติกรรมที่ ลูกชอบดูดนิ้ว แบบนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ตามปกติของเด็ก และไม่เพียงแต่นิ้วมือเท่านั้น แต่เด็กหลายคนยังถึงกับดูดนิ้วเท้าด้วยเลยนะครับ
นอกจากเรื่องของพัฒนาการแล้ว เด็กบางคนก็ดูดนิ้วเวลาที่คนรอบตัวพูดด้วย เล่นด้วย ดุว่า หรือล้อเลียน เพื่อเรียกร้องให้พ่อแม่หรือคนรอบตัวสนใจนั่นเอง
ลูกชอบดูดนิ้วมากไปไม่ดีนะ
การที่ลูกชอบดูดนิ้ว ถึงแม้จะเป็นกระบวนการที่ลูกใช้สำรวจร่างกายของตัวเองตามปกติก็ตาม แต่ก็ควรเป็นไปอย่างเหมาะสมนะครับ คืออาจจะยอมให้ลูกดูดนิ้วได้บ้าง แต่ไม่ควรให้ดูดตลอด หรือไม่พยายามแก้ไขเลย เพราะการที่ลูกชอบดูดนิ้วบ่อยๆนั้น อาจส่งผลเสียได้ เช่น
- ทำให้โครงสร้างของฟันผิดปกติ เช่นอาจทำให้ฟันยื่น หรือฟันเหยิน โดยเฉพาะในเด็กที่ดูดนิ้วจนอายุเกิน 4 ปีขึ้นไป
- ทำให้เล็บขบ และทำให้ข้อนิ้วมีความผิดปกติซึ่งอาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด
- ลูกอาจได้รับสารพิษ หรือมีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไปในช่องปาก ผ่านการดูดนิ้ว เพราะเด็กมักจะใช้มือจับสิ่งของต่างๆที่ไม่สะอาดมากมาย
- ส่งผลเสียทางใจต่อเด็กในอนาคต เพราะจะทำให้ถูกมองว่าไม่รู้จักโต ถูกเพื่อนๆล้อ หรือถูกพ่อแม่ดุว่า
วิธีช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้ว
เด็กแต่ละคนนั้นจะใช้เวลาในการเลิกดูดนิ้วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณพ่อคุณแม่จะทำอย่างไรที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้มากที่สุด บางท่านก็ว่าให้เอาบอระเพ็ดป้ายนิ้ว บ้างก็ว่าได้ผล บ้างก็ว่าไม่ได้ผล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังด้วยนะครับ เพราะทุกอย่างที่จะเข้าไปในปากลูกนั้นต้องแน่ใจว่าสะอาดปลอดภัย ไม่มีอาการแพ้ เรามาดูวิธีอื่นๆที่จะช่วยให้ลูกเลิกดูดนิ้วแบบง่ายๆกันครับ
- หากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ หรือหากิจกรรมที่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของลูกได้อย่างเช่น ให้ลูกช่วยถือหนังสือนิทานแล้วให้คุณพ่อคุณแม่อ่านให้ฟัง หรือหาของเล่นที่กดแล้วมีเสียงให้ลูกเล่น
- ชมเมื่อลูกไม่ดูดนิ้ว เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่สนใจเขาเมื่อไม่ดูดนิ้ว
- อย่าดุลูกเวลาที่เขาดูดนิ้วต่อหน้าคน เพราะอาจทำให้ลูกเครียด เกร็ง และอาจทำให้ดูดนิ้วบ่อยกว่าเดิมได้ครับ
- หมั่นตัดเล็บลูกให้สั้น และล้างมือลูกให้สะอาดอยู่เสมอ
เลิกดูดนิ้ว แล้วกลับมาดูดใหม่
เด็กที่เลิกดูดนิ้วแล้วกลับมาดูดใหม่แบบนี้ไม่ใช่เป็นการดูดตามพัฒนาการแล้วครับ และจะส่งผลเสียต่อเด็กได้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องลองสังเกตและหาสาเหตุ เพราะอาจมีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการถดถอย หรือลูกมีความเครียด เช่น มีน้องใหม่ ย้ายโรงเรียน ย้ายที่อยู่ สูญเสียคนในครอบครัว ของเล่นชิ้นโปรดหายไป หรือมีความเปลี่ยนแปลงอื่นๆเกิดขึ้นกับลูกน้อย
ลูกดูดนิ้วจนเปื่อย ทำอย่างไรดี
สำหรับเด็กบางคนที่ติดดูดนิ้วตลอดจนทำให้เกิดโรคนิ้วเปื่อย ซึ่งหากไม่มีการติดเชื้อก็จะหายไปเองได้เมื่อลูกเลิกดูด และอย่าลืมสังเกตด้วยนะครับว่าที่มือของลูกมีอาการอักเสบ คัน หรือเป็นแผลจากการดูดนิ้วหรือไม่ หากมีการติดเชื้อหรือมีอาการแพ้น้ำลายตัวเอง ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
อาการดูดนิ้วของเด็กนั้น มักจะเกิดขึ้นแล้วจะหายไปได้เอง แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าไปย้ำจนทำให้เรื่องปกตินี้ กลายเป็นปัญหาลูกติดนิ้วตามมาในภายหลังนะครับ
ที่มา thaibreastfeeding.org
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
ลูกเหงื่อออกตอนนอน สัญญาณโรคร้ายที่พ่อแม่ต้องระวัง
วิธีล้างจมูกลูกแบบอีซี่ แม่มือใหม่อย่างเราก็ทำได้