ทารกตัวเหลือง พาออกไปรับแดดอ่อนตอนเช้าได้ไหม?

คุณแม่มือใหม่หลายคนอาจจะตกใจเมื่อเจอกับอาการ “ทารกตัวเหลือง” ซึ่งพบได้ในเด็กแรกเกิด แต่ยังไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุใด ทำไมลูกถึงมีอาการนี้ แล้วจะแก้ไขอย่างไรดี บทความนี้จะช่วยลดความกังวลใจของคุณแม่ลงได้

อาการ ทารกตัวเหลือง เป็นอาการที่พบได้ในเด็กทารกแรกเกิดช่วงอายุ 1-2 สัปดาห์แรก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ที่ทำให้เด็กมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง บริเวณใบหน้าและลำตัว หรือปัสสาวะสีเหลือง แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากจะเหลืองไล่ลงมาที่ขาและเท้า

สาเหตุ ทารกตัวเหลือง หลังคลอด

1.ภาวะทารกตัวเหลือง เกิดได้จากการทำงานของตับที่ยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ จึงไม่สามารถขับสารเหลืองที่เรียกว่า บิลิลูบิน (Bilirubin) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในเม็ดเลือดแดงออกมาได้ ซึ่งโดยปกติแล้วตับจะทำหน้าที่ดึงสารนี้ออกมาจากกระแสเลือดและนำไปสร้างน้ำดี โดยน้ำดีส่วนหนึ่งจะเก็บสะสมในถุงน้ำดี และส่วนที่เหลือจะไหลผ่านท่อตับ ท่อน้ำดี ลงไปในลำไส้เล็ก เพื่อช่วยย่อยไขมัน ดังนั้นถ้ากระบวนการดังกล่าวเกิดความผิดพลาด ก็จะส่งผลทำให้สารสีเหลืองหรือบิลิรูบิน มีการสะสมอยู่ในกระแสเลือด ไม่สามารถขับออกได้ตามปกติ จึงทำให้ทารกเกิดภาวะตัวเหลืองได้

2.ภาวะตัวเหลืองจากนมแม่น้อย ที่เกิดขึ้นในช่วงทารก 2-4 วันแรกที่ยังดูดนมแม่ได้น้อย ทำให้ทารกเกิดภาวะขาดน้ำและพลังงาน จึงมีการการดูดซึมบิลิรูบินทางลำไส้มากขึ้น หรือเกิดภาวะตัวเหลืองจากทารกที่กินนมแม่ล้วน โดยมีสารบิลิรูบินสูงขึ้น แต่ก็จะลดระดับลงไปเมื่อทารกอายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งตัวเหลืองจากนมแม่ไม่น่ากังวล เพียงแต่ถ้าลดให้นมแม่น้อยลงระดับบิลิรูบินจะลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง และถ้ากลับมาให้นมแม่เหมือนเดิม บิลิรูบินก็จะสูงขึ้นแต่สูงขึ้นในปริมาณที่ไม่มากเท่าเดิม

3.เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งอาจเกิดจากที่หมู่เลือดของแม่-ลูกไม่เข้ากัน เม็ดเลือดแดงของลูกจึงถูกทำลาย ทำให้ระดับของบิลิรูบินในเลือดเพิ่มสูงเกินระดับปกติ ซึ่งพบในทารกแรกเกิดช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรก

ทารกตัวเหลือง พาออกไปรับแดดอ่อนตอนเช้าได้ไหม? อ่านหน้าถัดไป >>

ทารกตัวเหลือง พาออกไปรับแดดอ่อนตอนเช้าได้ไหม?

ถ้าพบว่าทารกมีอาการตัวเหลืองแบบปกติ คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถดูแลลูกได้ที่บ้านเองด้วยวิธีง่าย ๆ คือการกระตุ้นให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ โดยให้นมทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง พาลูกออกไปรับแดดอ่อนตอนเช้าหรือช่วงเย็นประมาณ 20-30 นาที หรือปรับสภาพแวดล้อมในห้องนอนลูกให้มีแสงแดดที่สามารถส่องถึงก็ได้เช่นกัน เพราะการโดนแสงแดดหรือการส่องไฟนั้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโมเลกุลของบิลิรูบินให้ละลายน้ำได้แล้วขับออกมาทางปัสสาวะ อุจจาระ โดยออกมาทางน้ำดี

หากลูกมีไข้ร่วมกับตาเหลือง ตัวเหลือง มีปัสสาวะสีเหลืองเข้มร่วมกับอุจจาระสีเหลืองอ่อนหรือซีดขาว ดูดนมไม่เก่งหรือไม่ยอมดูดนมแม่ หลับมากกว่าปกติ ท้องผูก ร้องเสียงแหลม น้ำหนักขึ้นน้อย และเกิดภาวะตัวเหลืองหลังอายุ 2 สัปดาห์ ถือเป็นอาการตัวเหลืองมากที่คุณแม่ควรพาทารกไปพบแพทย์เพื่อวินิจัยอาการและรับการรักษานะคะ


ข้อมูลอ้างอิงจาก  :

www.pormae.com

www.gotoknow.org

www.littlebebe.net

บทความอื่นที่น่าสนใจ :

ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด ป้องกันได้ไหม?

12 สัญญาณผิดปกติของลูกแรกเกิดที่ควรรีบพบแพทย์

บทความโดย

Napatsakorn .R