นับถอยหลังสู่วันคลอด คุณหมอแนะ ใกล้คลอดแล้ว ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ใกล้ถึงเวลาสำคัญที่แม่จะได้เจอหน้าลูกรักแล้วค่ะ แค่นับถอยหลังก็ตื่นเต้นจะแย่ แล้วแม่ต้องเตรียมตัวไปคลอดอย่างไรบ้าง มาดูคำแนะนำจากคุณหมอกันดีกว่า

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

เตรียมตัวคลอดลูก

การคลอดบุตรเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของสตรีตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งจากการเจ็บครรภ์คลอด หรือการมีน้ำคร่ำรั่วไหลออกมาทางช่องคลอด การเตรียมตัวที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงลงได้ และช่วยให้การคลอดง่ายขึ้น ลดความวิตกกังวล ความหวาดกลัว และความเครียดแก่มารดาซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการหดรัดตัวของมดลูกด้วย นับถอยหลังสู่วันคลอด เตรียมตัวคลอดลูก อย่างไรบ้าง

 

ข้อแนะนำการเตรียมตัวคลอดทั่วไป

คุณแม่จะได้รับคำแนะนำในการเตรียมตัวมาคลอดบุตรจากแพทย์และพยาบาล ให้อาบน้ำ สระผมให้สะอาด งดน้ำและอาหารเมื่อจะเดินทางมาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงห้องคลอดแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจภายในเพื่อกำหนดว่าคุณแม่เข้าสู่ระยะคลอดจริงหรือไม่ อาจมีการสวนอุจจาระ การโกนขนทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอดและฝีเย็บ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอด มีการติดตามการเปิดของปากมดลูก

ช่วงนี้คุณแม่จะนอนรอในห้องรอคลอด มีการตรวจภายในเป็นระยะทุก 2-4 ชั่วโมง มีการตรวจฟังเสียงหัวใจทารกเป็นระยะ ซึ่งในระยะนี้จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ท่าของเด็กทารก การหดรัดตัวของมดลูก ขนาดตัวทารก เป็นต้น เมื่อปากมดลูกเปิดหมดจึงย้ายคุณแม่เข้าสู่ห้องเบ่งคลอดต่อไป

 

สังเกตอาการนำเข้าสู่ระยะคลอด

คุณแม่สามารถสังเกตอาการการเข้าสู่ระยะคลอดของตนเองได้ไม่ยาก อาการหลักที่สำคัญมี 3 อาการ ดังนี้

  • การเจ็บครรภ์จริง คุณแม่สามารถสังเกตการหดรัดตัวของมดลูกได้ โดยนอนหงายหรือนั่งในท่าที่สบาย เอามือมาสัมผัสบริเวณยอดมดลูกเบาๆ สังเกตดูการบีบตัว การหดรัดตัวของมดลูก ซึ่งจะมาเป็นจังหวะสม่ำเสมอทุก 5- 8 นาที มีช่วงการบีบตัวและคลายตัว ซึ่งในระยะแรกจะยังไม่รู้สึกเจ็บปวด เพียงแต่คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดหรือจุกแน่นมาที่บริเวณใต้ลิ้นปี่ แพทย์จะทำการตรวจจับการหดรัดตัวของมดลูกด้วยมือหรือด้วยเครื่องต่อไป
  • การมีมูกเลือด เมื่อคุณแม่เข้าสู่ระยะคลอดจะมีการเปิดขยายของปากมดลูก จึงทำให้มูกจากปากมดลูกหลุดออกมาปนกับเลือดแดงสดไหลออกมาทางช่องคลอด ปริมาณมักไม่มากอาจเปื้อนผ้าอนามัยเล็กน้อย เลือดที่ออกนี้ไม่มีอันตรายใดใด เมื่อแพทย์ตรวจภายในก็จะทราบการเปิดของปากมดลูกและความบางตัวของปากมดลูก เพื่อเตรียมตัวรอคลอดต่อไป
  • การมีน้ำคร่ำเดิน บางกรณีคุณแม่อาจจะมีน้ำคร่ำรั่วไหลออกมาทางช่องคลอด ก่อนที่จะมีการเจ็บครรภ์หรือมูกปนเลือดไหลออกมาได้ น้ำคร่ำมีลักษณะเป็นน้ำใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไหลออกมาทางช่องคลอดเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเวลาไอ จามหรือ เบ่ง จะมีน้ำคร่ำไหลออกมามากขึ้น แพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อนำน้ำดังกล่าวมาทดสอบว่าเป็นน้ำคร่ำที่รั่วหรือไม่ต่อไป

 

การฝึกกำหนดลมหายใจและการเบ่งคลอด

เมื่อการคลอดดำเนินต่อจนกระทั่งปากมดลูกเปิด คุณแม่ก็พร้อมที่จะเบ่งคลอด การฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออกให้ถูกจังหวะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบ่งคลอด ให้คุณแม่พักในจังหวะที่มดลูกคลายตัว เมื่อเริ่มมีการหดรัดตัวของมดลูกให้คุณแม่สูดหายใจเข้าให้เต็มปอดและออกแรงเบ่งคลอดตามลมหายใจออกให้สุดลมหายใจ การจัดท่าที่เหมาะสมจะช่วยส่งเสริมให้เบ่งคลอดได้ดีขึ้น ซึ่งทั่วไปมักจัดให้คุณแม่นอนราบบนเตียง เอาขาพาดขึ้นขาหยั่งทั้งสองข้างในลักษณะท่าขบนิ่ว ก้มหน้าคางชิดอกแล้วเบ่ง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

การเตรียมใจและมีสติ

โดยเฉพาะสำหรับคุณแม่ท้องแรก มักมีความเขินอาย ความเครียดปนกับความหวาดกลัวการตรวจภายใน การเบ่งคลอดเสมอ คิดล่วงหน้าไปก่อนว่าการคลอดจะเป็นอย่างไร จะคลอดได้หรือไม่ จะถูกผ่าตัดคลอดหรือไม่ ลูกจะปลอดภัยหรือไม่ หากมีการเตรียมตัวเตรียมใจที่ดี มีสติ มีกำลังใจจากสามีและครอบครัว ให้เรียนรู้ขั้นตอนการคลอดเบื้องต้นมาก่อน คุณแม่ก็มักจะพร้อมที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ข้างหน้าและสามารถผ่านการคลอดไปได้ด้วยดี นอกจากนี้หากคุณแม่ได้คุณหมอและทีมพยาบาลที่เก่งและมีหัวใจบริการ ก็จะช่วยให้คุณแม่อุ่นในและรับมือกับการคลอดได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ทุกเรื่องกับกระเป๋าเตรียมคลอดของแม่ผ่าท้องคลอด

เทคนิคลดความกลัวการคลอดลูก ของแม่ใกล้คลอด

ผ่าคลอดแนวยาว ผ่าคลอดแนวขวาง ข้อดีข้อเสีย และวิธีดูแลแผลผ่าคลอด

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา