ลูกคลานช้า คลานถอยหลังผิดปกติไหม ท่าคลานทารก มีแบบไหนบ้าง?
โดยปกติเด็กทารกจะเริ่มคลานเมื่อมีอายุ 6 – 10 เดือน ซึ่งการคลานถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการที่สำคัญของเด็ก ๆ เมื่อไหร่ที่เจ้าตัวน้อยของเราเริ่มคลานหรือกระดึ๊บไปตามพื้นนั่นหมายความว่าลูกกำลังมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และเริ่มฝึกการทรงตัว โดยในระหว่างที่คลานลูกจะใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่เพื่อแบกรับน้ำหนักด้วยมือและเข่า อีกทั้งยังต้องใช้สมาธิอย่างมาก ในการเคลื่อนไหวมือและขาให้ประสานงานกันเพื่อจะได้เคลื่อนที่ไปข้างหน้า แต่ก็ยังมีเด็กบางคนที่อาจจะคลานช้า คลานถอยหลัง หรือไม่คลานเลย จนคุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลว่าลูกของเราจะพัฒนาการผิดปกติหรือเปล่า แล้ว ท่าคลานทารก มีท่าไหนบ้าง มาดูกันดีกว่าค่ะ
โดยในช่วงแรก คุณพ่อคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นลูกของเราเริ่มคว่ำหน้าได้ แล้วเอาตัวกระดึ๊บ ๆ ไปตามพื้นแบบท้องยังติดพื้นอยู่ แล้วหลังจากนั้นลูกก็จะเริ่มยันตัวขึ้นได้และเริ่มคลานโดยใช้มือและเข่าค่ะ ซึ่งท่าคลานของทารกนั้น ไม่ได้มีแค่ท่าเดียวนะคะ แต่มีหลายท่าด้วยกัน อย่างเช่น 6 ท่านี้ค่ะ
ท่าคลานทารก 6 ท่า
คลานแบบปกติ
ท่านี้จะเป็นท่าคลานปกติที่ใช้มือและเข่าในการคลานค่ะ
คลานแบบหมี
ท่านี้จะต่างจากท่าแรกนิดหน่อย แต่เปลี่ยนจากการใช้เข่าเพื่อยันตัวแทนการใช้เข่า ทำให้ดูเหมือนท่าเดินของหมีค่ะ
คลานด้วยท้อง
เป็นท่าคลานที่เด็ก ๆ จะเอาท้องติดกับพื้นแล้วไถตัวไปเรื่อย ๆ ดูเหมือนท่าหมอบคลานของทหารค่ะ
คลานแบบปู
คือการคลานในท่านั่งแล้วใช้มือกับขาเพียงข้างเดียวเพื่อเขยิบตัวไปด้านหน้าค่ะ
คลานด้วยก้น
ท่านี้ก็จะเป็นการคลานด้วยท่านั่งเหมือนกันค่ะ โดยเด็ก ๆ จะนั่งโน้มตัวไปข้างหน้า แล้วเอามือค่อย ๆ ดึงตัวไปเรื่อย ๆ
คลานไปกลิ้งไป
ส่วนท่าสุดท้ายนี้จะเป็นกึ่ง ๆ การคลานผสมกับการกลิ้งไปเรื่อย ๆ
ซึ่งนี่เป็นแค่ท่าคลานหลัก ๆ ที่พบได้บ่อยของเด็กเท่านั้นค่ะ แต่จริง ๆ แล้วอาจมีการพลิกแพลงและมีท่าที่ถนัดส่วนตัวได้ ซึ่งการที่เด็กคลานถอยหลัง หรือคลานช้าไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใดค่ะ หากลูกของเราไม่ได้มีปัญหาทางด้านพัฒนาการอื่น ๆ ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ
จะกระตุ้นให้ลูกคลานอย่างไรดี?
จริง ๆ แล้ว การที่ลูกไม่คลานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติค่ะ หากลูกของเรายังมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อที่แข็งแรงดีอยู่ และสามารถหยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้ เพราะเด็กบางคนก็ข้ามขั้นไปสู่การยืนหรือเดินเลยก็มี แต่หากคุณแม่อยากกระตุ้นให้ลูกคลานล่ะก็ สามารถทำได้ด้วยการจับลูกนอนคว่ำแล้วชวนลูกเล่น เช่นใช้ของเล่นมาดึงดูดความสนใจแล้วทิ้งระยะห่างเพื่อให้ลูกพยายามตามมาหยิบ โดยเลือกของเล่นชิ้นโปรดของลูก หรือของเล่นสีสันสดใส ที่มีไฟหรือเสียงค่ะ หรือคุณแม่จะใช้วิธีคลานเล่นกับลูกเพื่อทำเป็นตัวอย่างให้ลูกดูก็ได้ค่ะ
การเตรียมพื้นที่สำหรับคลานให้ลูก
เมื่อลูกเริ่มคลานได้แล้ว คุณแม่ควรระวังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกดังต่อไปนี้ค่ะ
- ปิดเหลี่ยมมุมต่างๆ ให้เรียบร้อย
- เก็บกวาดสิ่งที่อยู่บนพื้นที่อาจเป็นอันตรายกับลูก เล่น เหรียญ กระดุม หรือของชิ้นเล็กๆ ที่ลูกอาจเอาเข้าปากและติดคอได้
- เก็บขวดสารเคมีต่างๆ เช่น น้ำยาทำความสะอาดพื้น น้ำยาซักผ้า ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก
- เก็บสายไฟที่ห้อยจากเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เรียบร้อย เพราะลูกอาจดึงและหล่นลงมาทับได้
- ปิดรูปลั๊กไฟ
- ติดตั้งที่กั้นบันได ทั้งด้านบนและด้านล่าง
- ตรวจเช็กเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีน้ำหนักมากว่ามีการยึดติดกับกำแพงอย่างแน่นหนาหรือยัง
นอกจากนี้ยังมีสิ่งของอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกได้อีกเช็คได้ในนี้เลยค่ะ เก็บด่วน! 10 ของใช้ในบ้านที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกถึงชีวิต
ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และรูปภาพนำไปเผยแพร่ต่อ ไม่ว่าวิธีใดๆ ถ้าฝ่าฝืนทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเล่นกับลูก กระตุ้นพัฒนาการลูกน้อย วัยแรกเกิด – 18 เดือน
เล่นอย่างไร เสริมสร้างจินตนาการ เพื่อลูกเก่งและแกร่ง
เทคนิคเลือกของเล่นให้สมกับวัย เลือกแบบไหนให้ลูกฉลาด
ลูกเอาของเข้าปาก อันตราย! อย่าไว้วางใจลูกวัยคลาน คลาดสายตาเพียงนิดอาจเสียใจตลอดชีวิต