เพียงเท่านี้การพาลูกน้อยเข้าเดินทางด้วยคาร์ซีทของคุณ ก็จะประสบความสำเร็จได้อย่างแน่นอน มั่นใจได้เลยว่าตลอดเวลาที่พาลูกน้อยเดินทาง ลูกน้อยของคุณจะปลอดภัยอย่างแน่นอน เดินทางครั้งใดมั่นใจได้เมื่อมีคาร์ซีทเดินทางพร้อมท่าน อย่าลืมนะคะทารกเดินทางไกล นั่งคาร์ซีทเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยตลอดการเดินทาง
การออกเดินทางสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นเสมอ เพราะการ พาลูกนั่งรถยนต์ แบบสงบสุข เป็นเรื่องท้าทายที่สุด และต้องเตรียมตัวไม่น้อยไปกว่าการเก็บกระเป๋า จัดสัมภาระ หรือข้าวปลาอาหารเลย ยิ่งหากต้องเดินทางไกลมากกว่า 5-6 ชั่วโมง ในชั่วโมงแรก ความตื่นเต้นและความแปลกใหม่มักเริ่มหมดไปแล้ว ช่วงเวลานี้เด็ก ๆ จะเริ่มงอแง ทำให้คนขับรถหรือพ่อแม่เสียสมาธิหรือมู้ดดี ๆ จากการเดินทางได้
เป็นเรื่องธรรมดาหากในช่วงวันหยุดยาว หลาย ๆ ครอบครัว ก็มักจะวางแผนพาลูกเดินทางไกล พาทารกไปหาปู่ย่าตายาย สำหรับพ่อแม่ที่ขับรถ อย่าลืมให้ลูกนั่งคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัยตลอดการเดินทาง มาดูกันว่าการพาลูกน้อยนั่งรถยนต์นั้น คาร์ซีทสำคัญอย่างไร และมีเคล็ดลับอะไรบ้างที่จะช่วยไม่ให้เด็กงอแงระหว่างทาง
ความสำคัญของคาร์ซีท
จากสถิติแสดงให้เห็นว่าคาร์ซีทสามารถลดอัตราการตายหรือบาดเจ็บได้ถึงร้อยละ 70 เมื่อเกิดอุบัติเหตุ รถทุกคันจึงควรมีคาร์ซีท เพื่อปกป้องชีวิตของทารก แต่ถ้าจะพูดถึงความปลอดภัยอย่างเดียว อาจไม่เห็นภาพ เรามาดูอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เมื่อมีอุบัติเหตุกันค่ะ
หากเกิดอุบัติเหตุตอนอุ้มลูกนั่งตักในรถยนต์
- แรงกระแทกจะทำให้เด็กหลุดจากมือ อาจไปกระแทกกระจก และหลุดออกนอกรถได้เลย
- เด็กถูกร่างกายของผู้อุ้มกระแทกอย่างแรง ถึงแม้ว่าผู้อุ้มจะมีน้ำหนักเพียง 45 กก. แต่เนื่องจากแรงของรถ จะทำให้เหมือนกับมีของหนัก 1,360 กก. กระแทกมาบนตัวน้อย ๆ ของลูก
คาร์ซีทสามารถนั่งได้ตั้งแต่แรกเกิด หลาย ๆ ครอบครัว พาลูกกลับบ้านด้วยการให้ทารกแรกเกิดนั่งคาร์ซีทเพื่อความปลอดภัย และทารกจะนั่งคาร์ซีทไปได้จนอายุ 4 ปี (หรือตามกำหนดอายุของคาร์ซีทรุ่นที่ใช้) หลังจากนั้นก็ควรใช้ที่นั่งเสริมสำหรับเด็ก (Booster seat) ซึ่งเด็กใช้ได้จนถึงอายุ 12 ปี หรือตามคำแนะนำของสินค้า
การติดตั้งคาร์ซีท ควรติดตั้งอย่างถูกวิธี บนเบาะหลังของรถ โดยติดตั้งแบบหันหลัง (ให้ลูกหันหน้าเข้าหาเบาะ) โดยเฉพาะในทารก เพราะสามารถปกป้องศีรษะและกระดูกสันหลังของเด็กได้ดีกว่า ปัจจุบัน สมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกา แนะนำให้ติดตั้งคาร์ซีทแบบหันหลังจนอายุ 2 ปี
คำแนะนำสำหรับทารกนั่งคาร์ซีทเดินทางไกลนาน ๆ
การพาทารกเดินทางไกล นั่งคาร์ซีทเป็นเวลานาน ๆ ควรหยุดรถทุก 1-3 ชั่วโมง อย่าให้ทารกนั่งคาร์ซีทติดต่อกันนานเกินไป นำลูกออกมายืดเส้นยืดสายบ้าง
ถ้าลูกร้องเวลาให้นั่งคาร์ซีท พ่อแม่ต้องทนหนวกหู และไม่ใจอ่อนนะคะ ลูกจะได้เรียนรู้ว่า ต้องนั่งคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัยของชีวิตลูก ขณะเดียวกันก็ต้องมีกิจกรรมกับลูก เช่น ร้องเพลง เล่านิทาน เพื่อดึงความสนใจลูก หรือถ้าคุณพ่อขับรถ คุณแม่ก็นั่งกับลูก (แม่ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วยนะคะ) แล้วคอยอยู่ใกล้ ๆ เล่นกับลูก เอาของเล่นชิ้นโปรด หมอนใบโปรดลูกมาด้วย สำหรับลูกในวัยทารก อาจต้องคอยเช็คด้วยว่าลูกร้องเพราะหิว ถ่าย หรือเปล่า
พาลูกนั่งรถยนต์ ต้องเตรียมอะไรบ้าง
1. กระเป๋ายาเพื่อการดูแลเบื้องต้นหากลูกมีการเจ็บป่วยระหว่างการเดินทาง
เนื่องจากโรคที่อาจเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยได้บ่อยระหว่างการเดินทางในเด็ก ได้แก่ อุบัติเหตุมีแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ไข้ โรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้หรือโรคหืดกำเริบ ท้องเสีย โรคผิวหนังอักเสบ ผื่นคันจากการแพ้ แมลงสัตว์กัดต่อย ผิวไหม้แดด เป็นต้น ดังนั้นยาที่ควรนำไป ได้แก่
- พลาสเตอร์ยา
- ยาปฏิชีวนะแบบที่ใช้ทา
- ยาแก้ปวดลดไข้ paracetamol
- ยาบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก
- ยาแก้แพ้ antihistamine
- ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เช่น domperidone
- น้ำเกลือแร่ซอง ORS
- ยา steroid ทาแก้ผื่นแพ้
- ยาทากันยุง
- ครีมกันแดดสำหรับเด็ก
หากลูกมีโรคประจำตัวที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเตรียมยาที่จำเป็นและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการเดินทาง
2. น้ำนมแม่ อาหารทารก
สำหรับคุณแม่ที่มีลูกน้อยวัยทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน หากทานนมแม่ล้วนก็ว่าโชคดีมากค่ะเพราะจะไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ใดเพื่อเป็นอาหารของลูก นอกจากน้ำนมแม่ หากลูกน้อยอายุมากกว่า 6 เดือน ก็ต้องเตรียมอาหารตามวัยให้ด้วย โดยหากไม่สะดวกจะเตรียมอาหารระหว่างการเดินทางก็ควรเตรียมแบบสำเร็จรูปไปให้พอดีกับมื้อและวันที่ต้องเดินทางไป
3. อุปกรณ์อื่น ๆ ระหว่างเดินทาง ที่ควรเตรียมไป ได้แก่
- ของเล่นที่ลูกชอบหรือคุ้นเคย ที่ดึงดูดความสนใจได้ดี อย่างน้อย 2-3 ชิ้น
- รถเข็นเด็กแบบที่เบา พับง่าย เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
- เป้อุ้มเด็ก
- ผ้ายางรองเปลี่ยนผ้าอ้อม
- ถุงซิปล็อก ใช้ใส่ผ้าอ้อมใช้แล้วหรือผ้าเปียกเปื้อนของเด็ก
- ทิชชู่เปียก เพื่อใช้ทำความสะอาด
- ร่ม หรือ เสื้อกันฝนเด็ก หากเดินทางไปในบริเวณที่มีแดดร้อนจัด หรือน่าจะมีฝนตก
เคล็ดลับช่วยเด็กนั่งรถได้นาน
1. เตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้พร้อม
เตรียมของกินให้เพียงพอ เน้นของกินที่เป็นประโยชน์ เช่น ผลไม้ แต่ควรเก็บไว้เป็นรางวัลหรือเมื่อเดินทางผ่านไปแล้ว 1 เฟส 2 เฟส ของการเดินทาง อย่าลืมน้ำดื่ม หากต้องการน้ำดื่มเย็น ให้ใช้แก้วเก็บความเย็น หรือพกถังเก็บความเย็น ใส่น้ำแข็งก้อนใหญ่ แล้วใส่ขวดน้ำดื่มลงไปแช่ แค่นี้ก็ได้น้ำเย็นชื่นใจไว้ดื่มตลอดเส้นทางแล้ว
2. เตรียมที่นั่งที่ปลอดภัยและนั่งสบาย
ตรวจสอบที่นั่งในรถว่าเหมาะสมกับคนนั่ง รวมถึงเข็มขัดนิรภัยว่าใช้ได้หรือไม่ ถ้า เด็กนั่งรถ เป็นเด็กเล็ก ก็ควรต้องใช้คาร์ซีท (Car Seat) หรือที่นั่งในรถสำหรับเด็กด้วย
3. เตรียมของเล่นหรือสิ่งบันเทิงสำหรับเด็ก
เพราะการเดินทางไกลอาจทำให้เด็กเบื่อหน่ายได้ คุณพ่อคุณแม่ที่รู้ลิมิตความคึกคักของเจ้าตัวน้อย อาจจะต้องหาวิธีรับมือเพิ่มขึ้น เมื่อความตื่นเต้นของเด็กลดลง และเกิดอาการงอแง อาทิเช่น ของเล่นหรือสิ่งบันเทิงสำหรับเด็กเล็ก, หุ่นเล่าเรื่องหรือร้องเพลง, หนังสือภาพสีสัก 2-3 เล่ม กันเบื่อ หรือแท็บเล็ตเปิดคลิปเล่านิทานเพลิน ๆ แต่พยายามจำกัดเวลาในการใช้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเด็ก หากใช้บ่อยหรือนานเกินไป
4. เคล็ดลับจำเป็นอื่น ๆ
เดินทางกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเด็กเล็ก เด็กโต ความอดทนในการนั่งรถได้นานหลายชั่วโมง อาจยังไม่ได้เท่าผู้ใหญ่ค่ะ ฉะนั้นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือ ควรจอดพักรถเป็นระยะ ๆ อาจจะเข้าห้องน้ำที่ปั๊ม พักรับประทานอาหารเที่ยง หรือระหว่างทางหากมีสถานที่วิวสวย ๆ ให้จอดถ่ายรูปเล่นได้ ก็ควรพาลูกลงจากรถ ให้ได้ออกมาเดินยืดเส้นยืดสายกัน จะได้ไม่เบื่อก่อนที่จะถึงสถานที่เที่ยวค่ะ หรือวิธีเหล่านี้ก็จำเป็นเช่นกัน
- เตรียมทิชชู่ หรือทิชชู่แบบเปียกไว้เสมอ
- รัดเข็มขัดนิรภัยไว้เสมอเมื่ออยู่ในรถ จำไว้เสมอว่า เมื่อรถกำลังวิ่ง ความปลอดภัยต้องมาก่อน
- ดื่มน้ำและกินอาหารให้เพียงพอ
- ใช้แอปนำทางเพื่อให้แน่ใจว่า คุณอยู่บนเส้นทางที่มุ่งไปยังปลายทางที่เร็วที่สุด
- ลองออกเดินทางในตอนเช้าตรู่ เพื่อให้ลูกน้อยของคุณไปนอนหลับต่อบนรถ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไม่ยอมพูด เกิดจากอะไร จะเป็นเด็กพัฒนาการช้าไหม ทำอย่างไรให้ลูกพูด
เด็กแรกเกิดนั่งคาร์ซีท ได้ไหม วิธีติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้อง สำหรับทารกจวบจนเด็กโต
ที่มา : facebook