ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เด็กตัวเหลือง ภาวะนี้เกิดขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” สารนี้จะอยู่ในกระแสเลือด ร่างกายต้องกำจัดออกทางตับ โดยเอนไซม์ในตับจะช่วยเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะส่งต่อไปยังลำไส้ และขับถ่ายสารเหลืองออกมาทางอุจจาระมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วทารกจะมีอาการตัวเหลืองในวันที่ 2 – 3 หลังคลอด และส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะมองเห็นว่าเด็กตัวเหลือง และพิจารณาส่งตรวจค่าบิลิรูบินเพื่อดูระดับความเหลืองและให้การรักษาต่อไป
สาเหตุของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?
ภาวะตัวเหลืองเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่
1) ภาวะตัวเหลืองปกติ (Physiologic Jaundice)
สาเหตุภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดที่พบบ่อย และมักไม่เป็นอันตรายในทารกแรกเกิด มีสาเหตุจาก ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกปกติในเด็กทารกแรกเกิด เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกออก ก็จะมีสารเหลืองออกมาด้วย และเนื่องจากเด็กแรกเกิดมีเม็ดเลือดแดงมากกว่าผู้ใหญ่ อีกทั้งเม็ดเลือดแดงในเด็กมีอายุสั้น และยังมีเม็ดเลือดแดงที่สร้างไม่สมบูรณ์ปริมาณมากเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
อีกทั้งการทำงานของตับเด็กแรกเกิดก็ยังไม่สมบูรณ์ จึงกำจัดสารเหลืองได้ช้า ทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองแบบปกติ ซึ่งภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดนี้ พบได้ในทารกแรกเกิดเกือบทุกคน ส่งผลให้ให้ทารกตัวเหลืองเล็กน้อย เมื่ออายุ 3-5 วัน จากนั้นจะค่อย ๆ เหลืองน้อยลงจนหายไปได้เอง
2) ภาวะตัวเหลืองผิดปกติเนื่องจากมีพยาธิสภาพ (Pathologic Jaundice)
ส่วนทารกตัวเหลืองจากความผิดปกติ จะมีลักษณะที่สังเกตได้คือ เริ่มเหลืองเร็ว เมื่ออายุน้อยกว่า 24 ชั่วโมง และอัตราการเพิ่มของค่าสารเหลืองในเลือดเพิ่มขึ้นเร็วมาก และมีตัวเหลืองนานเกินกว่า 14 วัน โดยเฉพาะทารกที่ไม่ได้ทานนมแม่
สาเหตุของทารกตัวเหลืองจากความผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่
- กรุ๊ปเลือดแม่และลูกไม่เข้ากัน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกมาก พบในแม่เลือดกรุ๊ป O และลูกเป็น กรุ๊ป A หรือ B
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตกมาก เนื่องจากโรคที่เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย, โรคขาดเอนไซน์ G6PD เด็กที่คลอดโดยใช้เครื่องดูดช่วยคลอดจะมีเลือดออกใต้หนังศีรษะ ซึ่งเลือดที่ออกนี้ทำให้มีเม็ดเลือดแดงที่แตกเพิ่มขึ้น
- เด็กที่มีการทำงานของตับไม่สมบูรณ์ หรือโรคกรรมพันธุ์บางอย่างของตับ ก็ทำให้กำจัดสารเหลืองได้น้อยลง
- นอกจากนี้ ความผิดปกติที่ลำไส้เช่นภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้มีการดูดซึมสารเหลืองกลับเข้ากระแสเลือดมากกว่าปกติแทนที่จะขับถ่ายออกไป เด็กจึงตัวเหลืองได้
- เกิดความผิดปกติที่ลำไส้ เช่น ทารกได้รับน้ำนมน้อยเกินไป หรือเกิดภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้อุจจาระออกมาปริมาณน้อย สารเหลืองจึงถูกขับออกมาน้อยตาม และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดการสะสมแทน
ทราบได้อย่างไรว่าลูกตัวเหลืองผิดปกติ? ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เป็นอย่างไร
คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกตัวเหลืองโดยกดที่ผิวของลูก จะเห็นบริเวณที่กดเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นสีเหลืองเฉพาะใบหน้าและลำตัว ถือว่าเหลืองไม่มาก แต่ถ้าลงมาที่ขาและเท้า ถือว่าเหลืองมาก ถ้าสงสัยว่าลูกตัวเหลืองมากผิดปกติ หรือ มีอาการเหลืองนานเกิน 7 วัน หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ซึม อาเจียน ปัสสาวะหรืออุจจาระที่สีซีดหรือเข้มกว่าปกติ
อาการเหล่านี้แสดงถึงปริมาณสารสีเหลืองในร่างกายมีมากเกินไป ซึ่งถ้าหากเราปล่อยไว้นานจนเกินไป สารนี้อาจซึมเข้าสู่สมอง และทำให้เกิดอาการผิดปกติทางสมองได้ ควรรีบมาปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย และเจาะเลือดตรวจระดับสารเหลืองในเลือดทันทีค่ะ
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เด็กตัวเหลือง รักษาอย่างไร? วิธีแก้เด็กตัวเหลือง
จากที่กล่าวมาข้างต้น หากลูกตัวเหลืองมาก จะมีระดับสารเหลือง หรือ บิลิรูบิน ในเลือดสูง ซึ่งสารนี้สามารถเข้าไปที่สมองลูกได้ ถ้ามีระดับที่สูงมาก จะทำให้เกิดอาการผิดปกติของสมองจากภาวะตัวเหลือง มีอาการชัก และอาจมีผลต่อประสาทการได้ยินของเด็ก เด็กจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาภาวะตัวเหลืองที่ผิดปกติในทารกแรกเกิด ซึ่งวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปริมาณสารเหลือง ดังนี้
1) ให้นมทารกบ่อยขึ้น
แม่ ๆ ควรให้นมลูกประมาณวันละ 8-12 ครั้ง ต่อวัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยรักษาอาการตัวเหลืองในทารกได้โดยธรรมชาติ และเป็นการเร่งการขับถ่ายอุจจาระออกมา เนื่องจากสารเหลืองจะถูกขับออกมาพร้อมกับของเสียเหล่านี้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับทารกที่มีสารเหลืองไม่สูงมาก
2) รักษาด้วยยา
หากคุณแม่ได้ทำการรักษาลูกด้วยการให้นมลูกบ่อยขึ้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ทางแพทย์ก็จะแนะนำให้ใช้ยาชีววัตถุที่สามารถรักษาตัวเหลืองในทารก เช่น อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ
3) การส่องไฟ
หากเด็กทารกมีปริมาณสารเหลืองที่มีมากผิดปกติ จะต้องใช้วิธีการส่องไฟ ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการใช้หลอดไฟชนิดพิเศษ จากคลื่นแสงสีฟ้า ที่จะส่องให้ระดับสารสีเหลืองในทารกลดลงจนอยู่ในระยะที่ปลอดภัย วิธีนี้จะเป็นการเปลี่ยนสารสีเหลืองในร่างกายให้เป็นสารที่ละลายน้ำได้ เพื่อให้สารสามารถถูกขับออกมาทางปัสสาวะและอุจจาระได้ง่ายขึ้น
4) การเปลี่ยนถ่ายเลือด
หากใช้วิธีส่องไฟแล้วสารเหลืองในทารกยังไม่ลดลง หรือทารกเริ่มแสดงอาการผิดปกติทางสมอง แพทย์จะต้องทำการเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อลดระดับสารเหลืองลงในตัวทารก โดยการนำเอาเลือดที่มีสารเหลืองออกจากทารก และนำเลือดอื่นเข้าไปทดแทนเลือดที่เสียไป ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เพราะฉะนั้นวิธีการรักษานี้จะถูกนำมาใช้เมื่อมีสารเหลืองสูงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อทารกเท่านั้น
โดยสรุปแล้ว เราหวังว่าบทความนี้คงทำให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพบว่าลูกตัวเหลืองผิดปกติ ก็ควรปรึกษาคุณหมอเด็กเพื่อหาสาเหตุของตัวเหลืองและเจาะเลือดตรวจระดับสารเหลืองนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีดูแลผิวทารก ทำอย่างไรให้ลูกผิวดี สดใส ไร้ขุย
อาการข้างเคียงของวัคซีน แต่ละชนิดส่งผลอะไรกับลูกบ้าง
ที่มา : mamastory, Paolo Hospital