ถุงเก็บน้ำนม
แม่บางคนอาจมองว่า ลูกเข้าเต้ากินนมแม่ ลูกดูดขวดอยู่แล้ว ทำไมต้องซื้อถุงเก็บน้ำนม? มาดูข้อดีของ ถุงเก็บน้ำนม กันก่อน ในวันที่ลูกอิ่ม แต่แม่มีน้ำนมเหลือ จะปั๊มทิ้งก็เสียดาย ถุงเก็บน้ำนมจะกลายเป็นภาชนะอย่างดี ให้แม่เก็บเป็นถุงเก็บสต๊อกนมแม่ สามารถนำมาให้ลูกกินได้ในวันอื่น ๆ หรือวันที่แม่มีธุระ ไม่อยู่บ้าน ต้องกลับไปทำงาน น้ำนมแม่ก็ยังเปี่ยมคุณค่าอยู่ภายในถุงเก็บน้ำนม และไม่ว่าใครจะอยู่ที่บ้าน ก็สามารถนำนมแม่มาให้ลูกกินได้
อย่ามองข้ามความสำคัญของถุงเก็บน้ำนมแม่ วิธีเลือกถุงเก็บน้ำนมให้ปลอดภัยกับลูก
วิธีเลือกถุงเก็บน้ำนม
- ถุงเก็บน้ำนมควรมีรูปทรงที่สะดวกต่อการจัดเก็บ
- ถุงเก็บน้ำนมต้องมีความหนา เพื่อป้องกันการรั่วซึม ปากถุงเปิดปิดง่ายและมีความหนา เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศลอดผ่านเข้าออกได้
- การเลือกซื้อถุงเก็บน้ำนม ต้องเลือกที่ได้มาตรฐาน ได้รับการฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว และจะต้องไม่มีสารอันตรายเจือปนมากับพลาสติกโดยเด็ดขาด
- ถุงเก็บน้ำนมควรมีแถบเขียนด้านบน เพื่อเขียนบอกวันเวลาที่ปั๊นนมเก็บไว้ได้ และมีขีดบอกปริมาณจำนวนน้ำนมที่ถุง
ข้อควรรู้ก่อนใช้ถุงเก็บน้ำนม
- หลังเก็บน้ำนมจนได้น้ำนมปริมาณที่ต้องการแล้ว ก็ให้วางถุงราบกับโต้ะ โดยการยกปากถุงขึ้นแล้วค่อย ๆ ไล่อากาศให้หมดไปจากถุง
- หากเก็บน้ำนมแม่ใส่ถุงเก็บน้ำนม ให้รูดซิปปิดให้สนิท โดยเหลือที่เผื่อในถุงด้วย เพราะน้ำนมนั้น เมื่อแช่แข็งแล้วจะเกิดการขยายตัว
- การเก็บน้ำนมในตู้เย็นนั้น ควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิต่ำและคงที่ นมที่ยังไม่ใช้ใน 2-3 วัน ควรเก็บในช่องแช่แข็ง
- น้ำนมแม่สต็อกในช่องแช่แข็ง ควรจัดเรียงตามวันและเวลาที่จัดเก็บ และให้นำนมเก่าออกมาใช้ก่อน
- น้ำนมแม่ที่เก็บไว้ในถุงเก็บน้ำนมจะละลายเร็วกว่าเก็บในขวดหรือภาชนะอื่น ๆ
- ไม่ควรเก็บน้ำนมไว้ตรงประตูตู้เย็น เนื่องจากความเย็นจะไม่คงที่
การอุ่นน้ำนมให้ลูกกินไม่ให้เสียคุณค่า
- นำน้ำนมสต๊อกที่ปั๊มไว้ออกมาจากช่องแช่แข็ง ลงมาแช่ไว้ในช่องเย็นธรรมดา ล่วงหน้าก่อน 1 คืน เพื่อให้น้ำนมค่อย ๆ ละลายไปเอง น้ำนมที่เอาลงมาแช่ในช่องธรรมดานี้ หากยังไม่ได้ใช้จะเก็บได้อีกประมาณ 2 – 3 วัน
- น้ำนมสต็อกก็สามารถให้ลูกกินนมเย็น ๆ ได้ ไม่มีอันตราย
- เมื่อจะให้ลูกกิน นำออกมาวางไว้นอกตู้เย็น ทิ้งไว้ให้หายเย็น โดยปกติแล้วมักใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หรือนำไปแกว่งในน้ำก๊อก น้ำนมที่วางไว้นอกตู้เย็นนี้อยู่ได้ประมาณ 4 – 6 ชั่วโมง
- หากคุณแม่ต้องการให้นมละลายเร็ว ให้แช่ในน้ำธรรมดาจนมีอุณภูมิปกติแล้วจึงเปลี่ยนมาแช่น้ำอุ่น และน้ำนมแช่แข็งที่นำมาละลายบางครั้งอาจมีกลิ่นหืน หรือน้ำนมที่เก็บไว้แยกออกเป็นชั้น ให้เขย่าให้เข้ากันแล้วให้ลูกกินได้เลย
ข้อควรระวังเมื่อใช้ถุงใส่น้ำนม
- ไม่ควรใช้น้ำร้อนหรือไมโครเวฟทำนมให้ละลาย เพราะความร้อนจะทำให้สารอาหารที่มีประโยชน์ในน้ำนมสูญเสียไป
- น้ำนมที่นำมาอุ่นแล้ว ถ้าลูกกินไม่หมดให้นำไปทิ้ง ไม่ควรนำกลับมาแช่เย็นหรือให้ลูกกินซ้ำอีก
- น้ำนมที่ละลายหลังแช่แข็งแล้ว ไม่ควรนำไปแช่แข็งซ้ำอีก เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนประกอบต่าง ๆ ของน้ำนม ซึ่งจะทำให้คุณภาพของน้ำนมแม่เสียไป
รู้กันไปแล้วว่าถุงเก็บน้ำนม หรือถุงเก็บสต็อก มีประโยชน์ ควรมีไว้ติดบ้าน สิ่งที่แม่ต้องรู้อีกอย่างคือ นมที่ให้ลูกกินไปบ้างแล้ว หากเหลือไม่ควรเก็บไว้อีก เพราะอาจมีการปนเปื้อนเชื้อโรค และถ้าน้ำนมมีกลิ่นรุนแรงและมีรสเปรี้ยว นั่นคือน้ำนมเสียแล้ว ให้ทิ้งทันทีอย่าไปเสียดายเลยแม่
ที่มา : Mayoclinic, kellymom.com และ thaibreastfeeding.org
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
วิธีเก็บน้ำนมแม่ เก็บแบบไหนไม่ให้บูด ไม่เสียคุณค่า และเก็บได้ยาวนานที่สุด
ให้นมลูกอยู่แต่น้ำนมไหลน้อยลง ผิดปกติไหม แม่ให้นมต้องทำยังไง
ทำความเข้าใจ ขนาดกระเพาะทารก ก่อนคิดว่านมแม่ไม่พอ
ป้อนนมแม่จากถ้วย วิธีป้อนนมจากถ้วย ลูกกินจากแก้ว ให้ลูกดูดหลอด
*ภาพและข้อมูลมีลิขสิทธิ์เจ้าของโดย บริษัท ทิคเกิ้ลมีเดีย จำกัด ไม่อนุญาตให้คัดลอกข้อมูล และนำรูปภาพไปเผยแพร่ต่อไม่ว่าวิธีใด ๆ หากฝ่าฝืน ทางบริษัทฯจะดำเนินการตามกฎหมาย เว้นแต่ได้มีการขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางบริษัทฯเรียบร้อยแล้ว