รกเปื่อยยุ่ยเกิดจากอะไร
สาเหตุส่วนใหญ่ของรกเปื่อยยุ่ย เกิดจากการติดเชื้อในมดลูก ซึ่งมักพบร่วมกับภาวะถุงน้ำคร่ำแตกและมีน้ำเดินเป็นเวลานาน แต่ก็สามารถพบได้ในการตั้งครรภ์ที่ถุงน้ำยังไม่แตกเช่นกัน
ภาวะรกเปื่อยยุ่ยอันตรายแค่ไหน สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดได้หรือไม่
ภาวะรกเปื่อยยุ่ยสามารถทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการคลอดได้ เนื่องจากเนื้อรกจะฉีกขาดได้ง่าย มีโอกาสเกิดเศษรกค้างในโพรงมดลูก ซึ่งทำให้เกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดและการติดเชื้อในมดลูก
แพทย์จะทำอย่างไรเมื่อตรวจพบว่ารกเปื่อยยุ่ย
ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบว่ารกเปื่อยยุ่ย แพทย์จะมีการตรวจสอบรกอย่างละเอียดว่ารกได้คลอดออกมาครบถ้วนหรือไม่ และอาจทำการตรวจหาการติดเชื้อเพิ่มเติมทั้งในแม่และลูกในกรณีที่สงสัยการติดเชื้อ
นพ.อดิศร อักษรภูษิตพงศ์
สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
ประจำโรงพยาบาลพญาไท 3
รกเกาะต่ำ คืออะไร
ก่อนจะทำความรู้จักกับ รกเกาะต่ำ เรามาทำความรู้จักกับรกกันก่อนครับ รกคืออวัยวะพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงตั้งครรภ์จากไข่ที่ผสมแล้ว โดยรกนั้นจะเจริญเติบโตไปพร้อมๆกับทารกในครรภ์ และทำหน้าที่นำสารอาหารจากคุณแม่ส่งผ่านมาเลี้ยงลูกน้อยที่อยู่ในท้อง ซึ่งโดยปกติแล้วรกควรจะเกาะอยู่ที่ผนังส่วนบนของโพรงมดลูก ทำให้ไม่มีสิ่งกีดขวางทางคลอดของทารก แต่ถ้ารกมาเกาะอยู่บริเวณส่วนล่างของมดลูก หรือคลุมมาถึงด้านในของปากมดลูก ลักษณะแบบนี้จะเรียกว่า รกเกาะต่ำซึ่งถือว่าเป็นภาวะไม่ปกติที่มักพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1 ใน 200 คน
รกเกาะต่ำอันตรายอย่างไร
ภาวะรกเกาะต่ำ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ท้องมีเลือดออกทางช่องคลอด ส่วนใหญ่เลือดที่ออกครั้งแรกจะออกไม่มาก และมักจะหยุดเองถ้าไม่มีสิ่งไปกระตุ้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าแม่ท้องมีเลือดออกมาก จะมีผลต่อทั้งแม่และลูกในครรภ์ อาจจำเป็นต้องผ่าคลอดแม้ว่าอายุครรภ์จะยังไม่ถึงกำหนด หากหัวใจของทารกเต้นผิดปกติก็อาจทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ และภาวะรกเกาะต่ำนี้อาจทำให้แม่ท้องตกเลือด และอาจช็อคจากการเสียเลือดจนเสียชีวิต บางครั้งหากมารดาเสียเลือดมากหลังผ่าตัดคลอดแล้ว อาจจำเป็นต้องตัดมดลูกออกเพื่อหยุดเลือดด้วย โดยอัตราการเสียชีวิตของแม่ท้องที่เกี่ยวข้องกับภาวะรกเกาะต่ำนั้น พบได้ 2 – 3 % ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่อันตรายมากเลยทีเดียวนะครับ
รกเกาะต่ำมีกี่แบบ
รกเกาะต่ำแบ่งได้เป็น 3 แบบใหญ่ๆ ตามความรุนแรง ดังนี้ครับ
- รกเกาะต่ำคลุมปากมดลูกทั้งหมดรกปิดปากมดลูกทั้งหมดทำให้ทารกคลอดทางช่องคลอดไม่ได้ ต้องผ่าคลอดทารกออกมา
- รกเกาะต่ำคลุมปากมดลูกเป็นบางส่วนปากมดลูกที่ขยายมากขึ้นอาจไปดึงให้รกขยับสูงขึ้น บางครั้งอาจไม่ขวางการคลอดของทารก แต่จะทำให้มีเลือดออกมาก ทำให้ต้องผ่าคลอดทารกออกมา
- รกเกาะต่ำบริเวณด้านล่างของมดลูกแต่ไม่คลุมปากมดลูกคือทารกสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ แต่ถึงแม่จะสามารถคลอดทารกทางช่องคลอดได้ ก็ทำให้เลือดออกมามากเช่นกัน
รกเกาะต่ำเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่า รกเกาะต่ำเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำมีดังนี้ครับ
- ตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง
- ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก หรือ 35 ปีขึ้นไป
- ตั้งครรภ์แฝด
- เคยผ่าตัดคลอดมาก่อน ยิ่งผ่าตัดหลายครั้ง ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น
- เคยขูดมดลูก
- แม่ท้องสูบบุหรี่จัด
- การติดเชื้อในครรภ์ เช่น ซิฟิลิส
- ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ เช่น ท่าขวาง
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีรกเกาะต่ำ
สำหรับคุณแม่ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ สามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- ไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีเลือดไหลออกมาทางช่องคลอด
- เลือดไหลออกมาไม่มาก แต่เลือดออกบ่อยครั้ง
หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ไม่ควรนิ่งนอนใจและควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
รกเกาะต่ำเป็นเรื่องสำคัญที่แม่ท้องหลายคนมองข้าม และเป็นอีกเรื่องที่เป็นอันตรายถึงขั้นที่อาจทำให้คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์เสียชีวิตได้ หากรู้ว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปฝากครรภ์ และควรไปตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพราะนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงจากรกเกาะต่ำแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะที่เป็นอันตรายอื่นๆได้อีกด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
สามี กินรก ภรรยา น่าขยะแขยงหรือมีคุณค่าทางอาหาร
ภาวะรกเกาะต่ำขณะตั้งครรภ์ คืออะไร อันตรายแค่ไหน