อยากให้ลูกคอแข็งเร็ว ๆ นั่งหรือคลานได้อย่างรวดเร็ว พ่อแม่ต้องบริหารลูกน้อยด้วย ท่าออกกำลังกายทารก เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ได้อย่างแข็งแรงค่ะ สำหรับกิจกรรมที่อยากจะแนะนำหลากหลายท่าด้วยกัน ถ้าอยากรู้แล้วว่าจะมีท่าอะไรบ้าง ไปดูกัน
13 ท่าออกกำลังกายทารก เพื่อให้ลูกน้อยแข็งแรงสมวัย
1. Tummy Time
Tummy Time คือ กิจกรรมหนึ่งที่ปล่อยให้ลูกฝึกนอนคว่ำโดยใช้หน้าท้องของลูกน้อย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อศีรษะ คอ หัวไหล่ แขน ขา และมือ พ่อแม่สามารถฝึกให้ลูกนอนคว่ำแล้วชันคอได้ทุกวัน วันละประมาณ 20 นาที (ขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูกน้อย) โดยแบ่งออกเป็นเซต เซต 2-3 นาทีค่ะ จะเล่นบนที่นอนหรือบนเพลย์แมท (playmat) ก็ได้
ระหว่างนั้นก็ชวนลูกเล่นด้วยของเล่นมีเสียง หรือคุณพ่อคุณแม่จะเลือกร้องเพลงให้ลูกฟัง เพื่อให้ลูกน้อยได้เคลื่อนไหวไปตามจังหวะของเพลง ซึ่งวิธีฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลูกน้อยได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีฝึกลูกพลิกคว่ำ (Tummy Time) กระตุ้นพัฒนาการที่ดีของทารก
2. วิดพื้น
เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ลูกน้อยได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ แขน กล้ามเนื้อหลัง และหน้าท้องค่ะ วิธีการไม่ยากค่ะ เริ่มจากที่คุณแม่ให้น้องนอนหงาย จากนั้นก็จับแขนของน้องทั้งสองข้าง แล้วค่อย ๆ ดึงเข้าหาตัวคุณพ่อคุณแม่ค่ะ หากน้องยังคอไม่แข็งพอก็ให้ค่อย ๆ ประคองศีรษะขึ้นมาแทนการดึงแขนนะคะ
ถ้าอยากเพิ่มความสนุกให้ลูกน้อย แนะนำให้พ่อแม่ดึงลูกขึ้นมาเข้าใกล้กับหน้าให้มากที่สุด หรือจุ๊บเข้าที่แก้ม แล้วลูกน้อยจะเปล่งเสียงหัวเราะออกมาอย่างมีความสุขเองค่ะ
3. วางลูกไว้บนหน้าอก
ท่านี้คือให้คุณพ่อคุณแม่ทำขณะที่ตัวเองนอนราบกับพื้นจากนั้นให้นำลูกน้อยมานอนคว่ำให้หัวลูกอยู่บริเวณหน้าอก
ท่านี้เป็นการช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อคอ เพราะฝึกให้ลูกเงยหน้าขึ้นมองหน้าคุณพ่อคุณแม่
4. บริหารมือก่อนคลาน
ให้ลูกบริหารมือก่อนคลาน จำเป็นต้องทำความคุ้นเคย วอร์มฝ่ามือก่อน โดยเหยียดมือและนิ้วของลูกออกในขณะที่เอื้อมหยิบสิ่งของ หรือสามารถนวดมือของทารกด้วยผ้าขนหนูในอ่าง
ท่าง่าย ๆ แค่นี้ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของท่าออกกำลังกายทารก เพราะช่วยให้ความแข็งแรงให้ฝ่ามือ
5. ปั่นจักรยานอากาศ
สำหรับกิจกรรมนี้ก็คล้ายกับที่ผู้ใหญ่ทำค่ะ เพียงแต่ว่าลูกน้อยยังบังคับขาของตัวเองให้ทำอย่างผู้ใหญ่ไม่ได้เท่านั้นเอง วิธีการก็แค่ให้น้องนอนหงายบนที่นอนจากนั้นก็ยกขาน้องขึ้นทั้งสองข้าง เมื่อพร้อมแล้วก็จับเท้าน้องปั่นจักรยานอากาศได้เลยค่ะ และอย่าลืมร้องเพลงคลอตามไปด้วยนะ หนูน้อยจะไปยิ่งสนุกค่ะ คุณอาจจะให้น้องทำกิจกรรมนี้ครั้งละประมาณ 3-5 ครั้ง แล้วพัก จากนั้นค่อยทำซ้ำเป็นเซต ๆ ก็ได้ค่ะ
6. Cruising
หรือท่าล่องเรือ เป็นการฝึกหัดเดินให้ทารก โดยให้ลูกใช้มือจับโซฟาหรือเฟอร์นิเจอร์ช่วยในช่วงหัดเดิน ค่อย ๆ วางมือบนเฟอร์นิเจอร์และเมื่อมั่นใจแล้วจึงสามารถเดินเอง คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยง การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงสำหรับเด็กทารก (ซึ่งมีฐานล้อและที่นั่งที่มีช่องเปิดขา) เพราะอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
7. Bubble Gaze
ให้คุณพ่อคุณแม่หาอุปกรณ์ตัวช่วยอย่างบับเบิ้ล หรือฟองสบู่ แล้วให้ลูกนั่งบนเก้าอี้จากนั้นก็เป่าฟองสบู่ให้ลูกดู เพื่อให้ลูกฝึกใช้ประสาทสัมผัสตาในการจ้องมองตามฟองสบู่ที่ลอยในอากาศ และเอื้อมมือไปจับฟองสบู่ เป็นการฝึกการใช้ประสาทสัมผัสกันระหว่างตาและมือ ช่วยฝึกหัดของทารกที่ง่ายที่สุดแต่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าการออกกำลังกายของทารกจะดูเป็นวิธีแสนธรรมดาแต่เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมสำหรับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเรียนรู้ทักษะที่สำคัญ
8. ยกน้ำหนัก
ในกิจกรรมนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมให้กับลูกน้อย ซึ่งก็คือ ของเล่นของน้องนั้นเองค่ะ โดยเริ่มจากที่ให้น้องนั่งบนที่นอนหรือบนเก้าอี้หัดนั่งก็ได้ จากนั้นนำเครื่องเล่นที่น้องชื่นชอบวางไว้ข้างหน้า เพื่อให้ลูกน้อยได้เอื้อมตัวมาหยิบเสร็จแล้วก็ปล่อยให้น้องยกของเล่นอย่างอิสระ หรือจะเพิ่มความท้าทายด้วยการให้น้องเอียงไปทางซ้ายทีขวาทีก็ได้ค่ะ
9. Sitting on a Stool
เนื่องจากการทรงตัวเป็นส่วนสำคัญของการเดิน ทารกจึงต้องฝึกการทรงตัว โดยการนั่งบนเก้าอี้ให้เท้าสัมผัสแตะกับพื้น แล้วนำของเล่นมาวางไว้ด้านหน้าเพื่อให้ลูกได้ลุกขึ้นไปหยิบแล้วกลับมานั่งในท่าเดิม เป็นการฝึกให้ลูกน้อยทำความคุ้นเคยกับการลงน้ำหนักที่เท้า
10. ท่าโยคะสำหรับทารก
ลูกน้อยได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเล่นโยคะ เพราะท่าโยคะสามารถช่วยบรรเทาอาการท้องผูก จุกเสียด และแก๊สในกระเพาะของทารกได้ โยคะเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียบง่ายแต่มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การนอนหลับของคุณดีขึ้น เนื่องจากสามารถปรับปรุงการนอนหลับของทารก เราจึงมีท่าโยคะแบบง่าย ๆ มาแนะนำ ดังนี้
11. Downward Dog
เหมาะสมลูกน้อยวัย 6-10 เดือนขึ้นไป หรือช่วงวัยที่เริ่มคลานได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มทำตัวอย่างสาธิตให้ลูกดูก่อนแล้วทำตาม โดยเริ่มจากวางมือทั้งสองข้างลงที่พื้น ในท่าคว่ำหน้า จากนั้นดันก้นขึ้น ทำให้ร่างกายเหมือนรูปตัว V กลับหัว ช่วยฝึกให้ลูกน้อยมีความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น
12. Happy Baby
เริ่มจากให้ลูกน้อยนอนหงาย จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ดันขาลูกขึ้นบนอากาศ แล้วปล่อยให้ลูกจับขาตัวเองแกว่งไปแกว่งมา โดยช่วงแรกคุณพ่อคุณแม่อาจช่วยลูกน้อยก่อนได้ค่ะ ท่านี้จะเป็นการบริหารช่วงสะโพกและยังเป็นการช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหารในเด็กได้ดี
13. Butterfly Twist
เริ่มจากให้ลูกน้อยนอนหงายลงบนพื้นที่ราบ จากนั้นจับขาของลูกน้อยดันไปที่ท้องอย่างช้า ๆ โดยที่แขนทั้งสองข้างอยู่ข้างลำตัว จากนั้นค่อย ๆ จับขาแยกออกทั้งสองข้าง คล้ายกับผีเสื้อกำลังกางปีกบิน ท่านี้ช่วยให้ทารกผ่อนคลายและนอนหลับได้สนิทดียิ่งขึ้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ สำหรับข้อมูลที่เรานำมาฝากกันวันนี้ เพียงแค่คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ฝึกกายบริหารให้ลูกน้อยทุกวัน น้อง ๆ ก็จะมีพัฒนาการทางร่างกายที่ดีขึ้นแข็งแรงสมวัย แถมยังถือเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับลูกน้อยเพื่อสร้างความผูกพันระหว่างกันได้เป็นอย่างดีอีกด้วยค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีกระตุ้นพัฒนาการของลูกน้อย แค่ 180 นาทีต่อวัน ใครๆ ก็ทำได้!
ทำอย่างไรไม่ให้ลูกน้อยหัวแบน เรามีวิธีง่ายๆมาบอก
ภาษากายทารก หิว เบื่อ ง่วงนอน มีอาการอย่างไร ลูกทำท่านี้หมายความว่าอะไร