ปานทารก แบบไหนอันตราย หรือขยายตามตัวลูก ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับปานกันก่อน ปาน คือผิวหนังบริเวณที่มีสีแตกต่างจากบริเวณอื่น มักจะมีมาแต่กำเนิด หรือเห็นได้ชัดหลังทารกเกิดมาไม่นาน ลักษณะสี ความนูนของปาน จะแตกต่างกันตามสาเหตุของต้นกำเนิด
ปานทารก ที่พบบ่อยในเด็กมีกี่ชนิด ?
ปานที่พบบ่อยในเด็กมีหลายชนิด เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ หมอขอแบ่งตามสีของปานออกเป็น 2 กลุ่มคือ ปานแดง และ ปานสีอื่น ๆ ค่ะ
1. ปานสีแดง ที่พบบ่อย มี 3 ชนิด
- Strawberry Hemangioma (เนื้องอกหลอดเลือดในเด็ก) เป็นปานแดงที่เกิดจากเนื้องอกของหลอดเลือดชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง ลักษณะเป็นสีแดงจางหรือเข้มขึ้นอยู่กับความลึกของเนื้องอกนั้น ขนาดของปานจะใหญ่ขึ้นในช่วง 1-5 เดือนแรกของชีวิต หลังจากนั้นจะลดขนาดลงไปในขวบปีแรก ปานชนิดนี้ไม่มีอันตราย มักจะหายไปในระยะเวลาประมาณ 7 ปี จึงไม่ต้องรักษา แค่เพียงเฝ้าติดตามอาการกับคุณหมอที่ฉีดวัคซีนลูกเป็นระยะ ยกเว้นปานอยู่บริเวณใบหน้า รอบดวงตา ใบหู หลัง และทวารหนัก หรือมีมากกว่า 5 ตำแหน่ง อาจพบร่วมกับภาวะแทรกซ้อนที่สัมพันธ์กับอวัยวะใกล้เคียงกับปานนั้นได้ จึงควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อการตรวจติดตามและรับการรักษาที่เหมาะสม
- Port wine stains เป็นปานแดงขอบเขตชัดเจนสีแดง หรือแดงอมม่วง อยู่ซีกหนึ่งของร่างกาย ที่พบตั้งแต่แรกเกิดและคงอยู่ตลอดชีวิต โดยจะมีความหนาและขรุขระมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น หากลูกมีปานชนิดนี้ควรรีบปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจพบความผิดปกติของอวัยวะภายใน ได้บ่อย เช่น หากอยู่ที่หน้าและรอบตาอาจพบความผิดปกติของสมองและดวงตาร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีปานแดงชนิดนี้สามารถเกิดปัญหาสุขภาพ ตามมาได้ดังนี้ อาการต้อหิน การขยายตัวของเนื้อเยื่ออ่อน รวมไปถึงอาการ Sturge-Weber Syndrome ที่เกิดจากปานแดงที่ขึ้นทั่วหน้าผากหรือหนังศีรษะและมีขนาดใหญ่มาก ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและสมอง
- Salmon patch เป็นปานสีแดงจาง หรือชมพู ขนาดเล็ก มักพบที่หนังตา หน้าผาก หรือระหว่างคิ้ว หรือหลังคอ มีลักษณะเข้มขึ้นกว่าปกติเมื่อเด็กร้องไห้ หรือมีไข้ มักจะหายเองเมื่ออายุเลยวัยทารก แต่บางตำแหน่งอาจพบอยู่ตลอด เช่น หลังคอ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ลูกมีปานแดงที่หัว อย่าชะล่าใจ ปานแดงในเด็กเล็กอาจเป็นสัญญาณเตือนอันตราย
2. ปานสีอื่น ๆ
- Mongolian spot (ปานมองโกเลียน) เป็นปานที่พบบ่อยมากในทารกแรกเกิด ลักษณะเป็นวงรี สีเขียวอมฟ้าหรือเทา มักพบที่ก้น หรือ สะโพก แต่อาจพบบริเวณอื่นได้ประปราย เช่น แขน ขา หลัง ไหล่ ปานชนิดนี้ไม่มีอันตราย จะค่อย ๆ จางไปเองเมื่อเลยวัยทารก และมักหายสนิทภายในอายุ 4 ปี
- Café au lait (ปานสีกาแฟใส่นม) เป็นปานสีน้ำตาลอ่อนเหมือนสีกาแฟใส่นม ลักษณะแบนราบ กลมหรือรี ขอบเขตชัด เมื่อเด็กโตขึ้นปานจะโตตามตัว และคงอยู่ตลอดชีวิตไม่จางหายไป ปานชนิดนี้มักจะไม่มีอันตราย ยกเว้น มีขนาดใหญ่มาก หรือมีอยู่เกิน 6 ตำแหน่งขึ้นไป อาจจะเป็นอาการแสดงของโรคทางพันธุกรรมบางโรคจึงควรปรึกษาคุณหมอ
- Congenital malanocytic nevus (ปานดำ) เป็นปานสีดำ เห็นชัดแต่แรกเกิด โดยช่วงแรกอาจจะมีสีน้ำตาลก่อนแล้วเข้มขึ้น อาจพบขนขึ้นบนปานได้ ปานชนิดนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อน ยกเว้นปานดำขนาดใหญ่ขึ้นเร็วมาก แตกเป็นแผล หรือเปลี่ยนสี อาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเป็นมะเร็งผิวหนังได้ หรือปานดำขนาดใหญ่ที่กลางลำตัว อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาทได้ จึงควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียด และติดตามอาการอย่างใกล้ชิดค่ะ
ทั้งนี้ไม่ว่าจะมีปานชนิดใด คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตปานของลูกเป็นระยะ อย่างน้อยก็ในช่วงอาบน้ำหากพบว่าปานดูบวมแดงขึ้น มีอาการเจ็บ มีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสีเปลี่ยนไปหรือสีไม่สม่ำเสมอ มีน้ำเหลืองหรือเลือดออกมา ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เกิดมาก็ดังเลย! หนุ่มน้อยผู้มีปานแดงรูปหัวใจบนหน้าผาก
ปานเขียว หรือปานมองโกเลียนในเด็ก อันตรายไหม?
1 ใน 20,000 เด็กชายไฝและปานทั่วตัว ยาวติดกันทั้งแผ่นหลัง
แชร์ประสบการณ์หรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับปานทารก ได้ที่นี่!
ปาน ปานมีกี่แบบคะ แล้วปานทารกแบบไหนที่อันตรายคะ
ที่มา : si.mahidol