ปราบพยศเด็ก 2 ขวบ ง่ายนิดเดียว!
การได้ยินเสียงเด็กวัยนี้กรีดร้องโวยวายจึงเป็นเรื่องปกติของทุกบ้าน นึกอยากจะได้อะไรก็ตะโกน พอบอกว่าไม่มีก็โวยวายไม่เข้าใจ รออะไรกับเขาก็รอไม่ได้ นึกอยากจะดื้อก็ดื้อแบบสุด ๆ แล้วจะมีวิธีไหนบ้างนะ ที่จะปราบพยศเด็กวัยนี้ได้ … และนี่คือวิธีง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้
แต่ก่อนอื่นเราควรทำความเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรมของเด็กวัย 2 ขวบกันก่อนค่ะ
– มักมีอารมณ์เกรี้ยวกราด ฉุนเฉียวง่าย
– คิดเอาเองว่าทุกอย่างคือของตัว
– อยากทำทุกอย่างด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่ามันจะเลอะเทอะและวุ่นวายขนาดไหน
– ทำตัวเป็นเด็กเล็กตลอดเวลา
– ไม่รู้จักการรอคอย
– ไม่ชอบแบ่งปันอะไร
ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงธรรมชาติของเด็กวัยนี้แล้ว การปราบพยศลูกก็ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงนำวิธีการเหล่านี้ไปปรับใช้ดู
1. ทำให้เป็นกิจวัตร เวลาที่ลูกดื้อหรือปาข้าวของ คุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวจะต้องคุยกันก่อนว่า ทุกครั้งที่ลูกทำพฤติกรรมเช่นนี้ เราจะมีวิธีการรับมือและสอนเขาอย่างไร อย่าให้เกิดการเปรียบเทียบหรือเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จงทำทุกอย่างให้เป็นปกติ เพื่อที่ลูกจะได้รู้ว่าหากเขาทำเช่นนั้นอีก เขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง เป็นต้น
2. ให้เวลากับลูกให้มาก เพราะการที่ลูกงอแง โวยวายนั้น เขาไม่ได้ทำไปเพื่ออะไรหรอกค่ะ ส่วนใหญ่แล้วเขาก็ทำไปเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่นั่นแหละ ดังนั้นการให้เวลากับลูกในการทำกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการอ่านนิทาน การร้องเพลง แค่ช่วงสั้น ๆ ก็สามารถช่วยทำให้ลูกนิ่งได้
3. ให้รู้จักช่วยตัวเองบ้าง อย่าช่วยเหลือลูกไปเสียทุกอย่าง เราควรที่จะให้ลูกรู้จักช่วยตัวเองได้บ้าง เพื่อให้เขารู้จักกับความยากลำบาก และเมื่อเขาทำได้ คำชมเล็ก ๆ น้อย ๆ จากคุณพ่อคุณแม่นี่แหละค่ะ ที่จะช่วยทำให้พวกเขามีกำลังใจที่อยากจะทำอีก
4. บอกให้ลูกทำด้วยวิธีสั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ลูกไม่ยอมเปลี่ยนเสื้อผ้า แทนที่เราจะบอกเขาซ้ำไปมาให้เขาเปลี่ยนเสื้อผ้า ก็ลองเปลี่ยนวิธีมาเป็นการนับ 1-2-3 โดยที่เราอาจจะกำหนดไว้ว่า หากนับถึง 3 แล้วยังไม่ทำ คุณพ่อหรือคุณแม่จะทำแบบนี้แล้วนะ เป็นต้น
5. แสดงความเข้าใจและใส่ใจ ใช่แล้วค่ะ วิธีที่จะเข้าถึงลูกได้อย่างง่าย ๆ โดยที่เราไม่ต้องเหนื่อยเลยก็คือ เวลาที่ลูกงอแงหรือหงุดหงิดโวยวาย คุณพ่อกับคุณแม่ควรเข้าไปแสดงความเข้าใจถึงการกระทำในครั้งนั้นว่า คุณพ่อคุณแม่เข้าใจนะว่าหนูโกรธ หนูเสียใจ แต่การเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ ๆ หรืออะไรใหม่ ๆ บ้างมันก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยนะจ๊ะ เป็นต้น
เชื่อว่าแต่ละครอบครัวนั้น มีวิธีในการปราบพยศลูกแตกต่างกัน ไม่มีใครหรอกที่จะรู้จักลูกไปดีกว่าตัวเราเอง ดังนั้นการหากลยุทธ์ที่เหมาะสมและได้ผลจึงตกเป็นงานหลักของคุณพ่อกับคุณแม่เอง ลองนำวิธีการที่กล่าวในข้างต้นไปปรับใช้ดูนะคะ อาจจะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น โดยที่เราไม่ต้องหงุดหงิดเลยก็ได้
ที่มา: Imperfectfamilies
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
4 วิธีฝึกลูกเดินทางได้ ไม่ง้อแท็บเล็ต
ฝึกลูกทำกิจวัตรตามเวลา ดีต่อลูกอย่างไร