พัฒนาการทารก 8 เดือน ลูกน้อยมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
พัฒนาการทารก 8 เดือน เป็นวัยที่ลูกน้อยนอนกลางคืนได้ยาวถึง 11 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ส่วนกลางวันนอนได้ประมาณ 3 ชั่วโมง อาหารเสริมก็เริ่มกินได้มากขึ้น และควรให้ลุกได้ลองอาหารหลายๆ รสชาติ ให้สัมผัสที่ต่างกัน ส่วนเรื่องความซนล่ะ ลูกเราจะดื้อขึ้นไหม มาดูกันค่ะ
พัฒนาการทางด้านร่างกายของทารก 8 เดือน
ลูกน้อยของคุณเริ่มคลานได้แล้ว แต่ถ้าลูกบ้านไหนยังไม่คลานก็ไม่เป็นไรนะคะ เพราะความพร้อมของเด็กแต่ละคนต่างกัน เด็กบางคนจะเริ่มคลานเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 10 แต่ทักษะด้านการเคลื่อนไหวของน้องจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งการเล่นของเล่นของลูกน้อยที่สามารถหยิบจับได้อย่างคล่องมือมากขึ้น ในวัยนี้ของเล่นที่เหมาะกับพวกเขาจะเป็นพวกบล็อกที่มีรูปร่างต่างๆ
จากนั้นเด็กๆ จะเริ่มยืดตัวขึ้น โดยการฝึกเกาะกับเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เช่น เก้าอี้ โต๊ะ หรือตู้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอุบัติเหตุไว้ให้ดี ระวังเก้าอี้ล้มทับลูก หากเป็นลิ้นชักก็ให้ระวัง เพราะลูกอาจดึงแล้วหนีบมือได้ แนะนำให้ล็อคไว้ป้องกันลูกไปเปิดเล่น รวมถึงของชิ้นเล็กๆ ที่ลูกอาจจะหยิบเอาเข้าปากได้
สำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อยนั้น เด็กผู้หญิงจะมีน้ำหนักประมาณ 8 กก. มีความสูงประมาณ 68.8 ซม. ส่วนเด็กผู้ชายจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 8.6 กก. และมีความสูงประมาณ 70.6ซม.
พัฒนาการทางด้านความรู้ความเข้าใจของทารก 8 เดือน
เด็กวัยนี้จะเริ่มแสดงความสนใจในเรื่องราวอยากจะรู้ ตื่นตาตื่นใจกับวัตถุที่มีรูปร่างต่างๆ พื้นผิวที่ขรุขระ และจะชื่นชอบเรื่องราวในหนังสือมากกว่าที่จะรับฟังอย่างเดียว โดยเฉพาะหนังสือภาพที่มีสีสันสดใส ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยได้พัฒนาทักษะด้านการเชื่อมโยง ภาษา และความรู้ความเข้าใจมากขึ้น บางครั้งก็จะชอบหยิบของเล่นมาแล้วปล่อยลง แล้วมักจะทำแบบนี้ซ้ำๆ ไม่เบื่อเลย ในต่างประเทศ พ่อแม่หลายคนใช้วิธีเรียนรู้ภาษามือของทารก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกน้อย
พัฒนาการทางด้านสังคมและอารมณ์ของทารก 8 เดือน
ก่อนหน้านี้เด็กมักจะร้องไห้เวลาเจอคนแปลกหน้า แต่พอโตขึ้นมาหน่อยกลับอายที่เห็นคนแปลกหน้ามากกว่า ทำให้เด็กๆ มักจะนัวเนียอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ หรรือคนใกล้ชิด หากคุณอยากจะลูกได้อยู่กับคนแปลกหน้าบ้าง ก็ควรค่อยปลอบลูกคุยกับลูกอย่างอ่อนโยน กอดเขาและอธิบายให้เข้าใจ อาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่ผลรับที่ได้คุ้มแน่นอน เพราะถ้าเด็กคุ้นเคยแล้วจะยิ้มและเข้ามาเล่นด้วยอย่างแน่นอน
พัฒนาการทางด้านสุขภาพและโภชนาการของทารก 8 เดือน
ลูกน้อยสามารถถือของกินได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้แข็งๆ เช่น แอปเปิ้ล อโวคาโด กล้วย เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้ลูกสำลักได้ เช่น องุ่น ถั่ว ช่วงนี้ถ้าลูกกินนมได้น้อยลงไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะลูกจะกินอาหารที่เป็นของแข็งได้มากขึ้นแล้ว ซึ่งเด็กๆ จำเป็นต้องได้รับพลังงานอยู่ที่ 750-900 แคลอรี่ต่อวัน มาจากนม 400-500 แคลอรี่ และที่เหลือคืออาหารเสริมค่ะ ที่มีคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีนที่ครบถ้วน ที่สำคัญอย่าลืม ทดลองอาหารใหม่ๆ ให้ลูกด้วยนะคะ
หากลูกน้อยยังไม่ได้เริ่มกินน้ำจากแก้ว ก็อาจจะเริ่มจากแก้วพลาสติกที่มีน้ำอยู่น้อยๆ ก่อนค่ะ เพื่อฝึกให้ลูกได้ใช้แก้วน้ำให้เป็น เมื่อลูกคุ้นเคยการกินน้ำจากแก้วแล้ว ลูกก็จะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนจากการกินนมจากขวดมากินจากแก้ว คุณพ่อคุณแม่จะได้ไม่ต้องล้างขวดนมอีกต่อไปยังไงละคะ จะเริ่มเป็นหลอดก่อน แล้วค่อยจิบจากแก้ว หลังจากนั้นก็กินจากแก้วโดยตรงเลยก็ได้ค่ะ
กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการทารก 8 เดือน
1.หันมาทางนี้สิ
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกสามารถเอี้ยวตัวใช้มือเล่น ได้อย่างอิสระในท่านั่ง
- อุปกรณ์ในการกระตุ้นพัฒนาการ: ลูกบอลมีเสียง
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
- จัดลูกอยู่ในท่านั่ง วางของเล่นไว้ที่พื้นทาง ด้านข้างเยื้องไปด้านหลังของลูกในระยะที่ลูกเอื้อมถึง
- คุณแม่เรียกชื่อลูกให้สนใจของเล่น เพื่อจะได้เอี้ยวตัวไปหยิบของเล่น ทำอีกข้างสลับกันไป
- ถ้าลูกทําไม่ได้ เลื่อนของเล่นให้ใกล้ตัวลูกอีกเล็กน้อย แล้วคุณแม่ช่วยจับ แขนลูกให้เอี้ยวตัวไปหยิบของเล่นนั้น
2.ลูกจ๋าใครเอ่ย
- ทักษะที่ลูกควรทำได้: ลูกหันตามเสียงเรียกชื่อ
- วิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย:
- คุณแม่เรียกชื่อลูกด้วยนํ้าเสียง ปกติบ่อยๆ ในระยะห่าง 120 ซม. (4 ไม้บรรทัด) (ควรเป็นชื่อที่ใช้เรียกลูกเป็นประจํา)
- ถ้าลูกไม่หัน เมื่อเรียกชื่อแล้วให้ คุณแม่ประคองหน้าลูกให้หันมา มองคุณแม่จนลูกสามารถทําได้เอง
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
ที่มา: sg.theasianparent, คู่มือส่งเสริมพัฒนาการเด็กแรกเกิด – 5 ปี
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
พัฒนาการทารก 7 เดือน ลูกเรียนรู้อะไรบ้าง และวิธีส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยตามวัย