พัฒนาการกระดูก ทารกในครรภ์
โครงสร้างหลักของร่างกายมนุษย์คือกระดูก ทารกในครรภ์เริ่มก่อร่างสร้างตัวมาเป็นรูปเป็นร่าง มาดูกันว่าพัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์แต่ละไตรมาสจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่าน
ไตรมาสที่ 1 พัฒนาการกระดูก ทารกในครรภ์ : กระดูกสันหลังก่อร่างสร้างตัว
สัปดาห์ที่ 6 พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์จะเริ่มพัฒนาจากกลุ่มเซลล์ในตัวอ่อนซึ่งอยู่ในบริเวณชั้นกลาง เซลล์นี้จะแปรเปลี่ยนมาเป็นโครงกระดูก กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อทั่วไปของร่างกาย ไต ม้าม เม็ดเลือดแดง เซลล์ผิวหนังชั้นลึกสุด รวมไปถึงเริ่มสร้างอัณฑะและรังไข่
พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์ ส่วนสำคัญของร่างกายที่เริ่มพัฒนาขึ้นก่อน คือ กระดูกสันหลัง โดยในช่วงแรกของของพัฒนาการกระดูกสันหลังนั้นจะมีลักษณะของกระดูกที่คล้ายร่องหยักตลอดทั้งแผ่นหลัง ทารกในช่วงวัยนี้จะมีลำตัวคดงอมองดูคล้ายกุ้ง
สัปดาห์ที่ 10 ในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะเริ่มมีการพัฒนาโครงหน้า พัฒนาการกระดูกโครงหน้าจะเริ่มเชื่อมต่อกันโดยมีกล้ามเนื้อเป็นส่วนยึดเกาะ อีกทั้งโครงสร้างกระดูกของอวัยวะแขน ขา ก็เริ่มพัฒนาตามลำดับ
ไตรมาสที่ 2 พัฒนาการกระดูก ทารกในครรภ์ : แคลเซียมสารอาหารสำคัญ
สัปดาห์ที่ 14 – 18 พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์ช่วงนี้ ลำตัวของทารกจะเริ่มเหยียดตรงมากขึ้นแล้วค่ะ เนื่องจากการพัฒนากระดูกและซี่โครงรอบลำตัวของทารกนั่นเอง
รอบสัปดาห์นี้พัฒนาการของทารกน้อยจะเริ่มมีเล็บมือ เล็บเท้างอกออกมา รวมไปถึงกระดูกอ่อนภายในร่างกายบางส่วนเริ่มได้รับแคลเซียมเข้ามาสะสมเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้กระดูกเกิดความแข็งแรงขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญทารกน้อยกำลังมีส่วนเหง้าของฟันแท้ 32 ซี่ ที่แอบซ่อนตัวอยู่ในปุ่มเหงือกด้วยนะคะ แบบนี้แคลเซียมสำคัญมาก ๆ เลย
สัปดาห์ที่ 22 พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์จะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับการเจริญเติบโตของทารกนั่นเอง การพัฒนาในช่วงนี้ร่างกายของทารกจะเริ่มคล้ายกับทารกแรกคลอดใหม่ ๆ นอกจากนี้ ฟันน้ำนมของเจ้าหนูจะเริ่มผลิออกจากเหงือก สำหรับเล็บมือ เล็บเท้าก็งอกออกมาอย่างสมบูรณ์แล้วเช่นกัน
ไตรมาสที่ 3 พัฒนาการกระดูก ทารกในครรภ์ : พร้อมออกมาดูโลก
สัปดาห์ที่ 26 – 30 ในช่วงสัปดาห์นี้พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์จะเริ่มแข็งแรงมากขึ้น เพราะได้รับแคลเซียมจากคุณแม่ กระดูกนิ้วมือ นิ้วเท้าพัฒนาอย่างเต็มที่
สัปดาห์ที่ 34 – 40 เตรียมความพร้อมแล้วค่ะสำหรับทารกน้อย เพราะตอนนี้พัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์ได้พัฒนาอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ดีแล้วค่ะ ทั้งเล็บมือ เล็บเท้าของเจ้าหนูเริ่มงอกยาวมากขึ้น ดังนั้น เมื่อคลอดออกมาคุณหมอจึงต้องตัดเล็บมือเล็บเท้าให้ทารกแรกเกิดไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันไม้ให้เจ้าหนูข่วนหน้า ข่วนตา หรือผิวเนื้อส่วนต่าง ๆ จนเกิดบาดแผลค่ะ
ได้ทราบถึงพัฒนาการกระดูกของทารกในครรภ์กันแล้วนะคะ ว่ามีการพัฒนาไปแบบใด ตั้งแต่ไตรมาสที่หนึ่งจนถึงไตรมาสที่สาม ทีนี้มาดูกันว่าคุณแม่จะช่วยเสริมสร้างกระดูกให้ลูกน้อยได้อย่างไร
แคลเซียมสำคัญสำหรับหนูนะแม่!!!
ในช่วงตั้งครรภ์ แคลเซียมเป็นสารอาหารจำเป็นและสำคัญที่แม่ท้องพลาดไม่ได้ และจำเป็นต้องได้รับเพิ่มมากกว่าเดิม คือ แม่ตั้งครรภ์นั้นควรได้รับแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม เมื่อได้รับแคลเซียมเพียงพอ ตัวคุณแม่เองก็จะลดความเสี่ยงเรื่องกระดูกพรุน ลดการเกิดตะคริว
สำหรับทารกน้อยในครรภ์ก็จะได้รับประโยชน์จากแคลเซียม คือ นำแคลเซียมไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต สร้างกระดูก สร้างกล้ามเนื้อ ช่วงเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์นั้นเป็นช่วงที่มีการพัฒนาการสูงมาก ทารกจะดูดซึมแคลเซียมผ่านคุณแม่ ดังนั้น คุณแม่จำเป็นต้องได้รับแคลเซียมมากพอสำหรับตนเองและทารกในครรภ์นะคะ
บทความแนะนำ 10 สุดยอดผลไม้อุดมไปด้วยแคลเซียมที่แม่ท้องต้องกิน
แหล่งอาหารแคลเซียม
คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องการแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัม/วัน แหล่งอาหารแคลเซียมที่คุณแม่สามารถนำมารับประทานได้ จะมีอยู่ในนมวัว นมถั่วเหลือง ปลาที่กินได้ทั้งกระดูก ผัก ผลไม้หรือแม้แต่อาหารไทยของเราเอง คุณแม่ควรรับประทานในปริมาณ ดังนี้
ดื่มนมวันละ 1-2 แก้ว แบ่งเป็นนมวัว 1 แก้ว และนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียมอีก 1 แก้ว ปลาที่กินทั้งกระดูก เช่น ปลาข้าวสาร ปลาตัวเล็ก กินร่วมกับข้าว ไข่ 1 ฟอง ธัญพืชต่าง ๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผักใบเขียว ผลไม้ 2-3 ชนิด หรือคุณแม่จะเลือกรับประทานอาหารไทย ๆ ที่มีกะปิเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงเลียง ต้มส้ม แกงเผ็ดต่าง ๆ เป็นต้น ก็ได้รับแคลเซียมเหมือนกันค่ะ
บทความแนะนำ 8 อาหารเสริมแคลเซียมสำหรับคนท้องที่ไม่ชอบดื่มนม
พัฒนาการกระดูก ทารกในครรภ์จะก่อรางสร้างตัวได้ดีและแข็งแรง ขึ้นอยู่กับคุณแม่ที่ต้องดูแลรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการโดยเฉพาะแคลเซียม ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงกระดูกคุณแม่และเสริมสร้างกระดูกของทารกในครรภ์ค่ะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูลจาก
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ครรภ์คุณภาพของแม่ท้อง ต้องดูแลแบบนี้
8 อาหารเสริมแคลเซียมสำหรับคนท้องที่ไม่ชอบดื่มนม