นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุดสำหรับคุณแม่หลาย ๆ คน ที่จะต้องกลับไปสู่สังคมการทำงาน เพราะสถาบันครอบครัว ณ ปัจจุบันเป็น ลักษณะของครอบครัวขนาดเล็ก จึงยากที่จะพึ่งพาอาศัยให้ญาติผู้ใหญ่ให้มาช่วยดูแล บางคนอาจจะคิดถึงการลาออกจากงาน มาเพื่อเลี้ยงดูลูกน้อยด้วยตัวเองก็มี หลายความคิด หลายความกังวลใจ มีมากมายระหว่าง ฝากเนอสเซอรี่ หรือ เลี้ยงลูกเอง แบบไหนจะดีกว่ากัน
เชื่อว่าคุณแม่ทั้งหลายก็อยากที่จะ เลี้ยงลูกเอง หากแต่ด้วยภาระหน้าที่ และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่จะหวังพึ่งพาแต่คุณพ่อเป็นผู้หาเลี้ยงอย่างเดียว ก็คงจะเป็นไปได้ยากการ ฝากเนอสเซอรี่ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระให้คุณพ่อ คุณแม่ ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน แต่ลูกเราจะพร้อมฝากเนสเซอรี่ได้เมื่อไหร่ แล้วหากเราต้องการเลี้ยงดูเอง จะส่งผลดีกับตัวลูกน้อยมากกว่าหรือไม่
ฝากเนอสเซอรี่ดีอย่างไร
การฝากเนอสเซอรี่นั้น โดยมากจะเริ่มรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป จนถึงอายุ 3 ปี ซึ่งเป็นการตอบโจทย์สำหรับ คุณพ่อ คุณแม่ ที่จะต้องทำงานในช่วงกลางวัน การเลือกเนอสเซอรี่นั้น จำเป็นจะต้องใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 ของเด็กเลยทีเดียว
พิจารณาจากสิ่งใดบ้าง
- ค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายในการรับฝากเด็กนั้น จะแตกต่างกันออกไปตามอายุของเด็กที่ฝาก ซึ่งบางรายสามารถรับฝากเป็นรายชั่วโมงด้วยเช่นกัน โดยอัตราค่าจ้าง จะเริ่มต้นที่ 5,000 ต่อเดือน ซึ่งบางที่ จะรับฝากเป็นรายชั่วโมงด้วย ทั้งนี้ ตัวผู้ปกครองเอง จำเป็นจะต้องแจ้งกับทางสถานรับเลี้ยงเด็ก เนอสเซอรี่ ก่อนล่วงหน้า 3 วันทำการ
- ที่ตั้งทำเลของเนอสเซอรี่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ปกครองจะต้องคำนึงถึง เพราะถ้าเป็นทางผ่านของการไป – กลับ จากบ้านไปที่ทำงาน ย่อมเพิ่มความสะดวกสบายให้กับตัวผู้ปกครองเองเป็นอย่างมาก แต่ตัวลูกน้อยเองก็จะไม่เหนื่อยกับการเดินทางด้วยเช่นกัน
- นโยบายในการดูแลเด็ก ผู้ปกครองควรใส่ใจ และสอบถามถึงวิธีการดูแลของสถานรับฝากเลี้ยง หรือเนอสเซอรี่ โดยละเอียด เพื่อดูว่าตัวผู้ปกครองเองจะรับได้หรือไม่ ซึ่งบางครั้ง ก็อาจจะนำลักษณะการดูแลของเนอสเซอรี่ มาปรับเปลี่ยนในช่วงที่เราเลี้ยงเอง เพื่อให้เป็นไปในทางทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่เร็วยิ่งขึ้น
- ความปลอดภัยของสถานที่ ปลอดภัย (มีประตูที่เด็กจะเดินออกไปเองไม่ได้ ทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคง มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด มีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี ถ้าเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ควรมีห้องแยกเวลาเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายเหมาะกับแต่ละวัยเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอแก่เด็ก ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกรณีคนแปลกหน้ามาลักพาเด็ก
- บุคลากร จำนวนเพียงพอกับจำนวนเด็ก จะได้ดูแลเด็กได้ทั่วถึง เป็นผู้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม รักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็ก ผ่านการอบรมหลักสูตรการช่วยชีวิต หรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมฝึกพัฒนาการที่แน่นอนสำหรับเด็กแต่ละช่วงอายุ หากมีใบอนุญาตจัดตั้งสถานประกอบการรวมถึงหลักสูตรที่มีมาตรฐานด้วย จะดีมากขึ้น (แต่แพงขึ้นแน่นอน) ไม่ควรมีทีวีให้เด็กดูเพราะเป็นการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง มีผลเสียจากการดูทีวีมากมาย หากใช้ทีวีเลี้ยงเด็ก ให้ถือว่าเป็นคนดูแลที่ประสิทธิน้อย
- ระบบการดูแลสุขภาพเด็ก มีห้องแยกเด็กป่วย หรือไม่ให้มาเรียนจนกว่าจะพ้นระยะแพร่เชื้อ มีความรู้ในการสังเกตอาการเจ็บป่วยของเด็ก เช่น เมื่อเด็กมีไข้ อาเจียน ซึมลง กินน้อยลง ไม่ค่อยเล่น มีตุ่มหรือผื่นขึ้นตามตัว หรือในปาก เพื่อจะได้รีบแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด และรีบโทรศัพท์ตามผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน หรือพาไปตรวจที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยเฉียบพลัน และจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งให้เด็กได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันการณ์ เน้นเรื่องการล้างมือบ่อย ๆ โดยการมีก๊อกน้ำจำนวนเพียงพอ หรือมีอัลกอฮอล์เหลว หรือแอลกอฮอล์เจลเอาไว้ถูมือบ่อย ๆ ก่อนที่จะเตรียมอาหารให้เด็ก หลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม หลังการเช็ดน้ำมูก น้ำลาย หรืออาเจียนของเด็ก หลังการอุ้ม หรือสัมผัสเด็กแต่ละคน ก่อนที่จะสัมผัสเด็กคนต่อไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค (สำคัญมากค่ะเรื่องการล้างมือ)
- มีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ อาหารและของว่างถูกหลักโภชนาการและน่ารับประทาน การใช้ห้องน้ำ และการกำจัดสิ่งปฏิกูล การแยกข้าวของเครื่องใช้เด็กแต่ละคนไม่ปะปนกัน มีการทำความสะอาดห้องเรียน อุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ
- มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง อยู่ในที่เห็นได้ง่าย
เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องไปฝากที่เนอสเซอรี่
การเลี้ยงลูกด้วยตนเอง
1. ตื่นตูมกับทุกสิ่งทุกอย่างจนเกินไป
ในช่วงขวบปีแรกของลูกน้อย จะเป็นช่วงที่คุณแม่ใกล้จะสติแตกมากที่สุด จนหลายคนก็เผลอตื่นตูมกับทุกพฤติกรรมของลูกเกินไป อย่างเช่น ตื่นตกใจเมื่อลูกสำรอกนม หรือร้องไห้กระจองอแงบ่อย ๆ ซึ่งความตื่นตระหนกของคุณแม่อย่างนี้ ก็จะกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดความกังวลไปด้วยได้ กุมารแพทย์ก็ได้ชี้แจงว่า ร่างกายของเด็กแรกเกิด จะมีกระบวนการยืดหยุ่น และปรับสภาพร่างกายตัวเองได้อยู่แล้ว ดังนั้นหากคุณแม่มั่นใจว่าให้นมลูกในปริมาณที่เหมาะสม และลูกน้อยเองก็ไม่ได้มีอาการผิดปกติเกินไป ปัญหาเด็กสำรอกนม หรือร้องไห้บ่อย ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลมากนัก
2. คิดว่าการที่ลูกร้องไห้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข
พ่อแม่หลายคนจะตกใจมากหากเห็นลูกน้อยร้องไห้ เพราะเข้าใจว่า เมื่อไรที่เด็กร้องไห้ออกมา ก็แสดงว่าเด็กรู้สึกแย่หรือป่วย ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว เด็กกับการร้องไห้เหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เด็ก ๆ ร้องไห้ก็เพราะเขายังเป็นเด็ก และไม่รู้วิธีจะเรียกร้องความสนใจจากพ่อแม่อย่างไรเท่านั้นเอง แต่หากว่าลูกน้อยร้องไห้เสียงดัง ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ปลอบเท่าไรก็ไม่ยอมหยุดร้อง กรณีนี้ควรพาเขาไปหากุมารแพทย์โดยด่วนนะจ๊ะ
3. ปลุกลูกมาดื่มนม
อาจเป็นความเข้าใจผิดที่คิดว่า นมแม่จะไม่อยู่ท้อง และไม่สามารถทำให้ลูกรักเต็มอิ่มได้ตลอดทั้งคืน ด้วยเหตุนี้คุณแม่หลายท่านจึงมักจะปลุกลูกน้อยตอนกลางดึก เพื่อให้เขาตื่นมาดื่มนมแม่อีกครั้ง ก่อนจะกล่อมให้เขาหลับต่ออีกหน ซึ่งต้องบอกตรงนี้เลยว่า การปลุกลูกน้อยให้ตื่นขึ้นมาดื่มนมกลางดึกแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรทำนัก เพราะในยามกลางคืนเด็กเองก็ไม่ได้มีความต้องการดื่มนมแม่เท่าไร แต่เขาต้องการพักผ่อนอย่างเต็มที่ตลอดทั้งคืนต่างหาก
4. สับสนระหว่างการแหวะและอาเจียน
คุณแม่หลายคนมักจะสับสนระหว่างพฤติกรรมที่ลูกแหวะของที่กินออกมา และอาการอาเจียน โดยแยกไม่ออกว่า ลูกแหวะหรือว่าอาเจียนจริง ๆ กันแน่ และมักจะบรรเทาอาการของลูกแบบผิด ๆ หรือเข้าข่ายตื่นตกใจเกินเหตุ แต่ทั้งนี้กุมารแพทย์ก็แนะนำว่า หากลูกแหวะหรือสำรอกนมทุก ๆ 30-45 นาทีติดต่อกัน อันนับเป็นอาการอาเจียน ก็อาจเป็นไปได้ว่า ระบบทางเดินอาหารของลูกมีปัญหา แต่หากลูกน้อยเพียงแค่แหวะออกมาเป็นครั้งคราว ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่ากังวลแต่อย่างใด
5. ละเลยอุณภูมิในตัวลูกน้อย
หากอุณภูมิของลูกน้อยสูงเกินกว่า 37 องศาเซลเซียส ก็นับว่าเป็นระยะอันตรายกับตัวเด็กแล้ว แต่คุณแม่มือใหม่หลายคนมักจะเข้าใจผิดไปว่า เด็กเพียงตัวอุ่น ๆ จากการที่เราห่มผ้า หรือสวมเสื้อผ้าหนา ๆ ให้เขาเท่านั้น ซึ่งการละเลยเช่นนี้สามารถเปิดโอกาสให้ลูกรักป่วยได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว ดังนั้นหากรู้สึกได้ว่าลูกตัวอุ่น ๆ ติดต่อกัน 24 ชั่วโมง แถมยังมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ต้องรีบนำเขาไปพบแพทย์ด่วนเลยนะคะ
6. ติดตั้งคาร์ซีทไม่ถูกต้อง
ต้องยอมรับว่าสมัยนี้เราใช้ชีวิตกันได้ง่ายดายขึ้นมาก ถึงขนาดที่ซื้ออุปกรณ์อะไรมาก็สามารถติดตั้งด้วยตัวเองง่าย ๆ ตามคู่มือการใช้งานได้เลย แต่สำหรับคาร์ซีทของลูกน้อยควรจะต้องเป็นกรณียกเว้น เนื่องจากหากคุณสุ่มสี่สุ่มห้าติดตั้งคาร์ซีทแบบผิด ๆ ไป อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกรักในขณะที่เขาโดยสารรถยนต์ของคุณพ่อคุณแม่ได้ ฉะนั้นก็ควรยกหน้าที่นี้ให้ช่างผู้ชำนาญการเป็นคนติดตั้งคาร์ซีทให้จะดีกว่า
7. ไม่ใส่ใจสุขภาพช่องปากของลูกรัก
ผู้ใหญ่หลายคนมักจะเข้าใจว่า เด็ก ๆ ไม่น่าจะมีปัญหาสุขภาพช่องปาก เนื่องจากเขาไม่ค่อยได้รับประทานอาหารเท่าไรนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว กุมารแพทย์ก็แนะนำให้คุณแม่ใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากของลูกรักตั้งแต่เนิ่น ๆ เริ่มจากไม่ปล่อยให้เขานอนหลับคาขวดนม ในกรณีที่ลูกน้อยมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นแล้ว และพยายามให้เขาได้บ้วนปากด้วยฟลูโอไรด์ด้วย โดยอาจจะปรึกษาทันตแพทย์ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเล็กก็ได้ นอกจากนี้ก็ควรใช้ผ้ากอซชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเหงือกให้ลูกรักทุกครั้งหลังเขารับประทานอาหาร หรือดื่มนมด้วย
8. หลงลืมความสัมพันธ์ฉันท์สามี ภรรยา
คู่แต่งงานหลายคู่เริ่มมีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกัน หลังจากที่ให้กำเนิดลูกน้อยออกมา โดยนักจิตวิทยาได้ชี้แจงว่า ต้นเหตุของปัญหาอาจเกิดจากการที่คุณแม่มือใหม่ต้องทุ่มเทเวลาเลี้ยงดูลูกน้อยแบบแทบจะถวายชีวิต อุทิศเวลาทั้งหมดของตัวเองให้ดวงใจแสนรัก ก็เลยลืมดูแลความสัมพันธ์ฉันท์สามีภรรยาไปบ้าง จนหนักเข้าก็กลายเป็นสร้างระยะห่างระหว่างกันโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยกับการเลี้ยงดูลูกน้อย ก็อย่าลืมแบ่งเวลาไปกุ๊กกิ๊กกับสามีบ้างนะจ๊ะ
9. แสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูก
เด็กอายุ 3 เดือนก็เริ่มรับรู้ และมีความรู้สึกแล้ว ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูกน้อยอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นเสียง หรือตะคอกใส่กัน รวมทั้งการทะเลาะตบตีกันด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะสร้างความเครียด และความกดดันให้ลูกน้อยโดยที่คุณไม่ทันได้รู้สึกตัว และอาจะเป็นสาเหตุให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงเมื่อเขาโตขึ้น
10. หลงเชื่อวิธีการเลี้ยงลูกจากแหล่งที่เชื่อถือไม่ได้
ผลสำรวจเผยว่า คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักจะพลาดไปหลงเชื่อข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อย จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือไม่ได้ ซึ่งก็แน่นอนว่า ต้องส่งผลเสียมากกว่าผลดีกับลูกรักของเราอยู่แล้ว ฉะนั้นต่อไปนี้ควรรับคำแนะนำในการเลี้ยงดูลูกน้อยจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือจากประสบการณ์ตรงของคุณแม่มือโปรที่ผ่านการเลี้ยงดูเด็กเล็กมาก่อน โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลทางการแพทย์ และการฉีดวัคซีน ซึ่งควรต้องได้รับคำแนะนำจากกุมารแพทย์โดยตรง
การเสริมสร้างพัฒนาการที่ดี
การพัฒนาการที่ดีของเด็ก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คน ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทั้งทางด้าน สมอง พฤติกรรม และร่างกาย ควรที่จะสัมพันธ์ และมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
การเลี้ยงดูลูกเอง : โดยมาก คุณพ่อคุณแม่ มักจะคิดว่า หากเราเลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง เราจะสามารถเสริมสร้างพัฒนาการ โดยการเลือกของเล่น และสอนลูกได้อย่างเต็มที่ ซึ่งวิธีนี้ จะต้องอาศัยการศึกษาโดยละเอียดของตัวผู้เลี้ยง ว่าวิธีสอนแบบไหน หรือเครื่องเล่นแบบไหนที่จะช่วยในการพัฒนาของเด็กได้มากที่สุด โดยทั่วไป การเลี้ยงดูลูกเองในลักษณะนี้
ประโยชน์ที่ได้คือ ความปลอดภัยสำหรับเด็ก ความสะอาด และสามารถฝึกเด็กได้ตามที่ผู้เลี้ยงได้คาดหวัง
ข้อเสียคือ ตัวผู้เลี้ยงจะต้องคอยศึกษาหาข้อมูลในการเลี้ยงดูแลเด็กที่ถูกต้อง จะต้องทุ่มเทเวลาและการดูแลมากขึ้นกว่าเดิม และสิ้นเปลืองเงินในการซื้อของเล่นเสริมทักษะให้กับเด็ก
การฝากเนอสเซอรี : แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะต้องเสียเงินเพื่อการจ้างดูแลลูกน้อย และเสี่ยงกับการฝากลูกน้อยให้กับคนอื่นก็ตาม แต่ก็ก็จะช่วยเบาภาระให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้มาก
ประโยชน์ที่ได้คือ คุณพ่อคุณแม่ จะมีเวลาในการพักผ่อน และทำงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากลูกจะต้องอยู่กับคนอื่น หลากหลาย การเห็นพฤติกรรมหลากหลายของผู้อื่น จะทำให้เกิดการเลียนแบบ และพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และสถานฝากเนอสเซอรี จะมีของเล่นพัฒนาสำหรับเด็กตามวัย และวิธีการดูแลอย่างมีขั้นมีตอนอย่างชัดเจน
ข้อเสียคือ เนื่องจากอยู่กับเด็กอื่น หลายคนในสถานที่เดียวกัน โอกาสเสี่ยงถึงโรคติดต่อก็มีสูงด้วยเช่นกัน และตัวผู้ปกครองควรศึกษาหาสถานที่ฝากเนอสเซอรีที่ดี และเหมาะสมให้กับลูก เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยเป็นหลัก
ตัวอย่างความคิดเห็นจากคุณพ่อคุณแม่ จากทางเว็ปไซต์ต่าง ๆ
จากกรณีของเรานะคะ ไม่ใช่ลูก แต่เป็นหลาน
หลานคนโต ฝากให้ญาติเลี้ยง ตอนอายุ 1 ขวบ ญาติแบบแก่ๆ คนต่างจังหวัดค่ะ พัฒนาการก็ตามวัย แต่ไม่มีเสริมด้านทักษะ มาเสริมตอนเข้าเตรียมอนุบาล พอคนเล็ก ฝากเนอสตอน 10 เดือน ตอนนี้ 1.4 ขวบแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกัน พัฒนาการไวกว่าพี่มาก ครูพาทำกิจกรรมกลุ่ม ทำตามคำสั่งได้ไวกว่าตอนพี่อายุเท่ากัน แต่ค่า รร เนอสก็แพงเช่นกัน
ความคิดเห็นของคุณ KHoMPHiiNG จากเว็ปไซต์ Pantip
เด็กที่เรียนเนอสจะพัฒนาการดีกว่าเด็กที่เลี้ยงอยู่บ้านที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงเต็มที่ครับ ตัวอย่างเด็กเนอส 2 ขวบ สามารรถไปอึเองได้ กินช้อนซ้อมได้ ซึ่งเด็กอยู่บ้านจะทำแบบนี้ได้น้อยเพราะพ่อแม่โอ๋
ยิ่งบางคนเชื่อตามเพจว่าเลี้ยงเองดีที่สุด แต่ลืมคำนึงว่าตัวเองพร้อมเลี้ยงลูกขนาดไหน ดันส่งลูกเข้าตอน ป.1 เลย อันนี้ยิ่งหนัก พัฒนาการเด็กจะด้อยกว่าเด็กที่เรียนตั้งแต่อนุบาล จนเป็นภาระแก่ครูครับ
แต่ข้อเสีย คือเด็กจะป่วยบ่อยครับ
ความคิดเห็นของคุณ เม่าน้อยดอยนาน จากเว็ปไซต์ Pantip
ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเลือกฝากเนอสเซอรี หรือเลือกที่จะเลี้ยงดูเอง เป็นหลักนั้น ก็ควรคำนึงถึง ความรักความเข้าใจ การดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยเป็นหลัก ไม่ยัดเยียดการเรียนรู้ให้กับเด็กมากจนเกินไป ควรให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อไม่ให้เกิดความกดดันกับตัวเด็กไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงลูกด้วยตนเอง หรือการฝากเนอสเซอรี่ ต่างมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของครอบครัวของคุณนะคะ
ที่มา : สุธีรา , pobpad , anamai
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การหาพี่เลี้ยงเด็ก 100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 93
ลูกแพ้อาหารต้องทำอย่างไร เคล็ดลับการดูแลลูกแพ้อาหารในแต่ละช่วงวัย