น้ำหนักขึ้น ประจำเดือนมาไม่ปกติภัยเงียบจาก PCOS

ผู้หญิงทุกคนก็ว่าได้มักจะกังวลเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้น ยิ่งปัญหาเรื่องประจำเดือนมาไม่ปกติอีก แล้วมันเกี่ยวกันยังไง โรค PCOS คืออะไร โปรดติดตามค่ะ เรามีคำตอบ

PCOS คืออะไร

PCOS  ย่อมาจาก Polycystic Ovarian Syndrome หรือย่อเป็น POS หมายถึง กลุ่มอาการที่รังไข่มีถุงน้ำหลายใบ  เป็นการเรียกชื่อตามลักษณะของรังไข่ที่ตรวจพบโดยเครื่องอัลตราซาวน์จะเห็นเป็นถุงน้ำเล็ก ๆ (Cyst)  หลายใบในรังไข่  อาการนี้พบได้ค่อนข้างบ่อย  ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์จนถึงอายุ 45 ปี  เนื่องจากรังไข่ทำหน้าที่เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนหลายชนิด  ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับรังไข่  มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้ระดับฮอร์โมนเพศและฮอร์โมนอื่น ๆ ในร่างกายไม่สมดุลเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติในระบบอื่น ๆ ภายในร่างกาย  โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้หญิงที่มีถุงน้ำในรังไข่  จะมีระดับอินซูลินในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ  (Hyperinsulinemia)  อาจทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักมีอาการดังนี้

1. หลังจากผ่านวัยรุ่นมานานแล้ว ประจำเดือนไม่มา  หรือหลาย ๆ เดือนมาครั้งหนึ่ง  หรือประจำเดือนมาไม่แน่นอนหรือมาคราวละนาน ๆ และมามากจนเกิดอาการซีด

2. แต่งงานมานานแล้วไม่ตั้งครรภ์เสียที โดยไม่ได้คุมกำเนิด  หรือไม่มีอาการในข้อ 1 ร่วมด้วย

3. มีลักษณะของฮอร์โมนแอนโดรเจนมากกว่าปกติ คือ  หน้ามัน  สิวมาก  ขนดกมากกว่าปกติ  หรือการตรวจเลือดพบระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูงกว่าปกติ

4. อัตราซาวน์พบว่ามีรังไข่อย่างน้อย 1 ข้าง มีถุงไข่ไม่ต่ำกว่า 12 follicles ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-9 มิลลิเมตร และรังไข่มีปริมาตรมากกว่า 10 มิลลิลิตร

 

อาการ PCOS มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ดังนี้

1. ปัญหามีบุตรยาก  เนื่องจากรังไข่ทำงานผิดปกติ

2. ปัญหาตกเลือด  โลหิตจาง  เพราะประจำเดือนมามากและมานานเกินไป

3. มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งมดลูก  มะเร็งเต้านมเพราะเยื่อบุมดลูกและเต้านมถูกกระตุ้นด้วยเอสโตรเจนจำนวนมากและนาน

4. เป็นเบาหวานเพราะอินซูลินทำงานไม่ปกติ หรือเพราะโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคทางสมอง ไต และหัวใจ เป็นต้น

 

น้ำหนักขึ้น ประจำเดือนมาไม่ปกติภัยเงียบจาก PCOS ลักษณะอาการของผู้ป่วย PCOS

1. ประจำเดือนผิดปกติ

ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนผิดปกติ คือ  รอบประจำเดือนห่าง  หรือประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ  ทำให้เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก มีความเสี่ยงต่อโรคเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว  และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในอนาคต

2. ภาวะขนดก

เนื่องจากมีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนสูง ทำให้เกิดภาวะขนดก  หน้ามัน  มีสิวบริเวณใบหน้า  หน้าอกและหลังส่วนบน

3. ภาวะอ้วน

มักพบภาวะอ้วนร่วมกับ PCOS เป็นลักษณะอ้วนลงพุง

4. ภาวะมีบุตรยาก

การที่ไข่ไม่ตกเรื้อรังทำให้ผู้ป่วย PCOS มีบุตรยากและแท้งบุตรได้ง่ายและเสี่ยงแท้งซ้ำซากมากขึ้น และอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

5. ภาวะเสี่ยงในระยะยาวของผู้ป่วย PCOS

ผู้ป่วยอาการ PCOS จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติต่อการเป็นโรคเบาหวาน  โรคหลอดเลือดหัวใจ  โรคความดันโลหิตสูง

การรักษา

แบ่งออกเป็น  ผู้ป่วยต้องการมีบุตร และผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตร

ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตร

1. ผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีบุตรและมีความมีความผิดปกติของประจำเดือน แพทย์จะเลือกใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด  หากยังไม่ต้องการมีบุตร และมีประจำเดือนมาไม่ปกติ  เพราะฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ในยาคุมกำเนิดจะช่วยป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญมากผิดปกติ

2. ยาฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว รอบละ 10 – 14 วัน ใช้แก้ปัญหาประจำเดือนขาดหายไปนาน ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาเกินไป  ผลข้างเคียงอาจเกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง  หงุดหงิด  ตัวบวม

3. ยาต้านเบาหวาน  Metformin เป็นยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน  โดยไปยับยั้งการผลิตน้ำตาล  จึงทำให้รังไข่สร้างฮอร์โมนเพศชายลดลง  ช่วยลดความอยากอาหาร  ทำให้การควบคุมน้ำหนักง่ายขึ้น  แต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสการเจริญของไข่  ทำให้มีการตกไข่และอาจส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์ได้หรือมีประจำเดือนมาเป็นปกติ

ผู้ป่วยที่ต้องการมีบุตร
1. การรักษาด้วยตัวยา   ใช้ยา Clomiphene citrate เพราะมีผลการรักษาที่น่าพอใจ  อีกทั้งมีราคาไม่แพง  โดยให้ยาขนาด 5 มิลลิกรัม  รับประทานติดต่อกัน 5 วัน ในวันที่ 2 , 3 , 4 หรือ 5 ของการมีประจำเดือนประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ทำให้เกิดการตกไข่ได้ 70 – 80% และตั้งครรภ์ได้ 35 – 40 % การใช้ยากลุ่มนี้สามารถให้ได้ 6 รอบ หากยังไม่ประสบความสำเร็จต้องเปลี่ยนตัวยา

2. ยาต้านเบาหวาน Metformin  ตามที่ได้กล่าวมา  ใช้ขนาดยา 1,500 มิลลิกรัม/วัน  ใช้ระยะเวลานาน 6-8 เดือนสามารถเพิ่มอัตราการตกไข่ได้เกือบ 80 % และตั้งครรภ์ได้ 35 – 40 %

3. ใช้ยา Clomiphene ร่วมกับ Metformin เพื่อเสริมฤทธิ์ซึ่งกันและกัน พบว่า  สามารถเพิ่มอัตราการตกไข่และโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น

4. รักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีใช้ยาไม่ประสบความสำเร็จ การผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านหน้าท้องเข้าไปแล้วทำการจี้ด้วยไฟฟ้าหรือเลเซอร์ที่ผิวรังไข่ 4 – 8 จุด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการตกไข่พบว่ามีอัตราการตกไข่ 60 – 70 % มีโอกาสตั้งครรภ์ 52 – 66 %

 

PCOS สามารถรักษาให้หายขาดได้หรืไม่

อาการ PCOS เป็นกลุ่มอาการที่คาดว่าน่าจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม การรักษาให้หายขาด  อาจไม่สามารถทำได้  แต่สามารถทำให้บรรเทาได้  พบว่า ความผิดปกติที่รังไข่ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา  จนมาเป็นวัยรุ่นจึงแสดงอาการ  ส่วนเมื่ออายุมากขึ้นถึงวัยหมดประจำเดือนแล้ว  จะสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ลดลงทำให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น

 

การป้องกัน PCOS

1. การควบคุมน้ำหนัก เป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดภาวะนี้

2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

3. รับประทานอาหรที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่  รับประทานผักผลไมให้มาก  พยายามหลีกเลี่ยงอาหรจำพวกแป้งหรือให้ไขมันสูง

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://haamor.com/th

https://women.thaiza.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีลูกยากจริงหรือ

ห้ามพลาด ! 10 อาหารช่วยลดอาการปวดประจำเดือน