จากกรณีที่คุณแม่ชาวอังกฤษโพสต์เตือนพ่อแม่ว่า อย่าปล่อยให้ใคร “จูบ” ลูกน้อย เพราะอาจเสี่ยงติดเชื้อเริม เหมือนกับที่ลูกของเธอเกือบเสียชีวิตด้วยโรคนี้มาแล้ว ทราบไหมคะว่า โรคเริมในเด็กไม่ได้ติดต่อด้วยการ “จูบ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ลูกน้อยสามารถติดเริมได้จากทางอื่นๆ อีก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังและป้องกันไว้ค่ะ มาดูวิธี ป้องกันลูกเป็นเริม กันค่ะ
โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงโรคเริมเรามักคิดถึงโรคของผิวหนังและเยื่อบุที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในผู้ใหญ่ ไม่มีอาการรุนแรงอะไรใช่ไหมคะ แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า หากลูกเล็กเป็นเริมขึ้นมาอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรคเริมเกิดจากอะไร?
โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า เฮอร์ปีส์ซิมเพลกซ์ (Herpes simplex virus หรือ HSV) มี 2 ชนิด คือ ชนิด HSV-1 และ HSV-2 โดย HSV-1 มักก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปาก HSV-2 มักก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะเพศ ระบบประสาท และ โรคเริมชนิดแพร่กระจายทั่วร่างกายในทารกแรกเกิด แต่ทั้งนี้ HSV ทั้งสองชนิดอาจเป็นสาเหตุติดเชื้อกับเนื้อเยื่อส่วนไหนก็ได้เมื่อร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง เช่น ที่เยื่อหุ้มสมอง สมอง ตา เป็นต้น
เด็กๆ ติดโรคเริมได้อย่างไร?
โรคเริมในเด็กแรกเกิดอาจติดจากคุณแม่ได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ แต่มีรายงานการเกิดน้อยมาก ทารกจะมีอาการผื่นหรือแผลเริม ตาอักเสบ และขนาดหัวเล็กกว่าปกติ ส่วนมากโรคเริมในเด็กแรกเกิดมักเกิดจากการติดเชื้อในช่วงระหว่างการคลอดทางช่องคลอด ถ้าขณะคลอดมารดาติดเชื้อนี้ที่อวัยวะเพศ
โรคเริมในเด็กที่โตกว่าวัยทารกแรกเกิดและผู้ใหญ่ มักติดโรคเริมจากการสัมผัสกับแผลที่เป็นโรค, น้ำลาย, หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย จึงเกิดเมื่อสัมผัสใกล้ชิด ใช้ของใช้หรือทานอาหารด้วยภาชนะร่วมกัน การจูบ การกิน ทางเพศสัมพันธ์ โดยเชื้อจะแทรกเข้าทางเยื่อบุหรือผิวหนังที่ถลอกเป็นแผล
อาการของโรคเริมมีอะไรบ้าง?
อาการของโรคเริมมีได้หลายแบบ ทั้งโรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปาก โรคเริมที่อวัยวะเพศ โรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว และโรคเริมในระบบประสาท เป็นต้น เมื่อเป็นโรคเริมครั้งแรกจะมีอาการรุนแรง แตกต่างจากอาการที่เป็นซ้ำครั้งต่อๆ มา ที่มักเป็นเพียงรอยอักเสบหรือถลอกเล็กน้อย และหายเร็วกว่า โดยเมื่อเป็นครั้งแรกแล้วเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในปมประสาท และเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เชื้อจะออกมาตามเส้นประสาทและเกิดโรคซ้ำที่ผิวหนังหรือเยื่อบุผิว
สำหรับบทความนี้จะเน้นที่โรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปาก และโรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัว ซึ่งพบในเด็กนะคะ
โรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปากในเด็กมีอาการอย่างไร?
โรคเริมที่ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปากในเด็กมักจะเป็นครั้งแรกจึงมีอาการมากคือ มีรอยบวมแดงบริเวณที่มีการติดเชื้อ ได้แก่ ริมฝีปากและเยื่อบุช่องปาก เกิดเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่มๆ อย่างรวดเร็ว แตกเป็นแผล ปวด อาจมีต่อมน้ำเหลืองในบริเวณใกล้รอยโรคอักเสบและโตขึ้น บางคนอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว นำมาก่อน
โรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัวมีอาการอย่างไร?
โรคเริมแบบแพร่กระจายทั่วตัวจะมีการติดเชื้อโรคแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกาย เช่น ตับ ปอด และสมอง ทำให้มีอาการตับโต ตาเหลืองตัวเหลือง ปอดอักเสบ ซึม ชัก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือไม่เสียชีวิตก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนของระบบประสาทและสมองอย่างรุนแรงได้ มักพบในทารกแรกเกิดที่ติดเชื้อโรคเริมซึ่งจะมีผื่นที่ผิวหนังและเยื่อบุ ตาอักเสบ และมีการติดเชื้อในระบบประสาท ร่วมด้วย
การติดเชื้อโรคเริมแบบแพร่กระจายนี้อาจเป็นได้ในเด็กวัยที่โตกว่าทารกแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้เช่นกัน
คุณหมอวินิจฉัยโรคเริมได้อย่างไร?
คุณหมอวินิจฉัยโรคเริมได้จาก ประวัติอาการ การตรวจร่างกาย ซึ่งเข้าได้กับอาการดังกล่าวข้างต้น และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง หรือ เนื้อเยื่อที่มีกาติดเชื้อ หรือเจาะเลือดเพื่อภูมิต้านทานต่อโรคนี้
การป้องกันโรคเริมในเด็กทำได้อย่างไร มีวัคซีนหรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคเริม ดังนั้นการป้องกันโรคเริมจึงทำได้โดย การไม่ให้เด็กสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรค และคุณแม่ที่ตั้งครรภ์หากเคยเป็นโรคเริมมาก่อน หรือมีอาการของโรคอยู่ ควรแจ้งให้คุณหมอที่ดูแลทราบด้วยนะคะ
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ใครจะจูบใครจะหอมต้องระวัง ลูกเป็นเริมเกือบตายเพราะรอยจูบ
เมื่อลูกติดเริมจากพ่อ ใครจะคิด โรคนี้แค่จูบ ลูกก็ป่วยรุนแรงได้นะ
อุทาหรณ์ โรคเริมในเด็ก ใครจะคิด ลูกน้อยติดเริม จนเกือบตาบอด เพราะจูบของแม่