MQ (Moral quotient) ความฉลาดด้านคุณธรรม จริยธรรม คืออะไร
MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม หมายถึง ระดับสติปัญญาทางศีลธรรม เป็นความสามารถทางจริยธรรม หรือการเพิ่มศักยภาพของมนุษย์ด้วยการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม การมีความฉลาดทางจริยธรรม ย่อมส่งผลให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ ไม่เห็นแก่ตัว คิดดี ทำดีและพูดดีด้วย มีความเมตตาปรานีและรู้จักให้อภัย เป็นเรื่องที่ต้องฝึกมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเด็กได้รับการปลูกฝังเรื่องคุณธรรมจริยธรรมตั้งแต่เด็ก บุคคลนั้นก็สามารถพัฒนาพื้นฐานความฉลาดทางคุณธรรม จริยธรรมของตนขึ้นมา และจะถูกปลูกฝังลึกลงไปในจิตใต้สำนึกของเด็กเพื่อรอการพัฒนาต่อไป
เด็กจะได้ประโยชน์อะไรจากความฉลาดทางคุณธรรม
รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึง เด็กจะได้ประโยชน์อะไรจากความฉลาดทางคุณธรรม จริยธรรม สรุปได้ดังนี้
1. เป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตให้สำเร็จ ไม่กลัวต่ออุปสรรค ความล้มเหลว ความพ่ายแพ้ และพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้งเสมอ
2. เป็นคนที่มองโลกมองชีวิตด้านบวก เด็กที่ถูกฝึกมาให้เป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตนเอง และมีคุณธรรมด้วยวิธีการจูงใจ และการใช้คำพูดด้านบวก (โดยไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น) จากพ่อแม่ และครู เช่น เก่ง เยี่ยม น่ารัก เข้มแข็ง แจ๋ว ฯลฯ จะเป็นคนที่รู้สึกบวกกับตัวเอง และเด็ก ๆ เหล่านี้จะเป็นเด็กที่มีความสุข คิดบวก พูดบวก ทำบวก อยากแต่จะทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง ครอบครัว และสังคมต่อไป
3. เป็นคนที่พูดจาไพเราะ การพูดจาไพเราะเป็นคุณธรรมที่สำคัญข้อหนึ่ง การที่เด็กๆได้เห็นตัว อย่างของผู้ใหญ่ที่พูดจาไพเราะ ได้ฟังนิทาน ได้ร้องเพลงที่เน้นให้เด็กๆพูดจามีหางเสียง ไม่ใช้คำพูดที่จะทำให้คนอื่นเสียใจ เด็กๆก็มักจะเป็นคนที่ไม่พูดพร่ำเพรื่อ พูดมาก พูดเฉพาะในเรื่องที่จำเป็น ที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟัง
4. เป็นคนที่มีจิตสาธารณะสูง การปฏิบัติตัวตามหลักคุณธรรม มีความรู้สึกที่ดี ๆ กับตัวเอง คนรอบข้าง และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น ทำให้เด็กเป็นคนที่มีความรัก ความเมตตา มีน้ำใจ รู้จักพอ รู้จักให้ มีชีวิตที่เรียบง่าย
อ่าน MQ ของลูกดีเริ่มที่คำพูดของพ่อแม่ คลิก
ลูก MQ ดีเริ่มที่คำพูดของพ่อแม่
รศ.ดร.เกียรติวรรณ อมาตยกุล ให้คำแนะนำในการใช้วิธีการด้านบวกจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกบวกกับตัวเอง มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีระเบียบวินัยในตนเอง และมีคุณธรรม สามารถทำได้ผ่านคำสอน คำพูดด้านบวกของพ่อแม่ ดังนี้
การเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กๆ
การเบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก ๆ ให้ไปสนใจสิ่งอื่นจะได้ผลอย่างยิ่ง ในการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก ใช้การเบี่ยงเบนความสนใจแทนที่จะตวาด ข่มขู่ ใช้คำพูดเสียงดัง หรือใช้กำลังกับเด็ก ๆโดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีความสนใจสิ่งต่าง ๆในระยะเวลาสั้น ๆ พ่อแม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจของลูก ด้วยคำพูดด้านบวก ดังตัวอย่างต่อไปนี้
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – นี่เธอกำลังจะทำหนังสือขาดหมดแล้ว
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – เปิดด้วยความระมัดระวังซิจ๊ะ แล้วจะได้ดูเรื่องที่สนุกกว่านี้อีก แม่กำลังจะไปรดน้ำต้นไม้ ไปช่วยกันดีไหมคะ
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – อย่าร้อง ไม่เจ็บหรอก
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – พื้นมันลื่น ต้องระวังหน่อย ตุ๊กตาลูกหมีที่อุ้มอยู่เจ็บไหมคะ ดูซิเขาเจ็บตรงไหนบ้าง มาช่วยทายาให้เขากันดีกว่าค่ะ
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – อย่าไปตรงโน้น
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – มาเล่นทรายที่นี่กันดีกว่าค่ะ
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – อย่าวาดบนฝาผนัง
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – นี่กระดาษสำหรับวาดรูปค่ะ
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – อย่าขว้างทรายใส่เพื่อน
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ช่วยกันเอาทรายไปเก็บในถาดกันเถอะค่ะ
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – เอามีดมานี่ เดี๋ยวบาดมือหรอก
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – นี่ไงช้อน ใช้ช้อนดีกว่านะคะ
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – เธอเป็นเด็กขี้ขโมย แย่มาก
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – เราทุกคนควรเป็นคนที่ซื่อสัตย์
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – เธอทำไมโง่อย่างนี้
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ทำอย่างนี้ซิคนเก่ง
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – เธอทำซุ่มซ่ามอีกแล้ว นายเด๋อ
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ทำด้วยความระมัดระวังนะจ๊ะ คนเก่ง
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – ทำไมเธอเป็นเด็กอ่อนแอ ขี้โรคจัง
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ถ้าหนูออกกำลังกาย หนูก็จะแข็งแรง
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – เด็กใจดำ เด็กเห็นแก่ตัว
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ถ้าหนูให้เพื่อนยืมเล่นบ้าง คราวหน้าเพื่อนก็จะให้หนูยืมเล่นบ้างเช่นกัน
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – ไม่ใช่แบบนี้ มาให้พ่อทำเอง
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ลูกเป็นผู้ช่วยที่ดี ถือให้แน่นนะ น้ำจะได้ไม่หก
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – อย่าตีแมว
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – ทำแบบนั้นแมวจะเจ็บนะคะ เขาชอบให้ลูบหัวแบบนี้ต่างหาก
คำพูดด้านลบ : ไม่ควรใช้ – ทำอะไรอยู่นะ
คำพูดด้านบวก : ที่ควรใช้ – บอกหน่อยซิคะว่า กำลังวาดรูปอะไร
นอกจากคำพูดด้านบวกแล้ว หากเด็กทำผิด มีวิธีการทำโทษ แบบบวก ๆ มาบอกกันด้วยนะคะ
อ่าน ทำโทษอย่างไรให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรม คลิก
ทำโทษอย่างไรให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรม
นอกจากการใช้คำพูดด้านบวกเพื่อเป็นแรงเสริมให้แก่เด็กแล้ว วิธีการทำโทษเด็กเมื่อเจ้าหนูทำผิดจริง ๆ รศ.ดร.เกียรติวรรณ ได้ให้คำแนะนำ การลงโทษจากเบาไปหาหนัก 4 ขั้นตอน เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมลูก ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มจากใช้คำพูดที่นุ่มนวล เล่นกันเบาๆหน่อยจ้ะ
ขั้นตอนที่ 2 ใช้คำพูดที่หนักแน่นขึ้น แม่บอกแล้วนะว่าเสียงของหนูรบกวนผู้อื่น
ขั้นตอนที่ 3 ตักเตือน ถ้าหนูยังทำเสียงดังอยู่อีก หนูจะต้องไปนั่งคนเดียวข้างนอก ลงมือทำโทษ…..เอาล่ะ เมื่อหนูยังไม่พร้อมที่จะเล่นเสียงเบา ๆ หนูก็จะต้องออกไปนั่งเล่นคนเดียวข้างนอกห้อง…..
ขั้นตอนที่ 4 การลงโทษที่ดีไม่ควรใช้ความรุนแรง ไม่ทำให้เด็กรู้สึกอาย ไม่ใช้การเปรียบเทียบ ไม่ใช้คำพูดด้านลบ แต่ควรหาทางให้เด็กได้มีโอกาสรับผิดชอบในส่วนที่ตัวได้ทำผิด เช่น ดูแลรักษาพยาบาลคนที่ถูกรังแก นำของที่โยกย้ายไปกลับมาที่เดิม ซ่อม แซมสิ่งที่ทำเสียหายไป ฯลฯ
จะเห็นว่า คำพูดหลาย ๆ คำที่คุณพ่อแม่อาจจะคิดว่าไม่เป็นไร แต่บางครั้งอาจบั่นทอนจิตใจของลูกโดยที่คุณไม่รู้ตัว มาปรับใช้คำพูดด้านบวกเพื่อพัฒนา MQ ความฉลาดทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้ลูกกันดีกว่าค่ะ ไม่ใช่เรื่องยากเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การสอนระเบียบลูก 5 อย่างที่พ่อแม่มักทำพลาด
ทำความรู้จักวิธีเลี้ยงลูกในยุค เจน อัลฟ่า (Gen Alpha)
4 วิธีง่าย ๆ สอนให้ลูกรู้จักคำว่าขอโทษ