น้องอายุ 2 เดือน หายใจครืดคราดตลอดเวลา
น้องพลอย (นามสมมติ) อายุ 2 เดือน มีอาการหายใจมีเสียงดังครืดคราดตลอดเวลา โดยเสียงจะดังขึ้นชัดเจนเมื่อนอนหงาย ถ้านอนคว่ำเสียงจะเบาลง เคยไปพบคุณหมอทราบว่าเกิดจาก ภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบ ตั้งแต่แรกเกิด คุณแม่มีความวิตกกังวลมาก อยากทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโรคนี้ หมอจึงได้ให้คำอธิบาย ดังนี้ค่ะ
ภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบ คืออะไร?
ภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบ (laryngomalacia) เป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของทารก ซึ่งกระดูกอ่อนของกล่องเสียงยังไม่แข็งแรงเต็มที่ มีลักษณะอ่อนยวบผิดปกติ ทำให้เกิดการยุบตัวของเนื้อเยื่อรอบกล่องเสียงขณะหายใจเข้า เกิดเป็นเสียงหายใจดังผิดปกติ ซึ่งคุณหมอจะเรียกเสียงนี้ว่า stridor นำมาซึ่งภาวะอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน
ภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบเกิดจากอะไร?
โดยธรรมชาติแล้ว กระดูกอ่อนจะช่วยเสริมความแข็งแรงของกล่องเสียงและท่อหลอดลมในขณะหายใจเข้าและออกจึงทำให้อวัยวะดังกล่าวไม่แฟบแบนลง แต่สำหรับผู้ป่วยเด็กทารกที่มีภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบจะมีการพัฒนาของกระดูกอ่อนช้ากว่าปกติ ดังนั้นเวลาหายใจเข้าออกกล่องเสียงและท่อหลอดลมจะแฟบลง เปรียบเทียบได้กับหลอดกาแฟที่นิ่มมากเกินไปจะแฟบตัวลงเวลาที่เราดูดน้ำ จึงเกิดเสียงดังผิดปกติขณะหายใจเข้า หรือหายใจมีเสียงดังครืดคราดได้
ทารกที่มีภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบจะมีอาการอย่างไรบ้าง?
ทารกที่มีภาวะนี้จะมีอาการหายใจเสียงดังโดยเฉพาะขณะหายใจเข้า หรือฟังได้ยินเหมือนเสียงครืดคราดในลำคอ อาจได้ยินเสียงดังชัดเจนยิ่งขึ้นในเวลานอนหงาย ดูดนม หรือร้องไห้ ซึ่งต้องใช้แรงหายใจมากขึ้น แต่เมื่อทารกนอนคว่ำเสียงก็จะเบาลง โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติอื่น เช่น ไอ มีเสมหะ ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่คิดว่าอาการดังกล่าวเกิดจากลูกเป็นหวัด มีน้ำมูกหรือเนื้อเยื่อจมูกบวม จึงได้ล้างจมูกดูดน้ำมูกและใช้ยาหยอดลดอาการจมูกบวม เสียงหายใจดังครืดคราดยังไม่ดีขึ้น ก็เนื่องมาจากความผิดปกติดังกล่าวนั่นเอง
คุณหมอจะวินิจฉัยภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบได้อย่างไร?
การวินิจฉัยภาวะนี้ได้ คุณหมอจะทราบจากอาการหายใจผิดปกติดังกล่าวข้างต้นของทารกตั้งแต่อายุก่อน 6 สัปดาห์ ร่วมกับการตรวจดูการเคลื่อนไหวของท่อหลอดลม กล่องเสียง และเนื้อเยื่อโดยรอบ จากการส่องกล้อง
การรักษาภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบทำได้อย่างไร?
เนื่องจากทารกที่มีภาวะนี้มากกว่า 90% จะหายได้เองเมื่อทารกอายุมากขึ้นภายใน 2 ขวบปีแรกของชีวิต สำหรับทารกที่การเจริญเติบโตปกติ ไม่มีอาการใดนอกจากหายใจเสียงดังคุณหมอจะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เพียงสังเกตอาการ จัดท่านอนคว่ำนอนคว่ำ ระมัดระวังการสำลัก และนัดติดตามอาการเป็นระยะ รอเวลาที่ภาวะนี้จะหายไปเอง
แต่หากทารกมีอาการหายใจลำบาก หยุดหายใจ เขียว ขาดออกซิเจน มีการเจริญเติบโตช้าผิดปกติ มีภาวะกรดไหลย้อนร่วมด้วย คุณหมอจะพิจารณาให้การรักษาเพิ่มเติมตามความรุนแรง เช่น ยารักษาอาการกรดไหลย้อน หรือการผ่าตัด
จะเห็นได้ว่าภาวะกล่องเสียงอ่อนยวบนี้ หากได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง มักจะไม่มีอันตรายร้ายแรงและสามารถหายเองได้โดยธรรมชาติ หากคุณพ่อคุณแม่ทำตามคำแนะนำและติดตามอาการกับคุณหมออย่างใกล้ชิดก็ไม่มีอะไรที่น่าวิตกกังวลค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อยากรู้ว่าพัฒนาการทารกผิดปกติ! เช็กได้จากสัญญาณเหล่านี้
รีบเช็ก! ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ทารกสูญเสียการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด!!