ท่านอนหลังผ่าคลอด สำหรับคุณแม่เพื่อลดอาการเจ็บปวดของแผลผ่าคลอดให้มากที่สุด เรื่องการนอนเป็นสิ่งสำคัญมาก สำหรับคนเป็นแม่ เริ่มตั้งแต่ตอนตั้งท้อง ที่ในแต่ละเดือนการนอนจะเริ่มยากขึ้น รู้สึกอึดอัดไปหมด หลังผ่าคลอดลูก การนอนก็เป็นปัญหาอีกเช่นกัน จะนอนท่าไหนดีที่สบายที่สุด แต่ละท่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร และเทคนิคในการนอนที่ได้ผลดีที่สุดมีอะไรบ้าง
ทำไม ท่านอนหลังผ่าคลอด จึงสำคัญ
ชีวิตแม่ลูกอ่อนยิ่งจะวุ่นวาย ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ทั้งฟื้นฟูร่างกายที่อ่อนล้าจากการให้กำเนิด ทั้งจะต้องให้ดูแล และให้นมลูกทารก กิจวัตรของคุณแม่หลังคลอด จึงเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า บ้างก็มีความเครียด และวิตกกังวล ทำให้นอนไม่ค่อยหลับบ้าง สะดุ้งตื่นกลางดึกบ้าง ท่านอนที่ดี จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้สนิทมากขึ้น และช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากแผลผ่าคลอด ลดการกดทับ ช่วยให้แผลหายได้เร็วขึ้น
การอดนอน อาจนำไปสู่ความเครียด และภาวะซึมเศร้า
การนอนหลับ และพักผ่อนเพียงพอ จะช่วยทดแทนความเหนื่อยล้า ทำให้คุณแม่มีพลังงานในการดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ คุณแม่อาจจะนอนพร้อมกับลูก หรือขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิดให้มาช่วยดูแลลูกน้อยแทนตอนที่คุณแม่งีบหลับก็ได้
การอดนอน หรือพักผ่อนไม่เพียงพอจะยิ่งทำให้เกิดความเครียด อารมณ์แปรปรวน และความสารมารถในการคิดวิเคราะห์ลดลง คุณแม่จะหงุดหงิดง่าย อ่อนล้า ขาดความกระตือรือร้น ในบางราย อาจส่งผลต่อภาวะซึมเศร้า และเกิดความวิตกกังวล การนอนหลับให้สนิท จะช่วยให้คุณแม่สามารถผ่านพ้นระยะวิกฤติ และอาการซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นหลังคลอดได้
ไม่เพียงแต่คุณแม่เท่านั้น แต่คุณพ่อหลาย ๆ คน ก็มีอาการเหนื่อยล้า จากการดูแลลูกน้อยแรกคลอด ประกอบกับการกลับไปทำงานนอกบ้านเร็วเกินไป จึงอาจทำให้พ่อมีภาวะนอนไม่หลับ จากความวิตกกังวลได้เช่นกัน
ท่านอนที่ดีที่สุด สำหรับแม่ผ่าคลอด นอนสบาย ไม่เจ็บแผล
-
นอนหงาย
แม่ผ่าคลอดส่วนใหญ่มักจะนอนหงายในช่วง 2 – 3 วันแรกหลังคลอด บางคนอาจนอนท่านี้นานกว่าสัปดาห์ เพราะเป็นท่าที่สบายที่สุด และกระทบต่อแผลผ่าคลอดน้อยที่สุด ถ้าหากอยากนอนให้สบายมากขึ้นแนะนำให้นำหมอนมาหนุนใต้เข่า
ท่านอนหงายนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาล้มตัวลงนอน หรือลุกออกจากเตียง ให้คุณแม่เอาลงจากที่นอนก่อน งอขา และหมุนตัวไปนอนตะแคง จากนั้นใช้แขนทั้งสองข้างยันตัวลุกขึ้น อย่าเกร็งบริเวณท้อง เพราะจะทำให้เจ็บได้
-
นอนตะแคง
สำหรับคุณแม่ที่นอนหงายมาหลายวันแล้ว ก็สามารถเปลี่ยนมานอนตะแคงได้ ถ้าเป็นไปได้ให้นอนตะแคงซ้าย จะดีที่สุด เพราะจะช่วยเรื่องของการไหลเวียนเลือด และการย่อยอาหาร ในระหว่างนอนคุณแม่อาจใช้หมอนหนุนบริเวณท้อง หรือช่วงสะโพก
ข้อดีของท่านี้คือ เวลาที่คุณแม่ลุกออกจากเตียง สามารถใช้ข้อศอกดันตัวเองลุกขึ้นจากเตียง ควรหายใจออกเวลาที่ดันตัวขึ้น จะทำให้ไม่เจ็บแผลผ่าตัดมากนัก
-
นอนโดยใช้หมอนหนุน
แม่ ๆ หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้หมอนหนุนตามร่างกายช่วงตั้งครรภ์มาแล้ว หลังจากผ่าคลอดคุณแม่อาจนำเทคนิคเดิมมาใช้ เพื่อให้หลับสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ใช้หนุนช่วงศีรษะเท่านั้น แต่อาจจะหนุนช่วงลำตัวส่วนบน เพื่อให้คุณแม่สามารถหายใจได้อย่างสะดวก และนอนหลับง่ายยิ่งขึ้น
-
นอนพิงเอนไปด้านหลัง
ถึงแม้ว่าการนอนพิงกับเก้าอี้หรือโซฟา จะไม่ใช่ท่านอนที่สบายที่สุด แต่คุณแม่สามารถใช้ถ้านี้ในการงีบระหว่างเลี้ยงลูก หรือให้นมลูกได้ และเชื่อว่าแม่หลาย ๆ คนคงเผลอหลับระหว่างเลี้ยงลูกท่านี้กันบ่อย ๆ เป็นแน่
เคล็ดลับที่ช่วยให้แม่หลับสบาย การฟื้นฟูตัวเองหลังการผ่าคลอด และดูแลลูกน้อยแรกเกิดไปด้วย ทำให้แม่ลูกอ่อนหลาย ๆ คน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ จึงจำเป็นต่อคุณแม่อย่างมาก เคล็ดลับในการนอนหลับพักผ่อนของคุณแม่ มีดังนี้
-
พ่อและแม่ผลัดกันดูแลลูก
การดูแลลูกน้อย ไม่ใช่หน้าที่ของแม่เพียงคนเดียว อย่าลังเลที่จะขอให้คุณพ่อ หรือคนใกล้ชิด ช่วยดูแลลูกน้อยในบางช่วงเวลา เพื่อให้ตัวคุณแม่เองได้พักบ้าง การลุกนั่งบ่อย ๆ อาจจะทำให้แผลผ่าคลอดที่ยังไม่หายดี เกิดการอักเสบขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลากลางคืน ที่ไม่มีแสงสว่างเพียงพอ ยิ่งอันตราย และไม่เป็นผลดี หากแม่ผ่าคลอดจะต้องลุกขึ้นมากล่อมลูกทารกที่ร้องไห้ตลอดทั้งคืน
-
ปิดหน้าจอโทรศัพท์
การปิดจอโทรศัพท์ หรือวางโทรศัพท์ไว้ไกลจากเตียงนอน เป็นวิธีที่หลาย ๆ คนคงจะได้เคยอ่านกันมาอยู่แล้ว แต่ทำยากเหลือเกิน เพราะการอัพเดทข้อมูล โซเซียลมีเดีย เป็นสิ่งสุดท้ายที่หลาย ๆ คนอยากจะทำก่อนนอน แต่ทราบหรือไม่ว่า แสงสีฟ้าจากหน้าจอโทรศัพท์นี่แหละ ที่ทำให้สมองของคนเราตื่นตัว ลดการสร้างเมลาโทนิน ซึ่งส่งผลให้นอนไม่หลับ
-
อยู่ในสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการพักผ่อน
สำหรับห้องนอนของคุณแม่ และลูกน้อยคงจะเต็มไปด้วยโมบายล์น่ารัก ๆ ของเล่นกุ๊กกิ๊กเต็มพื้นที่ไปหมด และคงจะยาก หากจะปรับเปลี่ยนสภาพห้องให้เงียบสงบ และเหมาะสำหรับการนอนหลับจริง ๆ เช่นนั้นแล้ว การปรับอุณภูมิในห้อง ให้เย็นสบาย ไม่ร้อนเกินไป และหรี่ไฟ เพื่อไม่ให้มีแสงสว่างรบกวนการนอนหลับ ก็จะช่วยให้แม่หลับได้สบายมากยิ่งขึ้น
-
บรรเทาความเจ็บปวดจากการแผลผ่าคลอด
ถ้าหากแม่ผ่าคลอดมีอาการปวดแผล สามารถปรึกษาแพทย์ได้ แพทย์อาจจะให้ยาแก้ปวดที่ปลอดภัย และไม่เป็นอันตรายกับการให้นมบุตร
-
หลีกเลี่ยงคาเฟอีนยามบ่าย และการรับประทานมื้อดึก
การดื่มชา กาแฟ หรือการรับประทานอาหารก่อนนอน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณแม่นอนไม่หลับ ควรรับประทานมื้อเย็น ก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
การดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
สำหรับคุณแม่มือใหม่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การนอนหลับพักผ่อน แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก็ตาม เนื่องจากการนอนหลับเป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่หายจากแผลผ่าคลอดได้ดีอีกวิธีหนึ่งเลยทีเดียว นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถดูแลตัวเอง เพื่อให้นอนหลับสบายมากขึ้น ดังนี้
ข้อควรระวัง และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงหลังผ่าคลอด
- หลีกเลี่ยงการนอนคว่ำ
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนัก การยกของหนัก ๆ ที่มากกว่าน้ำหนักตัวของลูก เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และนอนหลับได้ยากขึ้น
- พยายามอย่าลุกบ่อยในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรก อาจจะขอความช่วยเหลือจากสามี หรือคนใกล้ชิด เมื่อต้องการลุกขึ้น หรือช่วยหยิบสิ่งของต่าง ๆ
- อย่าเพิ่งใช้ผ้าอนามัยแบบสอด หรือฉีดล้างช่องคลอด จนกว่าจะได้รับการอนุญาตจากแพทย์
- อย่าเพิ่งอาบน้ำ เพราะอาจทำให้แผลผ่าตัดเปียก หรือติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการแช่น้ำ หรือว่ายน้ำ
- งดการมีเพศสัมพันธ์
- หลีกเลี่ยงการเดินขึ้น – ลง บันได
ข้อควรปฏิบัติ หลังจากการผ่าคลอด
- ปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาแก้ปวด เพื่อให้นอนที่ดีขึ้น
- ออกกำลังกายเบา ๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือด โดยอาศัยการเดินเพียงเล็กน้อย ก็จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่มีวิตามินซีสูง และมีส่วนช่วยในเรื่องการอักเสบ เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ผัก ถั่ว และธัญพืช เพื่อให้คุณแม่นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น
- ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูก หากเกิดอาการท้องผูก อาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับยาบรรเทาอาการท้องผูกได้
ที่มา: parenting , healthline
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ร้องไห้หลังคลอด อารมณ์คุณแม่หลังคลอด นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย เป็นซึมเศร้าหลังคลอด หรือไม่
เคล็ดลับดูแลตัวเองหลังผ่าคลอด แม่หลังคลอดต้องทำอย่างไรบ้างให้ฟื้นตัวเร็ว
อยู่ไฟหลังผ่าคลอด แบบชาวบ้านที่สถานีอนามัย 5 วัน แค่พันบาท สบายตัว!