หลังจากที่รัฐบาลเคยเปิดรับให้มีการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยหรือลงทะเบียนคนจนเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมการลงทะเบียนกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กระทรวงการคลังได้มีมติเห็นชอบสานต่อโครงการดังกล่าวเป็นปีที่สอง และจะเปิดรับลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยอีกครั้งในวันที่ 3 เมษายน 2560 ข้อมูลต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ไปอ่านรายละเอียดกันเลยค่ะ
ลงทะเบียนคนจนรอบ 2 เปิดรับสมัครวันไหน ?
สำหรับการลงทะเบียนคนจนรอบใหม่ ทางกระทรวงการคลังระบุว่า จะเปิดรับสมัครในวันที่ 3 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2560
ใครมีสิทธิ์บ้าง ?
ผู้ที่จะไปลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ต้องตรวจสอบว่าเรามีคุณสมบัติตามนี้หรือไม่
1. มีสัญชาติไทย
2. อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม 2542)
3. เป็นผู้ว่างงาน หรือมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทในปี 2559
4. ไม่มีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร, สลากออมสิน, สลาก ธ.ก.ส., พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ หรือถ้ามีทรัพย์สินทางการเงินดังกล่าว จะต้องมีจำนวนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
5. ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
- ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
– บ้านหรือทาวเฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ ไม่เกิน 25 ตารางวา
– ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดิน
– เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่
– เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
- ที่ดินกรณีใช้ประโยชน์จากที่ดิน
– เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่
– เพื่อการอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
หมายเหตุ : รายได้ หมายถึงรายได้ของบุคคลที่ลงทะเบียนเท่านั้น ในกรณีประกอบอาชีพร่วมกันทั้งครัวเรือน (เช่น ทำการเกษตรร่วมกัน) และไม่สามารถแยกรายได้ออกมาเป็นรายบุคคลได้ ให้ถือว่า รายได้ของครัวเรือนเป็นรายได้ของหัวหน้าครอบครัวแต่เพียงคนเดียว
ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ต้องเปิดเผยข้อมูลอะไรบ้าง ?
ผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินที่มีอยู่ เช่น
– รายได้ (เงินเดือน/เงินฝากธนาคาร/สลากออมทรัพย์/พันธบัตร/หุ้น ฯลฯ)
– การถือครองทรัพย์สิน (ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง/รถยนต์/จักรยานยนต์ ฯลฯ)
– หนี้สินคงค้างทั้งหมด (เงินกู้ในระบบ/เงินกู้นอกระบบ/หนี้บัตรเครดิต/หนี้เพื่อการศึกษา/หนี้เพื่อการเกษตรหรือประกอบธุรกิจ/หนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค/หนี้เพื่อซื้อบ้านและที่ดิน ฯลฯ)
ทั้งนี้ต้องยินยอมให้นำข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนพร้อมภาพถ่ายใบหน้าไปใช้ เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลสำหรับการนำไปใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐต่อไป
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
เคยลงทะเบียนคนจนปี 2559 ไปแล้ว จะต้องมาลงทะเบียนในปี 2560 อีกไหม ?
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2560 ว่า ผู้ที่ไม่เคยลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่เคยลงทะเบียนเมื่อปีที่ผ่านมา จำนวน 8 ล้านคน จะต้องมาลงทะเบียนใหม่ทั้งหมด เพื่ออัพเดทข้อมูลฐานรายได้ด้วย
เช่นเดียวกับ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า ผู้ที่เคยลงทะเบียนรายได้น้อยในรอบแรกต้องมาลงทะเบียนใหม่ในรอบนี้ด้วย เพื่อให้ผู้ลงทะเบียนรายได้น้อยได้รับบัตรผู้มีรายได้น้อยประจำตัวทุกคน
อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้ลงทะเบียนในปี 2560 ได้รับบัตรประจำตัวรอบใหม่นี้แล้ว ในปีต่อไปไม่ต้องมาลงทะเบียนอีก เพียงแต่มาอัพเดทข้อมูลเท่านั้น ซึ่งบางคนอาจจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจนไม่ถือว่าเป็นผู้มีรายได้น้อยอีกก็ได้
ลงทะเบียนคนจนรอบ 2 จะได้สวัสดิการอะไรบ้าง ?
เบื้องต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560) ทางกระทรวงการคลังระบุว่า สวัสดิการที่ผู้มาลงทะเบียนคนจนรอบใหม่จะได้รับก็อย่างเช่น
– บัตรประจำตัวผู้มีรายได้น้อย โดยอาจให้ใช้สีแตกต่างกันตามระดับรายได้ของประชาชน เพื่อเตรียมพร้อมไว้รับสวัสดิการที่ทางรัฐบาลจะมอบให้ในอนาคต เช่น การลดค่าน้ำ-ไฟฟ้า การขึ้นรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี เป็นต้น ซึ่งหากใช้บัตรดังกล่าวรูดกับเครื่องก็จะรู้ได้ทันทีว่าได้รับสวัสดิการดังกล่าวหรือไม่
– กำลังพิจารณาเรื่องการทำประกันชีวิตให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันรายละ 99 บาทต่อปี คุ้มครอง 5-6 หมื่นบาท และจ่ายชดเชยกรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน
– เตรียมดำเนินการจ่ายเบี้ยยังชีพเพิ่มให้ผู้สูงอายุที่เป็นผู้มีรายได้น้อย กรณีผู้สูงอายุฐานะดี สมัครใจสละสิทธิ์เบี้ยชราภาพ
ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยได้ที่ไหนบ้าง
– ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
– ธนาคารออมสิน
– ธนาคารกรุงไทย
– สำนักงานคลังจังหวัด
– สำนักงานคลังจังหวัดทุกจังหวัด (สังกัดกรมบัญชีกลาง)
– สำนักงานเขตกรุงเทพมหานครทุกเขต
โดยต้องลงทะเบียนเพียงที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถลงทะเบียนซ้ำได้หลายแห่ง
ขั้นตอนการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย
ก่อนเปิดรับสมัครลงทะเบียน (เดือนมีนาคม)
1. เตรียมบัตรประชาชนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อความรวดเร็วในการกรอกแบบฟอร์ม
2. ขอรับแบบฟอร์มลงทะเบียนได้ที่หน่วยรับลงทะเบียนทุกแห่ง หรือดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, และ epayment.go.th
เปิดรับสมัครลงทะเบียน (3 เมษายน-15 พฤษภาคม 2560)
1. ยื่นแบบฟอร์มฉบับเต็มได้ที่หน่วยรับลงทะเบียนทุกแห่ง
2. เสียบบัตรประชาชน โดยพนักงานจะกรอกแบบฟอร์มออนไลน์เข้าระบบให้
3. ตรวจสอบข้อมูลที่พนักงานกรอกให้ถูกต้อง ชัดเจน ครบถ้วน และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน
หลังลงทะเบียน (เดือนมิถุนายน)
1. ตรวจสอบชื่อผู้มีสิทธิ์ได้ในเดือนมิถุนายน ที่เว็บไซต์ epayment.go.th หรือที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
2. หากไม่มีชื่อให้ไปติดต่อหน่วยงานที่ได้ลงทะเบียนไว้
3. เตรียมรับบัตรสวัสดิการประจำตัวผู้มีสิทธิ์ที่กระทรวงการคลังจะดำเนินการให้