คุณวันวิสาข์ ทีวงศ์ หรือ คุณข้าวใหม่ นักการตลาดมือหนึ่งของบริษัท เอเจนซี่โฆษณา ที่เคยใช้ชีวิตโลดโผนตามสไตล์สาวมั่น ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬาต่อยมวย การไปปาร์ตี้ เข้าฟิตเนสอยู่เป็นประจำ จนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่เคยคิดว่า ตนเองจะต้องมาตกอยู่ในภาวะ นาทีเป็น นาทีตาย เมื่อเป็นโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์
นาทีเป็น นาทีตาย เมื่อเป็นโรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ กับคนที่มีสุขภาพแข็งแรง และตรวจสุขภาพประจำปี มาโดยตลอด อย่างคุณข้าวใหม่
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์
ซึ่งคุณข้าวใหม่ได้แบ่งปัน กับทาง theAsianparent ว่า ตนเองนั้น ได้รอคอยการมาของลูกน้อยอย่างใจจดใจจ่อ หลังจากแต่งงานมาได้ปีที่ 3 ซึ่งในช่วงแรกนั้น อาการโดยทั่วไปยังปกติดีหมดทุกอย่าง จะมีก็เพียงอารมณ์ ที่รู้สึกน้อยใจบ้าง หรือหงุดหงิด ง่ายขึ้นกว่าเดิม เมื่อใช้เครื่องตรวจการตั้งครรภ์ตรวจ จึงได้รู้ว่า สมาชิกตัวน้อย มาอยู่ในครรภ์คุณแม่ข้าวใหม่แล้วจ้า
ในขณะที่รู้สึกดีใจ ปนความมึนงง ประเดประดังเข้ามา จนไม่สามารถลำดับความรู้สึก ในช่วงเวลานั้นได้ แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรกที่คุณข้าวใหม่ทำ คือการบอกยกเลิก กิจกรรมกีฬาหนัก ๆ ทุกอย่าง และรีบไปฝากครรภ์กับคุณหมอทันที ซึ่ง ณ เวลานั้น อายุครรภ์ของ คุณข้าวใหม่ก็ผ่านไปได้ 6 สัปดาห์แล้วค่ะ
อาการแพ้ท้อง
เป็นสิ่งที่แปลก ของคุณแม่มือใหม่คือ เมื่อรู้ว่าตนเองตั้งครรภ์ ก็จะรู้สึก ง่วงนอนมาก และบ่อยขึ้นกว่าปกติ ทั้งที่ก่อนหน้าที่จะรู้ว่าตั้งครรภ์ ก็ยังรู้สึกกระปรี้ประเปร่า จนบางทีก็รู้สึกว่า อาการนี้ เป็นเพราะตั้งครรภ์ หรือรู้สึกไปเอง ซึ่งคุณแม่หลาย ๆ คน อาจจะเป็นเหมือนกันกับคุณข้าวใหม่ใช่ไหมคะ?
คุณข้าวใหม่ มีอาการแพ้ท้องเป็นปกติ เหมือนคุณแม่หลาย ๆ คน บางคนก็อาจจะนึกตลก เพราะคุณข้าวใหม่ได้เล่าว่า ตนเองมีอาการแพ้กลิ่นของน้ำแข็งยูนิค แต่ตนเองก็ชอบกินน้ำแข็งในช่วงตั้งครรภ์ สิ่งที่ทำได้ก็คือ ต้องทำน้ำแข็งทานเอง เป็นทางออกที่ง่ายที่สุดนั่นเอง
อาการผิดปกติ
ตลอดเวลาที่ตั้งครรภ์มา คุณข้าวใหม่ไปตรวจครรภ์ตามปกติทุกอย่าง โดยไม่มีวี่แววถึงอาการผิดปกติใด ๆ ยกเว้น น้ำหนักของตัวเอง ที่ไม่มีทีท่าว่าจะขึ้นมากกว่าเดิม จนกระทั่งเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 นั่นเป็นเหตุให้คุณหมอ ต้องสั่งให้ตัวคุณแม่เอง ทานอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ หลาย ๆ ท่านอาจจะเจอภาวะเช่นนี้ ไม่แตกต่างกัน
จุดเริ่มต้นของอาการ
คุณข้าวใหม่ยังได้กล่าว ถึงจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นตนได้นั่งทำงานบนพื้น (ทั้งนี้เราไม่แนะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์นั่งบนพื้นนาน ๆ นะคะ) แล้วช่วงเวลาที่ลุกขึ้นยืน ก็เกิดเสียงลั่นของกระดูก จึงเข้าใจว่า อาจจะลุกขึ้นผิดท่า ทำให้เกิดเส้นพลิก หรืออาการเคล็ดขัดยอก ตามปกติทั่วไป
แต่เมื่ออาการนั้นผ่านไปได้ 2 วัน อาการที่เป็นกลับไม่ดีขึ้น และยังส่งผลให้บริเวณข้อเท้ามีอาการบวมกว่าปกติ 5 – 6 เซนติเมตร และมีสีคล้ำขึ้น เหมือนอาการเลือดคั่ง จนไม่สามารถลงน้ำหนักตัวที่ขาข้างนั้นได้ จึงต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการ
พบแพทย์เฉพาะทาง
เนื่องจากเข้าใจว่า อาการที่เกิดขึ้นเป็นเพราะสาเหตุจากกล้ามเนื้อ หรือ กระดูก จึงได้ไปพบแพทย์ทางด้านนี้โดยตรง ซึ่งผลที่ออกมา ทุกอย่างกลับเป็นปกติอย่างไม่น่าเชื่อ ทางแพทย์จึงแนะนำให้ไปตรวจดู เกี่ยวกับเส้นเลือดแทน เพราะอาจจะเป็นผลจากเส้นเลือดอุดตัน จึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการบวมอย่างที่เห็น ซึ่งแพทย์ได้วินิจฉัยออกมาว่า คุณข้าวใหม่เป็นโรค DVT สำหรับคนท้อง
โรค DVT สำหรับคนท้อง คืออะไร?
โรค DVT หรือ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep Vein Thrombosis) คือ ภาวะที่มีลิ่มเลือด ก่อตัวที่หลอดเลือดดำ ส่วนลึกในร่างกาย โดยอาจเกิดขึ้นที่ตำแหน่งเดียว หรือหลายตำแหน่งก็ได้ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายมาก เนื่องจากตัวลิ่มเลือดที่อุดกั้น อาจจะหลุดไปตามกระแสเลือด และไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดดำ ที่มีความสำคัญต่าง ๆ จนทำให้เป็นอันตรายถึงกับชีวิตได้
ในขณะที่ตั้งครรภ์นั้น การเป็นโรคนี้ จัดว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เช่น หากตัวคุณแม่ มีความดันโลหิตสูง จนทำให้เลือดสูบฉีดแรง และผลักเอาตัวลิ่มเลือดไปอุดตัน เส้นเลือดบริเวณปอด ก็จะทำให้ตัวคุณแม่ไม่สามารถหายใจได้ และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว หากลิ่มเลือดไปอุดตันเส้นเลือดบริเวณหัวใจ ก็จะทำให้หัวใจหยุดการทำงานโดยฉับพลัน หรือถ้าหาก ลิ่มเลือดไปอุดตันบริเวณรกเด็ก ก็จะส่งผลให้เด็กเสียชีวิตในทันที
ซึ่งโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ขึ้นได้นั้น มีถึง 40% ซึ่งจัดว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมากเลยทีเดียว จนทางแพทย์ต้องถามทั้งคุณพ่อ คุณแม่เอาไว้ก่อนเลยว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว คุณจะเลือกที่จะยื้อชีวิตของแม่ หรือเลือกชีวิตของลูกน้อย
และแน่นอนว่า คำถามนี้ เป็นคำถามที่ยากจะตอบออกมาได้ และเป็นคำถามที่กดดันมาก สำหรับคนเป็นพ่อ และแม่ สิ่งเดียวที่จะทำได้ในช่วงเวลานี้คือการ ประคบประหงม ดูแลสุขภาพของคุณแม่ข้าวใหม่ และลูกในท้อง ให้อยู่รอดปลอดภัยทั้งคู่ โดยจะไม่ยอมให้เกิดภาวะเสี่ยง เช่นนั้น อย่างสุดความสามารถ
การรักษาเมื่อเป็นโรค DVT
การรักษาโรคนี้ จำเป็นจะต้องฉีดยาสลายลิ่มเลือดอย่างต่อเนื่องวันละ 2 เข็ม บริเวณครรภ์ ซึ่งโดยปกติทั่วไป คนที่เป็นโรคนี้ มักจะใช้ยาเพียงแค่เข็มเดียว แต่เมื่อคุณข้าว มีลูกน้อยในครรภ์เพิ่มมาอีกหนึ่งคน การรักษาจึงต้องเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่านั่นเอง ซึ่งความโชคดีคือ ยาชนิดนี้ ไม่เป็นอันตรายกับเด็กในครรภ์
การฉีดยาสลายลิ่มเลือดนั้น จำเป็นจะต้องฉีดทุก ๆ 12 ชั่วโมง และตัวยาจะต้องถูกรักษาด้วยความเย็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจัดว่า เป็นความลำบากพอสมควร สำหรับคุณแม่ครรภ์แรก ที่นอกจากจะมีภาวะเสี่ยงแล้ว ยังจะต้องทำงานไปด้วยในเวลาเดียวกัน
การดูแลตนเองเมื่อรู้ว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง
เป้าหมายหลักของคุณแม่ข้าวใหม่ในเวลานั้น ก็คือการรักษาลูกในครรภ์ ให้อยู่รอดปลอดภัยให้ได้ครบ 28 สัปดาห์ เนื่องจากเด็กในครรภ์เมื่ออายุครบ 28 สัปดาห์ จะมีความปลอดภัยสูง หากมีการคลอดก่อนกำหนด
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว การดูแลตนเอง และลูกน้อย จึงจะต้องมีรายละเอียดมากขึ้นเท่าตัว ซึ่งกำลังใจจากสามี จากคนในครอบครัว และเพื่อน ๆ ที่ทำงาน คือสิ่งสำคัญ และเป็นแรงผลักดัน ในการต่อสู้กับอุปสรรค ในทุก ๆ วัน
การดูแลลูกน้อยในครรภ์ เมื่อรู้ว่าอยู่ในภาวะเสี่ยง
การนับลูกดิ้น
หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัย ว่าลูกอยู่ในครรภ์ แล้วเราจะดูแลเค้าได้อย่างไร? คุณข้าวใหม่ได้บอกว่า การดูแลลูกน้อยในครรภ์ที่เราทำได้นั้น ก็คือการนับลูกดิ้น อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ ที่คุณแม่ทุก ๆ คน ควรที่จะทำ และใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะหากลูกดิ้นน้อยลง ก็อาจจะเป็นสัญญาณ บ่งบอกถึงความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับลูกน้อยได้เช่นกัน
สังเกตพัฒนาการ
การหาข้อมูลเรื่องพัฒนาการเด็กในครรภ์ ก็เป็นส่วนช่วยอย่างมากสำหรับคุณแม่ เราจะทราบได้ว่า เมื่อเราอายุครรภ์เท่าไหร่ ลูกน้อยของเราจะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ซึ่งผลจากอัลตร้าซาวน์ จะทำให้เรารู้ และเข้าใจถึง พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ได้ว่า เขาสมบูรณ์ และเติบโตได้ตามเกณฑ์หรือไม่
การเข้ากลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์
เนื่องจากโซเชียล เป็นอีกช่องทางในการหาข้อมูลต่าง ๆ และแบ่งปันข้อมูลให้กันและกัน ทำให้การเข้าร่วมกลุ่มของคุณแม่ตั้งครรภ์ จึงมีบทบาทสำคัญ กับคุณแม่ตั้งครรภ์ หลาย ๆ คน ซึ่งแต่ละคน ก็จะเข้ามาแบ่งปันประสบการณ์ ทำให้เราสามารถเรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ ผ่านบทเรียนของคุณแม่เหล่านั้นได้ และหนึ่งในการแบ่งปันของคุณแม่ตั้งครรภ์ในกลุ่ม คือการแนะนำให้คุณแม่ ๆ ได้ลองใช้ แอปพลิเคชั่นของ theAsianparent นั่นเอง และในเวลานั้นเอง ที่คุณข้าวใหม่ ได้มารู้จัก Application ของเรา
แอปพลิเคชั่น theAsianparent มีส่วนช่วยอย่างไร?
คุณข้าวใหม่ได้แบ่งปันประสบการณ์กับการใช้ Application ของ theAsianparent ว่า การใช้แอปพลิเคชั่นนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สามารถหาข้อมูลที่ตนเองต้องการรู้ และค้นหาอ่านได้ แต่ยังทำให้เราเข้าใจถึงพัฒนาการของลูกเราในครรภ์ ในแต่ละช่วงอายุครรภ์ได้ด้วยเช่นกัน รวมถึงการเตรียมพร้อม หากเราจะต้องคลอดก่อนกำหนด หรือการเตรียมตัวก่อนจะไปคลอด ซึ่งกล่าวได้ว่า เป็นประโยชน์อย่างมาก สำหรับคุณแม่ท้องแรกอย่างเรา
คลอดอย่างปลอดภัย
เนื่องด้วยการหาข้อมูล และการดูแลเอาใจใส่ ในการดูแลรักษาตัวเอง และสังเกตุลูกในครรภ์ จึงทำให้คุณข้าว สามารถคลอดลูกสาวที่น่ารัก ออกมาได้อย่างปลอดภัย แม้ว่าคุณข้าว จะต้องเปลี่ยนการคลอด จากเดิมคุณข้าวต้องการที่จะผ่าคลอด แต่ด้วยโรคภาวะเลือดเป็นลิ่ม ทำให้คุณข้าว จำเป็นจะต้องเปลี่ยนมาเป็นการคลอดแบบธรรมชาติ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้เกิดอุปสรรคแต่อย่างใด
และทุกวันนี้ ลูกน้อยกลอยใจของคุณข้าวใหม่ ก็เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กสาวที่น่ารัก และมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เหมือนเด็กคนอื่น ๆ โดยไม่น่าเชื่อเลยว่า ช่วงที่ตั้งครรภ์นั้น ทั้งคุณข้าวใหม่ คุณสามี และลูกน้อย ต่างจะต้องเผชิญกับอุปสรรค ต่าง ๆ มากมาย กว่าจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างทุกวันนี้
คุณข้าวใหม่จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ ให้กับคุณแม่หลาย ๆ คน ที่เผชิญกับช่วงยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้าทางอารมณ์ หรือภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ ให้ลองเข้าหากลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ ตามเพจเว็ปไซต์ต่าง ๆ แบ่งปันประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และลองเปิดใช้แอปพลิเคชั่น theAsianparent ดู ก็จะมีส่วนช่วยให้ คุณแม่ ๆ ที่มีความกังวลใจ จะได้ระบายความอึดอัด และสามารถหาข้อมูลที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติมได้ใน แอปพลิเคชั่น ของเรานะคะ
ขอขอบคุณ : คุณวันวิสาข์ ทีวงศ์ (ข้าวใหม่) และ น้อง อุรัสยา แสวงสุข (วิปครีม)
สามารถโหลด แอปพลิเคชั่น theAsianparent ได้ที่นี่
Download Application theAsianparent สำหรับ iOS
Download Application theAsianparent สำหรับ Androi
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคแทรกซ้อนแม่ท้องต้องระวัง 10 โรคอันตรายที่คุณหมอพบบ่อย
ยาที่คนท้องห้ามใช้ ยาที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ข้อควรระวังการใช้ยาของคนท้อง ยาที่ควรหลีกเลี่ยง
โรคประจำตัวกับคนท้อง คุณแม่ควรเฝ้าระวังอาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้