ประสบการณ์คลอดลูกคนแรก
มาลุ้นไปกับ ประสบการณ์คลอดลูกคนแรก ของคุณแม่คนนี้ เมื่อกำหนดวันคลอดใกล้เข้ามา แต่ลูกไม่มีทีท่าอยากออกมาดูโลก จนถึงวันที่ปากมดลูกเปิด พร้อมข้อมูลการคลอด
เจ็บทรมานบนความภูมิใจ
ขอแชร์ประสบการณ์การคลอดที่เจ็บทรมาน บนความภูมิใจที่ไม่มีวันลืม อยากแนะนำแม่ ๆ ว่าคลอดธรรมชาติดีที่สุด ฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เดินได้ทันทีแต่ห้ามเดินไว ช้า ๆ ไว้ก่อน น้ำหนักลดไว ตอนนี้แม่หนัก 48 กก. จาก 59.3 เหลืออีก 10 กก. น้ำหนักจะเท่าเดิมแต่คุณหมอไม่แนะนำ เดี๋ยวไม่มีแรงดูแลลูกเพราะตอนนี้น้องหนัก 5 กก. สูง 54 ซม.ค่ะ (จะครบ1เดือน) เป็นกำลังใจให้แม่ ๆ ที่กำลังตั้งท้องและตัดสินใจคลอดเองนะคะ
…คำนวณคร่าว ๆ น้ำหนักแรกเกิดที่ รพ.แม่และเด็กบอก 2,500-3,000 กรัม ก่อนท้องแม่หนัก 38 ชั่งล่าสุด 59.3 ขึ้น 21.3 เมื่อกำหนดวันคลอดใกล้มาถึง 40 วีค น้องนาวาก็ไม่มีท่าทีจะคลอดเลย ทั้ง ๆ ที่แม่พาเดินทางตั้งแต่รู้ว่าท้องจนมาถึง 36 วีคปิดเทอมพอดี (แต่ตอนทำงานก็ลุ้นจะคลอดอยู่ปากชมไหมหน๊อ เบอร์โทรรถรีเฟอร์ก็เอาไว้แล้ว) กลับมาอยู่ขอนแก่นก็เดินห้างทุกวัน สรรหาทุกวิถีทางที่ช่วยเร่งคลอด… ท่าผีเสื้อเอย สับปะรดเอย เดินบ่อย ๆ เอย แต่ยังไม่ลองมีอะไรกับสามี
พอถึงกำหนดเลยไปพบหมอที่คลินิกตามนัด (นัดถี่เข้าทุกสัปดาห์) นั่งรอหมอตอนเช้าเพราะหมอไปทำคลอดที่ รพ.ศรีฯ เกือบ 11 โมงหมอเลยตรวจปากมดลูก อ้าว!! เปิด 1 ซม.แล้ว หมอเลยบอกให้รีบทานข้าว (อาหารอ่อน ๆ) และส่งแอดมิทที่โรงพยาบาลขอนแก่นราม เพราะซื้อแพ็คเกจคลอดที่นั่น
พอถึง รพ. ก็จัดการเปลี่ยนชุด โกนขน ก่อนจะฉีดยาเร่ง พยาบาลก็ถามว่าแน่ใจแล้วใช่ไหมจะคลอดเองเพราะท้องใหญ่มาก แล้วอธิบายว่ายาเร่งจะมีฤทธิ์เหมือนจำลองการบีบรัดตัวของมดลูก ชม.ละ ซม.น่าจะได้คลอดช่วง 2-3 ทุ่ม เลยบอกค่ะ ตัดสินใจแล้ว ถ้าไม่เวิร์คค่อยผ่าก็ได้ค่ะ (2จิต2ใจ) แล้วพยาบาลก็ลงมือฉีดยาเร่งผ่านน้ำเกลือตอน 12.30 น. ยังคงเล่นมือถืออย่างสบายใจ
- จนเริ่มเจ็บถี่ ๆ ตอน 14.00 น. ปากมดลูกเปิด 3 ซม. ยังพอทนได้เล่นมือถือต่อ
- แล้ว 15.30 น. หมอมาตรวจดู ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว (ความรู้สึกอุ่นมากเหมือนฉี่ราดที่กลั้นไม่อยู่) หมอเลยฉีดยาที่ตูดให้บรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ก็นอนตะแคงซ้ายทีขวาที เริ่มท้องแข็งมากปูดนูนขึ้นมานี่น่ะหรอ…ท้องแข็ง
- พอ 16.30 น. เริ่มทนไม่ไหวตัวบิดตัวงอ ท้องแข็งถี่เข้าเรื่อย ๆ แต่พยาบาลดูแลดีมาก ๆ ทั้งนวดทั้งบีบขาให้ พยาบาลมาตรวจอีกทีปากมดลูกเปิด 9 ซม.แล้ว เตรียมเข็นเข้าห้องคลอด
- 17.00 น. ซ้อมการเบ่งอยู่ 3 ทีตอนท้องแข็ง แม่นี่เบ่งก็เบ่งไม่เป็น ทีมพยาบาลก็เชียร์ช่วยเบ่งอีกที โห้วว…ความทรมานตอนนั้นสุดยอดมาก เจ็บปวดสุด ๆ พอหมอมาหมอก็เอามือล้วงเข้าไปในตอนนั้นไม่รู้ว่ากรีดแผลหรืออะไร ไม่เจ็บ แต่เจ็บเพราะท้องแข็งและอยากเบ่งมากกว่า หมอกับพยาบาลก็นับช่วยหายใจเข้าลึกครั้งเดียวแล้วกลั้นหายใจ เบ่งยาว ๆ ห้ามหายใจต่อเนื่องกัน อือๆๆๆๆๆ…..เบ่ง 5 ครั้ง
- จนเวลา 17.32 น. หมอบอกหยุด หัวลูกออกมาแล้ว ทำความสะอาดดูดสเลด น้ำคร่ำออก
หลังจากนั้น หมอก็ดึงออกพรวด ออกมาเองและวางไว้บนอกแม่ และนำไปทำความสะอาด ได้ยินแต่บอกว่า ตัวใหญ่นะ หนัก 3,396 กรัม ยาว 50 ซม. และแม่ก็หมดแรงแต่โล่งมาก หมอก็เย็บแผลไป แม่เลยขอผ้าห่มเพิ่มเพราะคลอดเสร็จหนาวจนสั่นทันที และเผลอหลับในห้องคลอดไปเกือบ 2 ชม. สะดุ้งตื่นมาเจอหน้าสามีและยายที่มาเฝ้าอยู่ข้างเตียง พยาบาลถึงย้ายมาอยู่ห้องพิเศษ
เป็นเรื่องราวดี ๆ ที่คนเป็นแม่จะเข้าใจอย่างซาบซึ้ง ทางทีมงานดิเอเชี่ยนพาเร้นท์ ขอแสดงความยินดีกับคุณแม่ด้วยนะคะ และขอบคุณที่มาแบ่งปันประสบการณ์คลอดลูกคนแรกกับเราค่ะ
ระยะคลอด 4 ระยะ
ระยะคลอด (Labor)
พญ. เกษมศรี ศรีสุพรรณดิฐ ได้อธิบายว่า ตามคำจำกัดความของการเข้าสู่ระยะคลอด (Labor) หมายความถึงการที่มีการหดรัดตัวของมดลูกที่สามารถทำให้ปากมดลูกมีการบางตัวและเกิดขยายได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว การที่สตรีตั้งครรภ์เข้าสู่ระยะคลอดนั้น อาจมีอาการหรืออาการแสดงได้หลายประการ เช่น การเจ็บครรภ์ น้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกจากปากมดลูก และการที่จะวินิจฉัยว่าสตรีตั้งครรภ์รายใดมีการหดรัดตัวของมดลูกที่จะนำไปสู่การเข้าระยะคลอดอย่างแท้จริง (True labor) นั้น มีความจำเป็นต้องจำแนกภาวะเจ็บครรภ์เตือน (False labor) ออกให้ได้ เนื่องจากในช่วงไตรมาสท้ายของการตั้งครรภ์ กล้ามเนื้อมดลูกจะมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการคลอด ดังนั้นจึงอาจมีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกับการเจ็บครรภ์จริงได้
ถ้ามีการซักประวัติ ตรวจร่างกาย อย่างละเอียด จะสามารถแยกการเจ็บครรภ์จริงออกจากอาการเจ็บเตือนได้ไม่ยากนัก เนื่องจากลักษณะอาการเจ็บครรภ์ของ 2 ภาวะนี้ต่างกัน ได้แก่
การเจ็บครรภ์จริง
- เกิดขึ้นสม่ำเสมอ
- ระยะห่าง (interval) ถี่ขึ้นเรื่อยๆ
- ความแรง (intensity) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- รู้สึกปวดบริเวณหลังและท้อง
- ไม่สามารถบรรเทาการปวดด้วยยาแก้ปวด
- มีการเปิดขยายของปากมดลูก
การเจ็บครรภ์เตือน
- เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ
- ระยะห่างยังคงห่างๆ เหมือนเดิม
- ความแรงยังคงเหมือนเดิม
- รู้สึกปวดบริเวณท้องน้อยเป็นส่วนใหญ่
- บรรเทาอาการได้ด้วยยาแก้ปวด
- ปากมดลูกไม่เปิดขยาย
ระยะของการคลอด (Stage of labour) ขบวนการคลอดทั้งหมดสามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่
1. ระยะที่ 1 ของการคลอด (First stage of labour)
นับตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์เริ่มมีการเจ็บครรภ์จริง (True labour pain) จนถึง มีการเปิดขยายของปากมดลูก จนหมด 10 เซนติเมตร (Fully dilatation of cervix) เรียกได้ว่าระยะนี้เป็นช่วงที่สตรีตั้งครรภ์อยู่ในระหว่างการรอคลอด
2. ระยะที่ 2 ของการคลอด (Second stage of labour)
เริ่มนับตั้งแต่สตรีตั้งครรภ์มีการเปิดขยายของปากมดลูก 10 เซนติเมตร จนถึงระยะที่ทารกคลอด หรือเรียกได้ว่าสตรีตั้งครรภ์อยู่ในระหว่างการเบ่งคลอด
3. ระยะที่ 3 ของการคลอด (Third stage of labour)
เริ่มตั้งแต่หลังจากทารกคลอดจนถึงรกคลอด หรือเรียกได้ว่าเป็นระยะเด่นของการทำคลอดรก
4. ระยะที่ 4 ของการคลอด (Fourth stage of labour)
เป็นชั่วโมงแรกหลังจากที่รกคลอดเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากว่าเป็นระยะที่มีความสำคัญ ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการตกเลือดหลังคลอดมักเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงเวลานี้
อ่านเพิ่มเติม https://www.med.cmu.ac.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แพ้ท้อง อยากกินดิน อยากกินงู เหม็นผัว อาการคนท้องไตรมาสแรก แม่ท้องจะกินสามีห้ามขัด
ท้องแข็งแบบต่างๆ แยกอย่างไร แบบไหนลูกโก่งตัว แบบไหนมดลูกบีบ แบบไหนใกล้คลอด
นับถอยหลังสู่วันคลอด คุณหมอแนะ ใกล้คลอดแล้ว ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
ตกเลือดหลังคลอดเพราะรกค้าง ต้องสังเกต สีของเลือดหลังคลอดให้ดี