ทำอย่างไรให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง เสริมพัฒนาการให้ลูกตั้งแต่ในครรภ์ แน่นอนว่าแม่ท้องทุกคนที่เฝ้ารอดวงใจดวงน้อยลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัย เป็นเด็กฉลาดทั้งด้านสติปัญญา และอารมณ์ ดังนั้น ตลอดช่วง 9 เดือนที่อุ้มท้อง คุณแม่ควรดูแลเรื่องโภชนาการอาหารการกิน โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ดูแลสภาพร่างกาย และจิตใจ เพราะสำคัญต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ การเสริมพัฒนาการดีต่อลูกในด้านต่าง ๆ
ทำอย่างไรให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง ในแต่ละด้านมีวิธีดังนี้
1.ด้านอารมณ์
ในช่วงที่ตั้งครรภ์คุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเอง ด้วยการทำให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลาย พยายามขจัดความเครียด และอารมณ์ด้านลบ เพื่อให้จิตใจของคุณแม่เบาสบาย เพราะสิ่งนี้มีผลต่อลูกในครรภ์ ลูกจะมีพัฒนาการด้านสมอง และอารมณ์ที่ดีที่สำคัญ เมื่อเจ้าหนูน้อยคลอดออกมาเขาจะเป็นเด็กที่อารมณ์ดี ไม่โยเย มีพัฒนาการตามวัย เลี้ยงง่าย ซึ่งตรงข้ามกับแม่ท้องที่มักจะมีอารมณ์หงุดหงิด โมโหง่าย เมื่อลูกคลอดออกมามักจะเป็นเด็กงอแง มีพัฒนาการช้า เลี้ยงยาก เมื่อทราบเช่นนี้แล้ว ในช่วงตั้งครรภ์แม่ควรทำจิตใจให้สบาย อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกายเบา ๆ เพียงเท่านี้ก็ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านสมอง และอารมณ์ของลูกน้อยได้แล้วค่ะ
2.ด้านการมองเห็น
คุณแม่สามารถทักทายเล่นกับลูกในท้องได้ด้วยการส่องไฟฉายที่หน้าท้อง เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เซลล์สมอง และเส้นประสาทในส่วนรับภาพ และการมองเห็นของทารกมีพัฒนาการที่ดี และเตรียมความพร้อมในด้านการมองเมื่อคลอดออกมา
3.ด้านการได้ยิน
คุณแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูกในท้องบ่อย ๆ นะคะลูกชอบฟังน้ำเสียงที่นุ่มนวลของคุณแม่ เพราะลูกเกิดความคุ้นเคยหากคุณแม่พูดคุยกับลูกเสมอ ใช้ประโยคซ้ำ ๆ เพื่อให้ลูกคุ้นเคย นอกจากนี้ การร้องเพลง ฟังเพลง รวมถึงการอ่านหนังสือ (จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไปค่ะ) จะช่วยให้ระบบประสาท และสมองที่ควบคุมการได้ยิน มีพัฒนาการที่ดี และเป็นการเตรียมความพร้อม การใช้เสียงกระตุ้นทำให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีเนื่องจากคลื่นเสียงจะไปกระตุ้นระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน แต่ที่สำคัญไม่ควรใช้เสียงที่ดังเกินไปนะคะ
4.ด้านการสัมผัส
คุณแม่สัมผัสลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วยการลูบหน้าท้องบ่อย ๆ ค่ะ จะช่วยกระตุ้นระบบประสาท และสมองของลูกให้มีพัฒนาการที่ดี โดยคุณแม่ลูบหน้าท้องเป็นวงกลมจากบนลงล่างหรือจากล่างขึ้นบน โดยขณะที่ลูบหน้าท้องให้พูดคุย ร้องเพลงไปด้วยจะยิ่งดีค่ะ นอกจากการลูบท้องแล้วการเดินออกกำลังกายเบา ๆ จะทำให้ลูกน้อยมีการเคลื่อนไหวตามไปด้วย และผิวกายของลูกจะไปกระทบกับผนังด้านในของมดลูก จะช่วยกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกให้พัฒนาดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ลูบท้องในช่วงเวลาเดิมเป็นประจำจะรู้สึกได้ว่า ช่วงเวลานั้นลูกดิ้นรอเลยค่ะ คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องเกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้องเพราะอาจเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
แม่ท้องอ่านหนังสือเสริมความฉลาดทารกตั้งแต่ในครรภ์
การอ่านหนังสือ และพูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง ช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส และสร้างวงจรในสมองของลูกได้ พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง กล่าวว่า “ประโยชน์ของการอ่านหนังสือกับสมองของลูกนั้น สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างวงจรในสมองของลูกตั้งแต่เริ่มต้น ได้แก่
- วงจรเสียงของพ่อแม่
- วงจรความรู้สึกภายในที่มีต่อพ่อแม่
- วงจรกลิ่นร่างกายของพ่อแม่ที่ส่งผ่านทางแม่
- และวงจรสัมผัสแห่งความรักที่ได้รับผ่านการสัมผัสหน้าท้องของแม่
ดังนั้น ความรู้สึกจากการสัมผัสหน้าท้องของแม่นี้เอง จะช่วยส่งผ่านหน้าท้อง และร่างกายของแม่ไปยังมดลูก น้ำคร่ำ แล้วไหลวนไปทั่วผิวหนัง ทั่วร่างกายของลูก ลูกจะคุ้นเคยกับสัมผัสนั้นตั้งแต่ในครรภ์ จนถึงกำหนดคลอดทีเดียว”
สำหรับการอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์นั้น พญ.จันทร์เพ็ญ ได้พูดถึงประโยชน์ของการอ่านหนังสือไว้ว่า
“เด็กจะมีความจำเกี่ยวกับคำ แม้ว่าเด็กจะไม่ได้ยิน แต่เด็กจะคุ้นชินกับคำ และประโยคที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยิ่งพ่อแม่มีการต่อยอดหลังจากลูกคลอดออกมา เด็กจะยิ่งมีพัฒนาการทางด้านภาษาที่ดีขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น จะเห็นได้ว่า ทุกเสียงที่คุณพ่อคุณแม่อ่านเป็นคำ ๆ ให้ลูกฟังนั้นจะกระตุ้นสมองของลูก ลูกจะบันทึกและสร้างวงจรของคำศัพท์ต่าง ๆ เอาไว้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และยิ่งถ้าอ่าน และใช้คำจากหนังสือสอนลูกในวัยก่อน 3 ขวบมากเท่าไร เด็กจะมีชุดของคำเป็นหมื่น ๆ คำซึ่งจะมีผลต่อสติปัญญาของเด็กอย่างมาก เนื่องจากเราเป็นมนุษย์ที่ต้องเรียนรู้ผ่านภาษา แต่ปัญหาที่น่าห่วง คือ เด็กไทยมีชุดของคำไม่ค่อยมาก”
หนังสือประเภทใดเหมาะที่จะนำมาอ่านให้ลูกฟัง
คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจมีคำถามว่าจะอ่านหนังสือประเภทไหนให้ลูกเล็ก ๆ หรือลูกที่อยู่ในครรภ์ฟังดี และควรอ่านบ่อยแค่ไหน พญ.จันทร์เพ็ญ ให้คำแนะนำว่า ควรเลือกหนังสือนิทานที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจอ่านให้ลูกฟังมาสัก 3 – 4 เล่ม เช่น กุ๊กไก่ปวดท้อง หนังสือชุดกุ๋งกิ๋ง สารคดีชุดหนูอยากรู้ นิทานชาดกที่มีคติสอนใจ หรืออาจเป็นหนังสือของผู้ใหญ่ที่มีเนื้อหาเข้าใจง่าย และไม่เครียด เป็นต้น หรือลองหัดเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกในครรภ์ฟังถือเป็นการซักซ้อมไว้ก่อนที่เขาจะลืมตาดูโลก คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่รู้สึกขัดเขิน สามารถเล่านิทาน หรือเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ลูกฟังได้อย่างคล่องแคล่ว
การสร้างภาวะอารมณ์ด้านบวกต่อสิ่งรอบตัว เช่น ความอ่อนโยน ละเมียดละไมจากการสัมผัส และน้ำเสียงอันอ่อนโยนเต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก จะเป็นแรงกระตุ้นวงจรในสมองด้านอารมณ์ที่อ่อนโยนของเด็ก และแรงสั่นสะเทือนของความสัมพันธ์อันอบอุ่นนี้จะเป็นสิ่งเชื่อมโยงสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่ลูกอย่างดีเยี่ยม โดยไม่ต้องมีกิจกรรมอะไรที่ซับซ้อน และเป็นพื้นฐานความมั่นใจให้กับลูกที่จะเติบโตต่อไป คุณหมอได้ให้คำแนะนำถึงการอ่านหนังสือสามารถเสริมสร้างความฉลาดให้แก่ทารกน้อยตั้งแต่อยู่ในท้องของคุณแม่ เมื่ออ่านแล้วอย่ารอช้า!!! มาอ่านหนังสือให้ลูกฟังกันค่ะ ร่วมบอกเล่า และแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือสมองอ่าน อ่านสมอง ผู้แต่ง พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
https://baby.kapook.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
กินอะไรให้ลูกในท้องฉลาด สุดยอดอาหารการกินแล้วฉลาด สมองดี
อาหารเด็ก 2 ขวบ แชร์ไอเดียสูตรเมนูอาหารญี่ปุ่นสำหรับเด็ก 2 ขวบ
ลูกฉลาดด้วย Executive Functions (EF) – ดนตรีกับพัฒนาการ