พฤติกรรมเด็กแรกเกิด-3 ปี หนูทำแบบนี้ แม่ต้องรับมือแบบไหน

พฤติกรรมเด็กแรกเกิด-3 ปี นั้นมีความแตกต่างกัน คุณแม่จึงควรทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมของเด็กแต่ละช่วงวัย ว่าหนูทำแบบนี้ คุณแม่ควรรับมือแบบไหน

พฤติกรรมเด็กแรกเกิด-3 ปี หนูทำแบบนี้แม่ต้องรับมือแบบไหน

พฤติกรรมเด็ก 0-12 เดือน

  • เด็กวัยนี้เพลิดเพลินกับการนำทุกอย่างเข้าปาก ทั้งมือ เท้า อาหาร ของเล่น รองเท้า และอีกมากมาย
  • เมื่อลูกร้องไห้ แสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่าง แต่ลูกยังไม่สามารถสื่อสารด้วยคำพูดได้ ว่าเขาง่วง หิว ต้องการให้กอด หรือต้องการให้เปลี่ยนผ้าอ้อม
  • กลัวคนแปลกหน้า และรู้สึกไม่สบายใจเมื่อคนคุ้นเคยไม่อยู่ใกล้ๆ
  • ชอบจ้องหน้าคน ทั้งในชีวิตจริง ในหนังสือ และในกระจก

พ่อแม่ควรตอบสนองอย่างไร

เด็กน้อยกำลังปรับตัวให้เข้ากับโลกใบใหม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจ ตอนนี้ลูกยังสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเอาใจใส่ต่อสัญญาณที่ลูกพยายามสื่อสารเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ และคลี่คลายปัญหาต่างๆ ให้ลูกโดยเร็ว ทำให้เขารู้สึกว่าโลกใบนี้ปลอดภัยสำหรับเขา ให้นมและอาหารตามวัยเมื่อลูกหิว ปลอบโยนเมื่อลูกกลัว กอดด้วยความรักเมื่อลูกต้องการอ้อมแขนของคุณ สิ่งเหล่านี้จะช่วยปูพื้นฐานทางจิตใจให้กับลูก มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อมั่น ภูมิใจในตนเอง รวมถึงมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่นด้วย

บทความแนะนำ เช็คพัฒนาการลูกน้อยขวบปีแรก สิ่งที่ลูกควรทำได้ในแต่ละช่วง

พฤติกรรมเด็ก 1-2 ขวบ

  • มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบได้มากขึ้น
  • ยังไม่เข้าใจในเรื่องของเจตนา หรือความหมายของการกระทำใดๆ เช่น เมื่อลูกกัด ไม่ได้เพื่อจะทำร้าย ลูกคว้าของเล่นจากเด็กคนอื่นๆ ไม่ได้เพื่อจะแกล้งให้ไม่พอใจ แต่เป็นเพราะเขารู้เพียงว่าสิ่งต่างๆ มีไว้สำหรับคว้า จับ หรือกินเท่านั้น
  • มีความอยากรู้ อยากสำรวจ เด็กวัยนี้ชอบดึงสิ่งต่างๆ ลงมา หรือโยนของไปบนพื้น เพื่อจะดูว่าจะเกิดอะไรต่อไป
  • ยังไม่รู้จักการแบ่งปัน
  • อาจดูเหมือนเจ้ากี้เจ้าการและเห็นแก่ตัว แต่คุณพ่อคุณแม่จำไว้ว่า อะไรก็ตามที่ลูกวัยนี้สนใจหรือคิดว่าเป็นของเขา เขาจะไม่ยอมให้ใครเอาไปเด็ดขาด
  • เริ่มเข้าใจในเรื่องความเป็นเจ้าของและพัฒนาความเป็นตัวตนมากขึ้น
  • สองคำที่ลูกชอบพูดคือ “ของผม/ของหนู” และ “ไม่”
  • มักจะตื่นในช่วงเวลากลางคืน
  • ในช่วงปลายของวัยนี้ ลูกอาจจะท้าทายคุณมากขึ้น เพื่อทดลองว่าเขาจะสามารถทำอะไรได้มากแค่ไหน
  • การเกรี้ยวกราดหรืออาละวาดของลูก เป็นการแสดงออกถึงอารมณ์ที่เขายังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้ เช่น หงุดหงิด โกรธ เสียใจ ผิดหวัง และอับอาย เป็นต้น
  • เริ่มที่จะเล่นกับเด็กคนอื่นมากกว่าเล่นคนเดียว

พ่อแม่ควรตอบสนองอย่างไร

  • เด็กวัยนี้ยังคงมีช่วงความสนใจสั้น จึงเหมาะที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจลูกเมื่อคุณไม่ต้องการให้เขาทำสิ่งใดๆ ก็ตาม
  • ชื่นชมลูก เมื่อเห็นว่าลูกทำในสิ่งที่ถูกต้อง
  • สอนให้ลูกรู้จักว่าสิ่งไหนไม่ดี ไม่ควรทำ
  • เพิกเฉยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ บ้าง เพราะลูกมีอะไรต้องเรียนรู้อีกมาก ควรให้ลูกคุ้นเคยกับเรื่องที่สำคัญก่อน
  • ลูกเริ่มเข้าใจสิ่งที่คุณบอก แต่อย่าเพิ่งคาดหวังว่าลูกจะทำตามที่บอกได้ทันทีนะคะ คุณต้องแนะนำเขาด้วยความอดทน เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลา
  • อ่อนโยนต่อลูกเมื่อเขายังทำไม่ถูกหรือทำไม่ได้ พยายามทำความเข้าใจว่า ลูกทำดีที่สุดแล้ว หากคุณคาดหวังมากเกินไปอาจทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่มีความวิตกกังวลมากขึ้น ท้าทายมากขึ้น หรือขาดความมั่นใจเมื่อเข้าสู่วัยสามขวบ
  • สอนลูกให้รู้จักใช้คำแสดงความรู้สึก เช่น ลูกเสียใจที่ต้องเก็บของเล่น เพราะลูกยังอยากเล่นต่อใช่ไหมจ๊ะ

อ่าน พฤติกรรมเด็ก 3 ขวบ คลิกหน้าถัดไป

พฤติกรรมเด็ก 3 ขวบ

  • ชอบทดสอบความเป็นอิสระของตัวเอง อยากรู้ว่าพ่อแม่จะปล่อยให้เขาทำอะไรได้แค่ไหน และเมื่อถูกขัดใจ ก็จะเริ่มอาละวาด
  • ต้องการเป็นผู้ควบคุม ไม่ต้องการถูกควบคุม เมื่อถูกขัดใจ ก็จะเริ่มอาละวาด
  • เมื่อผิดหวังเสียใจ ก็จะเริ่มอาละวาด
  • จะแสดงความเกรี้ยวกราดและอาละวาดมากขึ้น
  • บางเรื่องก็อยากจะทำด้วยตัวเอง ไม่ยอมให้ใครช่วย แต่บางเรื่องที่ควรทำเองกลับอยากให้คนอื่นทำให้ เช่น อุ้มหนูหน่อย แม่ทำให้หนูหน่อย
  • ชอบพูดว่า “ไม่” แม้อาจจะหมายความว่า “ใช่”
  • ช่างเลือกมากขึ้น เช่น ไม่เอาแปรงสีฟันอันนี้จะเอาอันที่มีเอลซ่า ไม่เอาแซนวิชสี่เหลี่ยมจะเอาแซนวิชสามเหลี่ยม เป็นต้น
  • อาจพูดตะกุกตะกัก ยังถ่ายทอดสิ่งที่คิดเป็นคำพูดได้ไม่ดีนัก
  • พยายามจะควบคุมสภาพแวดล้อม โดยอยากที่จะวางแผนทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง หรือลองทำสิ่งที่ท้าทาย
  • อาจสับสนระหว่างความจริงกับความเชื่อ เริ่มเล่นโดยมีเพื่อนสมมติ
  • ยังคงไม่เข้าใจเรื่องการแบ่งปัน และยังคงยึดมั่นในการแสดงความเป็นเจ้าของ
  • อาจแสดงออกว่าอิจฉา เมื่อพ่อแม่ให้ความสนใจกับเด็กคนอื่น

พ่อแม่ควรตอบสนองอย่างไร

  • คุณอาจต้องใช้ความอดทนเพิ่มมากขึ้นในการรับมือกับพฤติกรรมของลูกวัยนี้ แต่ขอให้ท่องไว้ว่า พฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้คงอยู่ตลอดไปหรอกนะ
  • บอกให้เขารู้เวลาที่เขาทำดี รู้ไหมว่า ลูกอยากรู้ว่าคุณมีความสุขแค่ไหนเวลาที่เขาทำดี
  • อ่อนโยนกับลูกเวลาที่ลูกทำผิด เชื่อเถอะว่า ลูกอยากทำในสิ่งที่ถูกต้องแต่ระหว่างทางอาจมีหลายสิ่งที่ลูกก็อยากทำเช่นนั้น ดังนั้น อย่าได้ลงโทษรุนแรงในความผิดพลาดของเขาเลย แต่ควรใช้ความผิดพลาดนั้นมาเป็นโอกาสในการสอนลูกดีกว่า
  • อย่าตั้งกฎให้มากนัก เพราะการตั้งกฎที่มากเกินไปอาจทำให้ลูกสับสน แต่ควรยึดมั่นกับกฎที่ได้ตั้งไปแล้ว อย่าทำให้ลูกเรียนรู้ว่า บางครั้งการไม่ทำตามกฎก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะนั่นจะทำให้การฝึกลูกยากขึ้นอีก
  • ใช้คำว่า “ไม่” อย่างอ่อนโยนและพอเหมาะ เปิดโอกาสให้ลูกได้สำรวจ ทดลอง และเรียนรู้สิ่งต่างๆ บนโลกใบนี้ ให้คำแนะนำแต่ไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของลูก
  • ให้อิสระและพื้นที่ในการเล่น เพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายและการเล่นตามจินตนาการ สนับสนุนความพยายามในการเล่นอย่างสร้างสรรค์ของลูก เพื่อให้ลูกได้รับรู้ถึงความศักยภาพที่ตัวเองมี
  • สนับสนุนการตัดสินใจภายใต้ตัวเลือกที่คุณกำหนด เช่น ลูกอยากจะอาบน้ำก่อนหรือเลือกชุดนอนก่อนดีจ๊ะ? ลูกอยากจะใส่เสื้อสีแดงหรือสีเหลืองวันนี้?
  • อย่ารู้สึกผิดหากตัวคุณเองต้องการเวลาในการเติมพลังให้ตัวเอง เพื่อที่คุณจะได้มีแรงในการรับมือกับลูกอีกครั้ง เมื่อคุณชาร์จพลังมาอย่างเต็มที่แล้ว
  • ฝึกกิจวัตรในการพาลูกเข้านอน เพื่อที่ทั้งคุณและลูกจะได้พักผ่อนและหลับฝันดี ด้วยนิทานก่อนนอน การโอบกอด จูบ บอกรัก และกล่าวคำว่า ราตรีสวัสดิ์

คุณแม่ได้ทราบถึง พฤติกรรมเด็กแรกเกิด-3 ปี แล้วนะคะ อย่างที่ทราบดีว่า 3 ปีแรกของชีวิตลูกนั้นเป็นช่วงที่ความสำคัญที่สุด หากคุณแม่เข้าใจและรับมืออย่างเหมาะสมจะเป็นการสร้างพื้นฐานชีวิตที่ดีให้กับลูกต่อไปในอนาคต

ที่มา www.heysigmund.com/developmental-stage/

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

เลี้ยงลูกในขวบปีแรกอย่างไรไม่เรียกว่าพลาด

วิธีรับมือเมื่อลูกอาละวาด