น้ำนมแม่ที่สต๊อกไว้ จะรู้ได้อย่างไรว่าเสีย ให้ลูกกินไม่ได้แล้ว
สำหรับคุณแม่นักปั๊มแล้ว คงไม่มีอะไรแย่เกินไปกว่าการที่ต้องใช้เวลานั่งปั๊มนมนานหลายชั่วโมง เพื่อเป็นสต๊อกเก็บไว้ให้ลูกน้อย แต่เมื่อจะนำมาใช้กลับพบว่าน้ำนมที่ใช้เวลาปั๊มมากว่าครึ่งค่อนวัน กลับบูด เสีย เอามาให้ลูกกินไม่ได้ เพราะสำหรับคุณแม่แล้ว น้ำนมแค่หยดเดียวก็มีคุณค่า ไม่มีแม่ท่านใดอยากที่จะปั๊มนมวันนี้ แล้วต้องเอาไปโยนทิ้งในอีกไม่กี่วันต่อมา แต่ น้ำนมแม่ที่สต๊อกไว้ จะรู้ได้อย่างไรว่าเสีย ให้ลูกกินไม่ได้แล้ว
น้ำนมแม่ เก็บได้นานเท่าไหร่
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนครับว่า น้ำนมแม่นั้นสามารถเก็บไว้ได้นานเท่าไหร่
การเก็บน้ำนมในอุณภูมิห้อง
- อุณภูมิ 25 – 37 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 4 ชั่วโมง
- อุณภูมิ 15 – 25 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 8 ชั่วโมง
- อุณภูมิต่ำกว่า 15 – 25 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
- ไม่ควรเก็บน้ำนมไว้ในห้องที่มีอุณภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส
การเก็บน้ำนมในตู้เย็น
- ควรเก็บไว้ในบริเวณที่เย็นที่สุด คือบริเวณที่ติดหรือใกล้กับช่องน้ำแข็ง หากเก็บน้ำนมไว้บริเวณตู้เย็นส่วนล่างที่อุณภูมิ 2 – 4 องศาเซลเซียส จะเก็บไว้ได้นาน 8 วัน แต่ส่วนมากแนะนำให้นำน้ำนมมาใช้ภายใน 3 – 5 วัน เพราะตู้เย็นส่วนมากไม่สามารถรักษาอุณภูมิให้คงที่ได้
- หากเก็บไว้ในตู้แช่แข็งที่อุณภูมิ -20 องศาเซลเซียส สามารถเก็บได้นาน 6 – 12 เดือน
- ตู้เย็นประตูเดียวที่ -15 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 2 สัปดาห์
- ตู้เย็น 2 ประตูที่ -18 องศา เก็บได้นาน 3 – 6 เดือน
5 สัญญาณบ่งบอกว่าน้ำนมแม่เสียหรือบูดแล้ว
#1 มีกลิ่นเหม็นบูด ไม่ใช่เหม็นหืน
น้ำนมแม่ที่บูดหรือเสียแล้วจะมีกลิ่นเหม็นเหมือนกับน้ำนมวัวที่บูดหรือเสียแล้วนั่นแหละครับ แต่กลิ่นเหม็นบูดจะต่างจากกลิ่นเหม็นหืนนะครับ ซึ่งกลิ่นเหม็นหืนของน้ำนมที่สต๊อคเก็บไว้นั้น เกิดจากการที่ในน้ำแม่ มีเอนไซม์ที่ชื่อ ไลเปส (lipase) คุณแม่แต่ละคนจะมีเอนไซม์นี้มากน้อยแตกต่างกัน คุณแม่คนใดที่มีไลเปสมากหน่อย ก็จะย่อยไขมันได้มากขณะที่เก็บอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหืนได้
อย่างไรก็ตามน้ำนมแม่ที่มีกลิ่นเหม็นหืนนั้นยังสามารถนำมาให้ลูกกินได้ ไม่เป็นอันตรายนะครับ เพียงแต่เด็กบางคนอาจจะไม่ชอบกินเพราะไม่ชอบกลิ่นนั่นเอง
#2 เขย่าแล้วไม่รวมตัวกัน
ปกติแล้วน้ำนมแม่ที่เก็บไว้มักจะแยกออกเป็นชั้น เพราะส่วนไขมันมีการลอยตัวอยู่ด้านบน เวลาจะใช้ให้เขย่าให้เข้ากันก่อนให้ลูกกิน หากเขย่าแล้วรวมตัวกันก็แสดงว่าน้ำนมยังใช้ได้ดีมีคุณภาพตามปกติ แต่หากเขย่าแล้วส่วนไขมันยังแยกเป็นชั้น ไม่รวมตัวกัน แสดงว่าน้ำนมแม่นั้นบูดหรือเสียแล้ว
#3 แช่ทิ้งไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดานานเกิน 3 วัน
โดยปกติแล้ว หากเก็บน้ำนมไว้ในตู้เย็นที่ติดหรือใกล้กับช่องน้ำแข็ง หรือเก็บไว้บริเวณตู้เย็นส่วนล่างที่อุณภูมิประมาณ 2 – 4 องศาเซลเซียส มักจะมีการแนะนำให้นำน้ำนมมาใช้ภายใน 3 – 5 วัน อย่างไรก็ตาม ตู้เย็นส่วนมากนั้นไม่สามารถรักษาอุณภูมิให้คงที่ได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปิดปิดตู้เย็นบ่อยๆ ดังนั้นก่อนนำน้ำนมที่แช่ทิ้งไว้ในช่องธรรมดานานเกินกว่า 3 วันขึ้นไปมาใช้ จึงควรสังเกตกลิ่นและรสชาติก่อนที่จะเอามาให้ลูกกินก่อนเสมอ เพราะมีโอกาสที่น้ำนมอาจจะเสียได้
#4 ถุงเก็บน้ำนมมีรอยรั่ว ฉีกขาด หรือปิดไม่สนิท
มาโยคลินิค องค์กรสุขภาพแถวหน้าในอเมริกาแนะนำว่า น้ำนมที่ได้จากการปั๊มควรเก็บไว้ในขวดที่มีฝาปิดได้สนิท ให้เหลือที่ว่างไว้ประมาณ ¼ – ½ นิ้ว หรือเก็บไว้ในถุงเก็บน้ำนมที่ออกแบบมาเพื่อเก็บน้ำนมโดยเฉพาะ แล้วรูดซิบปิดให้สนิทโดยเหลือที่เผื่อไว้ เพราะเมื่อนำน้ำนมไปแช่แข็งแล้วจะทำให้เกิดการขยายตัวได้ แต่หากพบว่าถุงเก็บน้ำนมมีรอยรั่ว ฉีกขาด หรือปิดไม่สนิท ก็มีโอกาสที่จะทำให้น้ำนมเสียได้
#5 น้ำนมมีรสเปรี้ยว
วิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะสามารถบอกได้ว่าน้ำนมแม่ที่เก็บไว้นั้นยังนำมาให้ลูกกินได้อยู่อีกหรือไม่คือลองชิมน้ำนมดูว่ามีรสชาติเป็นอย่างไร หากน้ำนมมีรสเปรี้ยวหรือมีรสชาติที่แปลกไปมากก็ไม่ควรเสียดาย และอย่านำมาให้ลูกกินจะดีที่สุดนะครับ
ที่มา romper.com
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
น้ำนมแม่ที่แช่เก็บไว้ เอามาอุ่นให้ลูกกินอย่างไร ไม่ให้เสียคุณค่า
เทคนิคและวิธีเลือกเครื่องปั๊มนม ที่คุณแม่ต้องรู้