ตั้งครรภ์กี่วันถึงจะตรวจเจอ กี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง อาการขณะตั้งครรภ์เป็นอย่างไร วันนี้ theAsianparent Thailand มีคำตอบให้กับคุณผู้หญิงทุกท่านที่กำลังเกิดความสงสัยว่าอาการเช่นนี้เรียกว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แล้วกี่วันถึงจะตรวจเจอ
คุณผู้หญิงหลาย ๆ ท่านที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีอาการประจำเดือนขาดอาจจะมีความกังวลใจ และตั้งข้อสงสัยว่าอาการแบบไหนที่เรากำลังตั้งครรภ์ การที่ประจำเดือนไม่มา แบบนี้แปลว่าท้องหรือไม่ หรือตรวจแล้วผลออกมาว่าไม่ได้ตั้งครรภ์แล้วทำไมประจำเดือนถึงไม่มา แท้จริงแล้วการขาดประจำเดือนนั้นมีสาเหตุหลายปัจจัยด้วยกัน
สาเหตุของประจำเดือนมาไม่ปกติ
ก่อนอื่นเลยต้องบอกคุณผู้หญิงทุกท่านก่อนว่าปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนขาดนั้นมีหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งการที่ประจำเดือนขาดนั้นไม่ได้หมายถึงว่าเราจะตั้งครรภ์เสมอไป โดยสาเหตุดังกล่าวที่ทำให้ประจำเดือนขาดและเลื่อนออกไปมีดังนี้
- ความเครียด
ความเครียดคุณผู้หญิงหลาย ๆ ท่านที่เคยประสบปัญหานี้คงเข้าใจดีอยู่แล้วว่าความเครียดนั้นส่งผลต่อสุขภาพเรามากน้อยเพียงใด คุณผู้หญิงบางท่านอาจมีประจำเดือนขาดจากความเครียดเป็นเวลา 1 สัปดาห์ไปจนถึง 2 เดือน หากคุณผู้หญิงไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงเช่นมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน การที่ประจำเดือนขาดก็อาจจะเป็นเพราะความเครียดนั่นเอง
- น้ำหนักมากเกินไป
น้ำหนักตัวมากเกินไปนั้นส่งผลต่อประจำเดือนเนื่องจากในส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเยอะ อาจะส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมากเกินไป
- น้ำหนักน้อยเกินไป
น้ำหนักน้อยเกินไปส่งผลต่อประจำเดือนเนื่องจากผู้ที่มีน้ำหนักตัวไม่เป็นปกติ น้อยเกินไป ส่งผลทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ตกไข่
- เข้าสู่วัยทอง
เมื่อเข้าสู่วัยทอง จะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี เนื่องจากระดับฮอร์โมนเริ่มลดลง ทำให้การตกไข่มีความไม่สม่ำเสมอ หรืออาจจะไม่ตกเลยก็ได้
- มีโอกาสเป็นโรคถุงน้ำรังไข่ผิดปกติ
อีกหนึ่งสาเหตุคือ มีโอกาสเป็นโรคถุงน้ำรังไข่ผิดปกติ ซึ่งโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่พบบ่อยในผู้หญิงช่วงอายุ 18-45 ปี เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนหลายตำแหน่งรวมทั้งที่รังไข่ ทำให้มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ
- ออกกำลังกายมากเกินไป
- ทานยาคุมกำเนิด
หากคุณผู้หญิงไม่ได้มีพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน การขาดประจำเดือนเช่นนี้ก็จะมีโอกาสน้อยมากที่จะตั้งครรภ์ ซึ่งหากป้องกันแล้ว ประจำเดือนไม่มาตามกำหนดรอบเดือนที่ควรจะเป็น ให้คุณผู้หญิงรอไปอีก 2 – 3 วัน หากประจำเดือนยังไม่มาก็ให้ทำการตรวจครรภ์เพื่อความสบายใจ หากพบว่าท้องแม้ว่าป้องกันแล้ว อาจสันนิษฐานได้ว่าเกิดจากการที่ถุงยางอนามัยรั่ว หรือลืมทานยาคุมกำเนิดนั่นเอง
ตั้งครรภ์กี่วันถึงจะตรวจเจอ
โรงพยาบาลพญาไทศรีราชา ได้อธิบายเกี่ยวกับประจำเดือนไว้ว่า ปกติแล้วร่างกายของผู้หญิงจะมีการตกไข่ประมาณ 28 วัน ซึ่งประจำเดือนนั้นอาจมาก่อนหรือหลังเล็กน้อยก็ได้ แต่โดยทั่วไปรอบประจำเดือนของผู้หญิงจะอยู่ในช่วง 21 – 35 วัน ซึ่งอาจเป็นทุก ๆ 23 วัน ทุก ๆ 35 วัน หรือกี่วันก็ได้ ระหว่างนั้น
ตราบใดที่รอบเดือนของคุณมาสม่ำเสมอก็จะถือว่าประจำเดือนปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่ไข่ตกช้า หรือไม่ตกไข่เลยก็จะทำให้ประจำเดือนเลื่อนออกไปนั่นเอง ในคุณผู้หญิงบางท่านอาจจะมีการเลื่อนของประจำเดือน 30-40 วัน ซึ่งบางคนอาจนานไปถึง 2 เดือนเลยก็ได้ เช่น บางครั้งมี 26 วัน เดือนถัดมามี 40 วัน ต่อมามี 30 วัน หากมาไม่สม่ำเสมอแบบที่กล่าวมาจะถือว่าประจำเดือนมาไม่ปกตินั่นเอง
โดยในแต่ละเดือนผู้หญิงจะตกไข่ 1 ครั้ง เมื่อผู้หญิงมีการตกไข่ ไข่จะมีอายุได้เพียง 1 วันที่จะรอให้เชื้ออสุจิมาปฏิสนธิ เมื่อปฏิสนธิแล้ว ตัวอ่อนก็จะเริ่มฝังตัวเข้ากับผนังโพรงมดลูก ณ จุดนี้ถือว่าเริ่มตั้งครรภ์แล้ว จากนั้นจะเริ่มมีการสร้างฮอร์โมนเบต้า เอชซีจี (beta hCG) ขึ้นมา ถ้าตรวจเจอเบต้า เอชซีจี ก็เท่ากับว่าตั้งครรภ์
เบต้า เอชซีจีที่ถูกสร้างขึ้นมาจะอยู่ในกระแสเลือด และจะมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ แน่นอนว่าเบต้า เอชซีจี ก็จะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะด้วย ถ้าจะตรวจการตั้งครรภ์โดยการเจาะเลือด เราจะตรวจเจอเบต้า เอชซีจีและรู้ว่าท้องได้ตั้งแต่วันที่ 10 หลังจากปฏิสนธิ และถ้าจะตรวจโดยการใช้ชุดตรวจปัสสาวะ จะตรวจได้ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป
อาการที่บอกว่าเรากำลังตั้งครรภ์
- ประจำเดือนขาด ถือได้ว่าเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการตั้งครรภ์ เพราะหากว่าปกติแล้วมีประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ แต่จู่ ๆ ก็ขาดหายไปอาจบ่งบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
- คลื่นไส้และอาเจียน มักจะเกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิประมาณ 1 เดือน แต่บางคนอาจจะตั้งครรภ์โดยไม่มีอาการแพ้ท้องเลยก็ได้
- คัดเต้านม เกิดจากเลือดไปเลี้ยงบริเวณเต้านมมากขึ้นจนทำให้มีอาการบวม ตึง และยังมีความไวต่อความรู้สึกคล้ายช่วงมีประจำเดือน
- ปัสสาวะบ่อย เพราะร่างกายผลิตเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ มากขึ้นจึงทำให้ไตขับของเสียออกจากร่างกายมากขึ้นด้วย
- ท้องผูก เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง รวมถึงเกิดจากการขยายตัวของมดลูกทำให้ไปกดทับลำไส้
- อารมณ์แปรปรวน จะมีอาการโกรธ หรือหงุดหงิดง่าย เนื่องจากร่างกายกำลังปรับตัวเข้าสู่สมดุล
อาการขณะตั้งครรภ์
คลื่นไส้ : อาการนี้อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเป็นอาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนมากต้องพบเจอกับมัน ซึ่งอาการแพ้ท้องนั้นเกิดจากการที่ระดับฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง
เวียนหัว : ระดับฮอร์โมนและความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ หากมีอาการที่รุนแรงจนกระทบกับการดำเนินชีวิตแนะนำให้คุณแม่รีบเข้าพบแพทย์โดยด่วน
เบื่ออาหาร : ในส่วนนี้จะเชื่อมโยงกับอาการแพ้ท้องด้านบน เนื่องจากว่าการอาเจียนทำให้คุณแม่ทานอาหารค่อนข้างลำบาก เพราะไม่อยากจะต้องกินและอาเจียนออกมาอีก จึงส่งผลให้คุณแม่ไม่อยากทานอาการนั่นเอง
คัดตึงเต้านม : ลานหัวนมสีคล้ำ ระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปส่งผลทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม
รู้สึกอ่อนเพลีย : คุณแม่จะรู้สึกอ่อนเพลียได้ง่ายมากขึ้น เพราะระดับโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งมดลูกต้องการเลือดในปริมาณเพิ่มขึ้นเพื่อไปเลี้ยงทารกในครรภ์ จึงส่งผลให้คุณแม่รู้สึกทำสิ่งต่าง ๆ ได้ช้าลง
อารมณ์เปลี่ยนแปลง : ในช่วงตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนของคุณแม่จะเพิ่มสูงขึ้นทำให้มีผลต่ออารมณ์เป็นอย่างมาก
การตรวจครรภ์
การตรวจการตั้งครรภ์นั้นสามารถทำได้ภายใน 14 – 20 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย อาจตรวจขึ้น 2 ขีดจางในช่วงอายุครรภ์อ่อนมาก ๆ บางคนอาจจะตรวจเจอได้ ตั้งแต่วันที่ 5-7 หลังมีเพศสัมพันธ์ แต่อาจจะอ่อน หรือไม่พบ ดังนั้นถ้าจะให้ได้ผลแน่นอนควรตรวจซ้ำอีกที 14 – 20 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย
โดยการตรวจครรภ์สามารถทำได้ 2 ประเภทดังนี้
- ตรวจจากปัสสาวะ : วิธีทั่วไปที่ใช้ร่วมกับที่ตรวจครรภ์ ทำง่าย ใช้สะดวก จะตรวจที่บ้านตัวเองได้
- ตรวจจากเลือด : การตรวจครรภ์โดยใช้เลือด เป็นวิธีที่ไม่ค่อยแพร่หลายมากเท่าการตรวจจากปัสสาวะ และต้องทำในโรงพยาบาลเท่านั้น
ข้อควรปฏิบัติเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
ให้คุณแม่เข้ารับการตรวจครรรภ์ เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ และอันดับแรกที่คุณแม่ควรทำ คือ ไปตรวจและไปหาคุณหมอก่อนนับอายุครรภ์ โดยในส่วนนี้คุณหมอก็จะทำการตรวจดูภาวะโดยรวม แล้วจะทำการนับอายุครรภ์ เพื่อดูให้แน่นอนว่า อายุครรภ์เท่าไร
สิ่งสำคัญที่สุดในขณะตั้งครรภ์คือการดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์ประจำตัว โดยวิธีนี้จะเกี่ยวโยงกับการดูอายุครรภ์ เพื่อที่จะได้บริหารจัดการ กำหนดข้อปฏิบัติตัว และข้อพึงระวังของคุณแม่ว่าจะต้องทำอะไร โดยในหลักวิชาการ จะกำหนดระยะเวลาการตั้งครรภ์ทั้งหมด 40 สัปดาห์
โดยปกติแล้วกระบวนการตั้งครรภ์จะใช้เวลาทั้งหมด 40 สัปดาห์ หรือ 9 เดือน โดยแบ่งออกได้ 3 ไตรมาส ได้แก่ ไตรมาสแรก คือ ช่วงเวลาเดือนที่ 1 ถึง เดือนที่ 3 ไตรมาสที่ 2 คือเดือนที่ 4 ถึง เดือนที่ 6 และไตรมาสสุดท้ายคือเดือนที่ 7 ถึงเดือนที่ 9 โดยกำหนดคลอดของคุณแม่แต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านร่างกาย โดยคุณแม่จะทราบวันคลอดได้จากแพทย์ประจำตัว
Source : phyathai sriracha phyathai
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใน
100 สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 25 หลังคลอดแล้ว ประจำเดือนยังไม่มา ผิดปกติหรือไม่ ?
มีคนท้องโดยไม่รู้ตัวไหม? อาการคนท้องไม่รู้ตัว ท้องไม่รู้ตัวเป็นอย่างไร?
รู้ก่อนพร้อมก่อน 5 สิ่งที่แม่ท้องทุกคนต้องรู้ก่อนผ่าคลอด และ เทคนิคดูแลแผลผ่าคลอดให้สวยเนียน