ตีลูกดีไหม ลงโทษลูกอย่างไร ให้ลูกได้บทเรียน
แม่ ๆ หลายคนสงสัย ตีลูกดีไหม เป็นวิธีการทำโทษที่ถูกต้องหรือเปล่า ลงโทษลูกอย่างไร ให้ลูกได้บทเรียน มาอ่านความเห็นจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ที่หยิบเอาฉากจากละครดัง บุพเพสันนิวาส มาอธิบายกันค่ะ
ลงโทษด้วยการตีดีหรือไม่
พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือหมอมินบานเย็น จากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้โพสต์ #คุณป้าจำปาควรลงโทษการะเกดด้วยการตีหรือไม่ ไว้ว่า
#คุณป้าจำปาควรลงโทษการะเกดด้วยการตีหรือไม่ และหากไม่ตี คุณป้าควรจะใช้วิธีไหน จึงจะทำให้การะเกดเชื่อฟัง และไม่ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมอีก
หมอคิดว่าเรื่องราวนี้ก็คล้ายๆ กับชีวิตจริงของหลายๆ ครอบครัว โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูก หรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ที่มีหน้าที่ดูแลเด็ก
เมื่อคืนในละครบุพเพสันนิวาส มีอยู่ฉากหนึ่งที่แม่หญิงการะเกดหรือเกศสุรางค์ (ที่อยู่ในร่างของการะเกด) ถูกคุณจำปาสั่งลงโทษด้วยการใช้หวายเฆี่ยน
คนดูส่วนใหญ่รู้สึกสงสารการะเกด แต่ก็มีบางส่วนที่บอกว่าการะเกดก็ทำผิดจริง สมควรถูกลงโทษ เพราะเธอซนไปหน่อย
เพราะความอยากรู้อยากเห็นของเธอ การะเกดแอบหนีไปเที่ยวตลาดบ้านจีนทั้งที่ถูกห้ามไว้แล้ว ตลาดนี้เป็นสถานที่ตั้งของซ่องโสเภณีในสมัยกรุงศรีอยุธยา และการะเกดเกิดไปพบกับคนจีนเฝ้าซ่องแถวนั้นที่เข้ามาพูดจาแทะโลมลวนลาม แต่การะเกดก็ใช้วิชาการต่อสู้ (ที่เคยเรียนมาตอนเป็นเกศสุรางค์) เตะต่อยจนหลายคนล้มไม่เป็นท่า
ข่าวการต่อสู้แพร่สะพัด ทำให้คุณป้าจำปารู้เรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งคุณป้าโกรธมาก ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะเฆี่ยนการะเกดหรอก คุณป้าจะเฆี่ยนบ่าวของเธอ แต่เมื่อการะเกดออกรับผิดแทนบอกว่าเธอเป็นคนบังคับบ่าวให้พาไป การะเกดจึงถูกสั่งเฆี่ยนในที่สุด
แม้จะเป็นเด็กดีขนาดไหน ต้องมีบางครั้งที่เด็กๆ ทำผิด แน่นอนการทำให้เด็กได้เรียนรู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ควรปล่อยปละละเลย แต่วิธีลงโทษก็มีหลากหลาย ในแต่ละพฤติกรรมไม่ดีของเด็ก บางทีก็มี ‘หลายด้าน’ ให้พิจารณา
ขอยกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการะเกดให้ดูเป็นตัวอย่าง
1. พิจารณาด้านดีและไม่ดีของพฤติกรรมที่การะเกด
ด้านไม่ดี: แอบหนีไปเที่ยวตลาดโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ไปใช้กำลังชกต่อยกับคนจีนเฝ้าซ่องซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย
ด้านดี: มีความกล้าหาญที่แม้ว่าจะเป็นผู้หญิงคนเดียว แต่กล้าที่จะต่อสู้กับผู้ชายที่เข้ามาลวนลาม ป้องกันตัวเองได้ และมีความซื่อสัตย์และกล้าหาญ ที่ออกรับผิดแทนบ่าว
2. ชมเชยในพฤติกรรมที่เห็นว่าดี ลงโทษในพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ในด้านดีก็ควรจะชมเชยให้เห็นว่าผู้ใหญ่มองเห็นว่าตรงนี้เด็กทำดี ทำให้เด็กคิดวิเคราะห์อะไรในมุมมองที่กว้างขึ้น ฝึกการคิดรอบด้านให้เด็กเห็นเป็นตัวอย่างด้วย
แต่ใช่ว่าจะชมเท่านั้น ด้านที่ไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรละเลย
3. ลงโทษด้วยการตีให้หลาบจำได้ไหม
จะเห็นในละครว่า การเฆี่ยนตีทำให้เกิดความรู้สึกแย่กันไปทุกฝ่าย
การตีอาจจะช่วยลดพฤติกรรมไม่ดีของเด็กให้เกิดขึ้นน้อยลง และมันก็หยุดเด็กที่ทำตัวไม่ดีได้รวดเร็วดี แต่ข้อไม่ดีก็คือ การตีเป็นการลงโทษที่ทำให้สัมพันธภาพของคนที่ตีและคนที่ถูกตีเสียไปได้ง่าย
ยิ่งเป็นการตีที่รุนแรง ใช้อารมณ์ มีคำพูดด่าทอดุว่ารุนแรงผสมเข้าไป ก็นอกจากเจ็บตัวแต่ทำให้เจ็บใจไปทุกฝ่าย และหมอก็คิดว่าคนที่ตี โดยมากไม่มีใครอยากจะตีเด็กหรอก
นอกจากนั้นการตีที่รุนแรง บ่อยครั้ง ตีโดยไม่รับฟังและไม่เห็นอกเห็นใจ ก็อาจจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่ตีเขา ไม่เข้าใจ ไม่รักเขาหรือเปล่า ถ้าเป็นนานๆก็จะทำให้เด็กรู้สึกขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจ นำไปสู่การมองตัวเองในแง่ลบ ไม่มั่นใจ สูญเสียคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนอารมณ์ไม่มั่นคง อาจมีการใช้ความรุนแรงกับคนรอบข้าง เพราะเรียนรู้ซึมซับมาโดยไม่รู้ตัว
ส่วนตัวหมอจึงไม่ค่อยชอบการตีเท่าไหร่
4. แล้วถ้าไม่ตี ต้องลงโทษอย่างไร
นอกจากการตี ก็มีหลายวิธีที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้ผิดถูก ใช้วิธีการปรับพฤติกรรมวิธีอื่นจะดีกว่าการตี
เช่น การตัดสิทธิ์ที่ชอบ ตัวอย่าง ทำโทษการะเกดไม่ให้ไปเที่ยวที่ไหนเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่การะเกดชอบมาก ถ้าถูกลงโทษเช่นนี้คงไม่กล้าทำผิดไปอีกนานทีเดียว
หรือ การให้ทำความดีชดเชย เช่น ให้ทำงานบ้าน(ควรเลือกเป็นงานที่น่าเบื่อและการะเกดไม่ชอบทำ) 2 อาทิตย์ เป็นต้น
มีวิธีทำโทษและปรับพฤติกรรมเด็กอื่นๆ อีก ที่หมอเคยเขียนไว้สามารถไปอ่านเพิ่มได้
หลักการในการปรับพฤติกรรมเด็กนั้นหากจะทำให้ได้ผลดี ต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก
สิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียว
และผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากจนทำให้ปรับพฤติกรรมได้ไม่ดีเทำไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ
อย่าลืมว่า การปรับพฤติกรรมไม่ใช่การเอาชนะคะคานกัน
ขอบคุณคุณป้าจำปาและแม่หญิงการะเกดที่ช่วยมาเป็นตัวอย่างในครั้งนี้ด้วยค่ะ
#หมอมินบานเย็น
ไม่ต้องตีก็สั่งสอนลูกได้
นอกจากนี้ หมอมินบานเย็น ยังโพสต์เพิ่มเติม #ทำให้รู้ผิดรู้ถูกได้แบบที่ไม่ต้องตีให้เจ็บ ว่า
#ทำให้รู้ผิดรู้ถูกได้แบบที่ไม่ต้องตีให้เจ็บ
อันนี้ต่อยอดจากโพสต์เมื่อเช้านะคะ
มีเทคนิคการทำโทษที่ไม่ต้องให้ต้องเจ็บตัว แต่ทำให้เด็กจดจำและเรียนรู้เพื่อทีหลังเด็กจะไม่ทำผิดอีก มีหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม
เทคนิค“เพิกเฉย”
ในเด็กที่พอรู้ความอายุประมาณหนึ่งขวบขึ้นไป เริ่มเอาแต่ใจตัวเอง ปกติเด็กจะชอบให้เราสนใจในพฤติกรรมบางอย่าง เมื่อต้องการให้เราตามใจ เช่น เด็กมีพฤติกรรมร้องไห้โวยวาย กรี๊ดๆ บางทีมีท่าทาง เช่น ลงไปดิ้นๆที่พื้น บางทีร้องจนดูน่าสงสาร บางคน มีร้องจนไอ ร้องจนอ๊วก มักจะมีอาการเวลาไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็จะเข้าไปให้ความสนใจ เข้าไปโอ๋ ไปปลอบ และสุดท้ายยอมให้ของที่เด็กต้องการ ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขว่า เวลาเด็กต้องการอะไรก็จะใช้วิธีร้องไห้โวยวายเสมอ ยิ่งร้องดัง หรือมีท่าทางด้วยจะยิ่งดึงดูดความสนใจ ทำซ้ำๆบ่อยๆพอได้ผล ก็จะเรียนรู้จนกลายเป็นนิสัย ทำให้พฤติกรรมร้องไห้โวยวายไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นๆ
หากใช้เทคนิคนี้คือ การงดการให้ความสนใจ ไม่ตามใจเด็ก เพิกเฉยเสีย เมื่อเด็กมีพฤติกรรมโวยวาย ใช้คำพูดสั้นๆว่าเราเข้าใจความรู้สึก เช่น “แม่รู้ว่าหนูโกรธที่แม่ไม่ซื้อของเล่นให้” ไม่ต้องพูดอะไรมากกว่านี้ รอสักพัก ไม่ต้องสนใจหรือโอ๋ ไม่นานเด็กจะหยุดพฤติกรรมโวยวายไปเอง เพราะรู้ว่าไม่ได้ผลและทำให้ไม่ใช้วิธีร้องไห้โวยวายอีก ตรงนี้ทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ต้องหนักแน่น อดทน เพราะเวลาเด็กร้องโวยวายก็ค่อนข้างบีบคั้นจิตใจ
เทคนิค “time-out ขอเวลานอก”
ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคนี้ในเด็กเล็ก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จะให้เด็กไปอยู่ในบริเวณ time-out ซึ่งต้องเป็นที่ๆเด็กไม่สามารถเข้าถึงสิ่งทีชอบต่างๆ จะต้องเป็นบริเวณที่น่าเบื่อ โดยอาจเป็นนั่งเก้าอี้ในมุมห้องที่สงบ ไม่มีสิ่งต่างๆที่เด็กชอบ เช่น ไม่มีโทรทัศน์ ของเล่น หน้าต่าง หรือการสนใจจากคนรอบข้าง โดยกำหนดเวลาที่ไม่นานมากนัก เช่น ประมาณ 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น
โดยจะมีหลักการทั่วไปว่าใช้เวลา 1 นาทีสำหรับอายุของเด็ก 1 ปี เช่น เด็กอายุสามปีจะใช้ time out เป็นเวลา3นาที ควรจะบอกเด็กให้ทราบก่อนว่า พ่อแม่จะใช้วิธีนี้เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นๆ และบอกเด็กล่วงหน้าก่อนที่จะให้เด็กไป time out ว่าเหตุผลที่ต้องไปนั่งเก้าอี้คืออะไร และใช้เวลานานเท่าไร เช่น “เพราะว่าหนูขว้างของ หนูต้องไปนั่งเก้าอี้เด็กดี 3 นาที”
แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะบ่นว่าทำยาก ก็อาจจะลองใช้วิธีอื่น เพราะวิธีนี้จะได้ผลดีเมื่อเด็กค่อนข้างจะเชื่อฟังและเกรงใจพ่อแม่ ที่หมอมักจะแนะนำคือ ก่อนมี time out ต้องมี time in ก่อน คือ พ่อแม่ต้องเคยมีช่วงเวลาดีๆกับเด็ก ให้เด็กรู้สึกดีๆกับพ่อแม่ นำมาซึ่งความรักผูกพัน และความเชื่อฟังเกรงใจก็จะตามมา
เทคนิค “ทำผิดต้องตัด”
โดยอาจเป็นการตัดสิทธิ์ที่เคยมีเคยได้ หรือ ปรับเป็นเงินหรือสิ่งของที่เป็นของๆเด็ก ใช้วิธีนี้เมื่อเด็กโตพอที่จะรู้เรื่อง ควรมีการพูดคุยตกลงกับเด็ก ว่าเราจะใช้วิธีนี้ในการปรับพฤติกรรม เช่น การงดดูการ์ตูนที่ชอบ หรือ งดขนม เมื่อเด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือ การตัดค่าขนมเด็กเมื่อเด็กทำของเสียหาย
เช่น เมื่อเด็กโกรธ ขว้างแจกันแม่แตก สมมติแจกันแม่ราคา 150 บาท ก็หักค่าขนมวันละห้าบาทเป็นเวลาหนื่งเดือน (ครบ 150) ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ความเหมาะสมและการตกลงกัน การทำโทษวิธีนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าทำผิดแล้วต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้นทีหลังถ้าไม่อยากเสียอะไรไปหรือไม่อยากจะลำบาก ก็ต้องพยายามไม่ทำผิดอีก
เทคนิค “ทำความดีทดแทน”
คือ การให้เด็กที่ทำผิดต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นของความผิดนั้นและทำพฤติกรรมอื่นที่เหมาะสมทดแทน เช่น เมื่อเด็กขว้างแจกันแม่แตก สมมติแจกันแม่ราคา 150 บาท นอกจากการหักค่าขนมชดเชย ก็ต้องให้เด็กทำดีเพิ่มเติม เช่น จะต้องเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกวันตอนเย็นหลังกลับจากโรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งเดือน ตรงนี้ก็จะเป็นการให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ
สำหรับเรื่องการทำโทษด้วยการตีนั้น จริงอยู่ว่า การตีจะทำให้พฤติกรรมไม่ดี ลดลงได้เร็วกว่าเทคนิคอื่นๆ แต่ก็มีผลเสียตามมาหลายประการ เช่น ทำให้สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ดี เด็กมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ เกิดการเลียนแบบ เช่น เมื่อเด็กถูกพ่อแม่ตี ก็ร้องไห้โวยวายลงมือลงเท้า เวลาหงุดหงิดเพื่อนก็จะใช้วิธีตีเพื่อน (เหมือนที่ถูกพ่อแม่ตี) พ่อแม่จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตี หลักการตี ที่เหมาะสม คือ ใช้มือตี ไม่ใช้วัสดุอื่น ไม่ตีเด็กเวลาที่เราโกรธ (เพราะจะทำให้ตีรุนแรงด้วยอารมณ์) บอกเด็กก่อนว่าจะตีกี่ครั้ง และเหตุผลที่ตีคืออะไร
และข้อสำคัญ “อย่าลืมทำเป็นตัวอย่าง” ถ้าพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเป็นคนที่รับผิดชอบรู้จักผิดถูก เด็กก็จะเรียนรู้และก็จะซึมซับในพฤติกรรมดีๆ นั้น หมอเคยเห็นพ่อแม่หลายคนบอกว่า “เป็นเด็กดีสิลูก” แต่สิ่งที่พ่อแม่ทำกลับตรงกันข้าม
การปรับพฤติกรรมเด็กนั้นหากจะทำให้ได้ผลดี ต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก
ที่สำคัญสิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียว
เน้นอีกอย่างคือ ผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากกับพฤติกรรมเด็ก จนทำให้ผู้ใหญ่ปรับพฤติกรรมเด็กได้ไม่ดีเทำไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ
#หมอมินบานเย็น
ที่มา : เพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
สอนลูกให้มีวินัย ฉลาดสมวัยต้องเลี้ยงลูกแบบ EF
ลูกชอบดึงผม ถอนผมตัวเอง ลูกต้องการบอกอะไรพ่อแม่?
ดื้อต่อต้าน โรคพฤติกรรมดื้อต่อต้าน หากลูกเกิน 3 ขวบแล้วยังเป็นอย่างนี้ ใช่เลย!