คุณเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้หรือเปล่าคะ…
จู่ ๆ ข้าศึกเกิดบุกโจมตีกะทันหัน ทัพหน้าเข้ามาจ่อประชิดประตูเมืองแล้ว รอช้าไม่ได้ละ! คุณรีบพุ่งเข้าห้องน้ำที่อยู่ใกล้ที่สุดแล้วหย่อนก้นลงปล่อยระเบิดทันที ไชโย! รอดตายแล้ว!! แต่เดี๋ยวนะ.. สัมผัสเปียก ๆ ที่ก้นนี่มัน.. มัน… “ฉี่” นี่นา!! อี๋ย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์ย์
หลังจากโหยหวนเสร็จ คุณเริ่มหวาดผวา ‘ฉันจะติดโรคอะไรไหมเนี่ย เริม? หนองใน? เอดส์? ม่ายยยยยยยยยยย’
ใจเย็น ๆ ค่ะ ตั้งสติ แล้วมาฟังกันชัด ๆ นะคะ
ถ้าเราโชคร้ายนั่งทับฉี่คนอื่นเข้า สิ่งเลวร้ายที่สุดที่จะเกิดขึ้น คือ…
ก้นเปียก… ใช่แล้วค่ะ!
“ฉี่ทำอะไรเราไม่ได้หรอก ขนาดจับฉี่แล้วมาจับหน้ายังไม่เป็นไรเลย” ดร. ฟิลลิป เทียร์โน ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก อธิบายในข่าวฟ็อกซ์นิวส์
ฉี่ไม่มีเชื้อโรคที่เป็นอันตราย แต่ถ้าเราสัมผัสผนัง ประตู หรือสิ่งต่าง ๆ ในห้องน้ำจะมีโอกาสติดหวัดหรือติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้ ดังนั้นเราจึงควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดหลังเสร็จธุระส่วนตัวทุกครั้งเพื่อลดความเสี่ยงนี้
รับทราบแล้วก็หยุดมโนค่ะ โรคติดต่อทั้งหลายไม่ได้ติดต่อกันทางหยดฉี่
- เอดส์ : ไวรัส HIV ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์หรือเมื่อเลือดสัมผัสเลือด ไม่ใช่ฉี่
- หนองในเทียม : เชื้อแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis อาศัยอยู่ลึกถึงปากมดลูก ไม่มีโอกาสค่ะ
- เริม : ไวรัสเริมมักซ่อนอยู่ในปมประสาท ส่วนใหญ่จะแพร่เชื้อเมื่อสัมผัสถูกปาก ทวารหนัก และอวัยวะเพศโดยตรง
- ซิฟิลิส : ติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์
- โลน : แมลงดูดเลือดตัวจิ๋วที่มักเกาะพงหญ้าจุดซ่อนเร้นชนิดนี้ก็ติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์เป็นหลักเช่นกัน อีกอย่าง ขาของโลนยึดเกาะหรือเดินบนพื้นผิวเรียบอย่างฝารองนั่งชักโครกไม่ได้
จะเห็นได้ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้ติดต่อกันง่าย ๆ ในห้องน้ำสาธารณะ ที่สำคัญ เชื้อพวกนี้ไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมภายนอก ออกมานอกร่างกายได้ไม่นานก็ตายหมดแล้ว
“จุลชีพแต่ละชนิดอึดไม่เท่ากัน” เทียร์โนเสริม “ไวรัสจะตายก่อนเพื่อน ส่วนแบคทีเรียบางชนิดอาจอยู่ได้หลายนาทีหรือหลายชั่วโมง”
โอเค เข้าใจตรงกันนะคะ ถ้าบังเอิญเจอแจ็กพอตนั่งทับฉี่คนอื่นก็ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องเชื้อโรคนะคะ คุณไม่เป็นอะไรหรอก
แต่ขอแนะนำให้พกทิชชูเปียกกับน้ำยาฆ่าเชื้อโรคไปเข้าห้องน้ำด้วยดีกว่าค่ะ สบายใจกว่ากันเยอะ
…สาว ๆ คิดอย่างไรกันบ้างคะ.. มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยกันที่ช่องแสดงความคิดเห็นข้างล่างได้เลยค่ะ
ที่มา : sg.theasianparent.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
ผลวิจัยชี้การฉี่ในสระว่ายน้ำไม่ปลอดภัย!!!